มหากาพย์รามเกียรติ์ มีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมไทย ปรากฏอยู่ในชื่อนครหลวง พระนามพระมหากษัตริย์ ราชทินนามข้าราชการ ศิลปะสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม มหรสพ เช่น โขน หนัง ละคร

อาจารย์ล้อม  เพ็งแก้ว  เขียนไว้ในหนังสือ เสนาะ เสน่ห์สำนวนไทย (สำนักพิมพ์มติชน 2548) ว่า มีการนำเรื่องราวบางส่วน มาเป็นสำนวนภาษา

เช่น สำนวน เหาะเกินลงกา

สำนวนนี้ มีที่มาจากตอนพระรามมอบหมายให้หนุมานไปสืบข่าว และถวายแหวนแก่นางสีดา หนุมานพักไพร่พลที่เขา เหมติรัน พบนกสัมพาทีถูกสาปให้ไม่มีขน ก็แก้ไขให้มีขน

นกสัมพาทีแทนคุณ ให้หนุมานขี่หลังบินขึ้นเวหา เมื่อเข้าใกล้ก็ชี้เขานินทกาลา ที่ตั้งอยู่กลางกรุงลงกา ให้เป็นที่หมาย

หนุมานฤทธิ์เดชมาก เหาะลิ่วปลิวไป จนเลยเขานินทกาลา ไปลงที่เขาโสฬสปลายแดนเมืองศัตรู ได้เจอและลองเวทวิทยากับพระนารทฤาษี

ที่มาของสำนวน เหาะเกินลงกา มาจากเรื่องตอนนี้

ความหมายของสำนวน เหาะเกินลงกา...คือ หลงเชื่อความสามารถของตนเกินไป

หนุมานกลับมาทูลพระราม ได้ถวายแหวนให้นางสีดา ตามคำสั่ง แต่ก็ใช้อุบายเผากรุงลงกา เป็นของแถม

“ไม่ตามคำทำการ...ให้เกินกู” พระรามตำหนิ สำนวนเหาะเกินลงกา จึงมีความหมายเพิ่มเป็น ทำนอกคำสั่ง

โคลงสุภาษิต ประจำภาพในพระอุโบสถวัดพระแก้ว อธิบายด้วยสำนวนโคลงกระทู้ (เหาะ เกิน ลงกา) ไว้ ดังนี้

เหาะ ระเห็จลิ่วล้ำ ลงกา

เกิน กลับไปกลับมา ไป่รู้

ลง ถามนักสิทธา จึ่งทราบ ทางเฮย

กา–รอะไรถามผู้ แน่แท้ ทางดี

อาจารย์ล้อม เขียนเรื่องนี้ไว้ เมื่อ 12 ต.ค.2544 รัฐบาลใครก็ไม่รู้ ผมแก่เสียจนลืมไปแล้ว ผูู้นำรัฐบาลท่านหัวสมัย คิดใหม่ ทำใหม่

ใช้บุคคลที่ล้วนเรืองเวทวิทยา...เข้ามาดำเนินการ

ก่อนหน้ารัฐบาลคิดใหม่ ทำใหม่ ประเทศไทยก็ใช้แผนพัฒนามาแล้วหลายแผน ใช้เงินงบประมาณถมลงไปหลายแสนล้าน แต่ผลกลับทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย จนคนหลายฝ่ายเรียกร้องให้กลับมา ใช้สิ่งที่ละเลยกันมานาน

คือภูมิปัญญาไทย

นี่ถ้าอาจารย์ล้อม ท่านเขียนเรื่องนี้ ในปี 2556 เจอรัฐบาลใช้งบแก้ปัญหาน้ำ 3.5 แสนล้าน งบสาธารณูปโภค รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ 2.2 ล้านล้าน ฯลฯ

ใช้เงินมหาศาลถึงปานนี้ แล้วก็ยังขอใช้นอกกรอบงบประมาณ ทำให้ถูกนินทา ตั้งใจใช้กันแบบล้างผลาญ หาช่องทางเบียดบังเข้ากระเป๋า

สำนวน เหาะเกินลงกา อาจารย์ล้อมคงไม่อยากใช้ เพราะคราวนี้ เหาะเลยกรุงลงกา ไปไกลกว่า เขาโสฬส ไกลขนