ปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน ถือเป็นตัวกระตุ้น และเป็นตัวสร้างเงื่อนไขพอที่จะทำการทำ "ปฏิวัติ" ได้อย่างดียิ่ง แม้ว่า "กองทัพ" จะออกมาปฏิเสธตลอดว่า "การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง" แต่เมื่อทุกอย่างเข้าสู่ไคลแมกซ์ ประเทศไม่มีทางออก ตีบตันทั้งซอย เหล่านี้คือ "เงื่อนไข" ที่เชื่อว่าหลายฝ่ายก็ต้องการ เพราะยิ่งปล่อย ยิ่งบอบช้ำ เมื่อนั้นเชื่อว่า ทหารก็ไม่มีทางเลือก นอกจากการทำให้ประเทศชาติ บ้านเมือง ได้เดินหน้า ให้มีทางออก เพื่อเซตระบบกันใหม่ สิ่งนี้เอง ที่ทางกลุ่ม กปปส. ต้องการ ขณะที่คนเสื้อแดง แกนนำ นปช. เล่นเกมต่อต้าน...

แม้ "บิิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จะสั่งให้ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษก ทบ. ออกมาตอบโต้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง อย่างดุเดือด ในการเคลื่อนย้ายกำลังพลทหาร และยุทโธปกรณ์ กว่า 20 กองพันเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ เพื่อโชว์ และร่วมแสดงในงานวันเด็กในวันเสาร์ที่ 11 ม.ค.ที่จะถึง และจะอยู่ยาวถึงการซ้อมสวนสนาม เตรียมความพร้อมในการแสดงแสนยานุภาพ เนื่องในวันกองทัพไทย และวันกองทัพบก ในวันอาทิตย์ที่ 18 ม.ค. ที่จะถึง

...

โดยออกตัวย้ำว่า แผนการนี้คิดมาตั้งแต่กลางปี 2556 เพราะถือเป็นการสวนสนามให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการทำหน้าที่ ผบ.ทบ. ปีสุดท้ายก่อนที่จะเกษียณราชการใน ตุลาคม 2557 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.มานานถึง 4 ปี กองทัพบกจึงจะต้องกระทำพิธีอำลาให้สมเกียรติ และยิ่งใหญ่ ตามแบบประเพณี และการดำเนินกิจกรรมเป็นไปในรูปแบบที่เปิดเผย ไม่ได้กระทำในลักษณะปกปิดแต่อย่างใด การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวขณะนี้กำหนดขึ้นได้เพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น ยุทโธปกรณ์ที่นำมาร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง และมีความทันสมัยต่อการตอบสนองภารกิจเพื่อการป้องกันประเทศเป็นหลักเท่านั้น

การนำอาวุธยุทโธปกรณ์ เข้ามากรุงเทพฯ อย่างมากมายมหาศาล พร้อมกำลังพล ครั้งนี้ ไม่อาจทำให้คนหลายกลุ่ม คนหลายฝ่าย จะอดคิดไปไกลจนเลยเถิด เรื่องการ "ปฏิวัติ-รัฐประหาร" ไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะในทุกปีวันกองทัพไทย กองทัพบก ก็ไม่จำเป็นจะต้องจัดให้มีการสวนสนามยิ่งใหญ่เช่นนี้ ด้วยเศรษฐกิจของประเทศ งบประมาณของกองทัพที่ลดน้อยลง ประกอบกับที่ผ่านมาในอดีต หลายเหตุการณ์ของการปฏิวัติ ก็จะเข้าข่าย ทำในลักษณะเช่นนี้ มีการปล่อยข่าวให้ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายตรงข้าม หรือประชาชน ไม่เกิดความสงสัย โดยเฉพาะการ (IO) ข่าว เพื่อให้ตายใจ ว่ากองทัพจะไม่ทำการดังเช่นปี 19 กันยายน 2549 ที่มีการออกข่าวลวง กองทัพจะมีการยกพลไปฝึกสุรสีห์ 143 ก่อนนำกำลังเข้ากรุงเทพฯ

ซึ่งสอดคล้องกับคำยืนยันของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ออกมาแถลงข่าวภายหลังที่เป็นประธานการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก โดยได้เรียกนายทหารระดับ ผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับการกรม ผู้บัญชาการกองพล แม่ทัพภาค จนถึงระดับ 5 เสือ ทบ.เข้ามาร่วมประชุม เพื่อรับนโยบายในห้วงสถานการณ์บ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง โดยห้ามสื่อมวลชนเข้ารับฟัง ก่อนที่เจ้าตัวจะออกมาพูดถึง ประตูปิดกั้นของการปฏิวัตินั้น "ไม่มีปิด ไม่มีเปิด" สถานการณ์ทุกสถานการณ์เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น สถานการณ์เป็นตัวกำหนด แต่วันนี้ต้องให้กำลังใจกองทัพ เพราะทุกคนอยากอยู่ในบทบาทที่เหมาะสมพยายามใช้อำนาจนอกระบบ ไม่ใช้กำลัง เวลาจะเป็นกำหนด

กระทั่งล่าสุดในวันนี้ที่มึการนำกำลังเคลื่อนเข้ามามากถึง 20 กองพัน เป็นกำลังมากพอที่จะทำการยึดกรุงเทพฯได้อย่างสบาย และร้อนถึง พล.ต.วราห์ บุญญะสิทธิ์ ผบ.พล.1 รอ. ในฐานะ ผู้บังคับการกองผสมสวนสนาม วันกองทัพไทย ต้องออกมาชี้แจงอีกแรง ถึงการเคลื่อนย้ายรถถัง รถเกราะ ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เข้ามายัง กมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) เพื่อทำการซ้อมระหว่างวันที่ 6-9 ม.ค. โดยจะทำการซ้อมใหญ่วันที่ 10 ม.ค. โดยกำลังทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การกำกับของ กองทัพภาคที่ 1

เมื่อตรวจสอบพบว่า หน่วยทหารที่เคลื่อนพลเข้ามาเป็นหน่วยแรกๆ กลับเป็นหน่วยทหารที่มีความพร้อม ความสามารถสูงในการทำการรบ และเป็นหน่วยขึ้นตรงที่สามารถเรียกปฏิบัติการได้ฉับพลัน ประกอบด้วย หน่วยกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.)โดยมีกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หรือหน่วยทหารเสือราชินี กรมทหาราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.) โดยมีการนำ รถหุ้มเกราะ  รถสายพานลำเลียง BTR จากยูเครน ที่ได้นำเข้าประจำการใหม่ล่าสุดออกมาร่วมในครั้งนี้ด้วย

หน่วยทหารม้า จากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.)  ได้นำ รถถังM 60 A 1 และรถถังเอ็ม M60 A3

กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) ซึ่งได้นำ ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน รวมทั้งปืนใหญ่ที่มีเทคโนโลยีสูง

สำหรับหน่วยกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ในฐานะเจ้าบ้าน ถือว่ามีความพร้อม 100% และการสวนสนามครั้งนี้ ก็มอบให้ ผบ.พล.1 รอ. เป็น ผบ.กองผสม ซึ่งได้นำหน่วยกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) ซึ่งเป็นหน่วยรบ RDF.

นอกจากนี้ยังมีหน่วยทหารจาก ทหารช่าง ทหารสื่อสาร ทหารรบพิเศษ ลพบุรี มณฑลทหารบกที่ 11 นับว่าการแสดงแสนยานุภาพเพื่อสวนสนาม วันกองทัพไทย และวันกองทัพบก ครั้งนี้ของ บรรดาทหาร น่าจับตาอย่างยิ่ง

แม้การชี้แจงของกองทัพบก จะยืนยันการเคลื่อนกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้ามาพื้นที่ใน กทม.ช่วงนี้ เป็นแผนการปฏิบัติตามวงรอบประจำปี ซึ่งถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นปีแล้ว มิใช่จะเพิ่งกำหนดขึ้นแบบเร่งด่วนเป็นกาลเฉพาะในช่วงนี้ และไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง แม้ในปัจจุบันสังคมจะมีความอ่อนไหวต่อการรับรู้ข่าวสาร การจะนำเสนอข้อมูลใดๆ

ขุมกำลังทหารที่ใช้ในการปฏิวัติ

เมื่อมองย้อนไปในอดีต หรือกระทั่งปัจจุบันหน่วยทหารที่ถือว่า มีความพร้อมสูง มีศักยภาพทั้งกำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ว่าจะสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ใดๆ กองทัพบก จะยึดถือ หน่วยทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ซึ่งทหารราบที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในกองทัพบกไทยคือ

ทหารราบ

กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (วงเทวัญ) ซึ่งจะประกอบด้วย 3 กรมทหารราบ คือ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์(ร.11 รอ.) และกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) โดยหน่วยหลักนี้หากเกิดสถานการณ์ จะถูกรียกใช้เป็นอันดับแรก

กองพลที่ 2 รักษาองค์ (บูรพาพยัคฆ์) ประกอบด้วย กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.) กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ( ร.21 รอ.) หรือ(ทหารเสือราชินี) และ กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ (ร.12 รอ.)

กองพลทหารราบที่ 9 ค่าสุรสีห์ ประกอบด้วย กรมทหารราบที่ 9 (ร.9 )กรมทหารราบที่ 19 ( ร.19)  กรมทหารราบที่ 29 (ร.29) ซึ่งมีความพร้อม ทรหดสูงมาก ภารกิจดูแลตามแนวชายแดน

ทหารม้า

กองพลที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) เป็นหน่วยที่มีรถถัง รถยานเกราะ  มี 3 กรมบังคับการขึ้นตรง กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์(ม.1 รอ.) กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.4 รอ.) กรมทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ (ม.5 รอ.)

ทหารปืนใหญ่

กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) เป็นหน่วยที่มียุทโธปกรณ์เทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน มีหน่วยขึ้นตรง ประกอบด้วย กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 (ปตอ.1) และกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 (ปตอ.2) ใน

อดีตที่ผ่านมาการปฏิวัติหลักๆ ในประเทศไทย กองทัพบก จะใช้เพียง 3 เหล่าทหารหลัก โดยใช้กำลังพลเพียง 4-5 กองพล ก็เพียงพอในการทำรัฐประหาร ยึดประเทศได้แล้ว ซึ่งตำราดังกล่าวของทหาร ก็ยังยึดถือ และปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงการทำปฏิวัติครั้งสุดท้ายในสมัยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่เป็น ผบ.ทบ. เติบโตมาจาก หน่วยบัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ กองพลรบพิเศษ จึงนำกำลังส่วนใหญ่จากนักรบเบเร่ต์แดง เข้ามาผนึกกำลังกับหน่วยทหารราบของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 ขณะนั้น ก็ทำการปฏิวัติได้สำเร็จ

แต่ปัจจุบันที่ เสียงคำรามของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ปิดกั้นประตูปฏิวัติ และไม่เปิดประตูปฏิวัติ จะนำพาประเทศไทยไปในทิศทางไหน เพราะทุกฝ่าย ต่างก็หวังพึ่งทหารเพื่อหาทางออกให้กับประเทศในเวลานี้ที่ไม่มีทางออกไปได้อย่างไรในสถานการณ์ของการเมือง ของบ้านเมือง ที่มีความขัดแย้งสูง ต้องจับตาแบบห้ามกะพริบ...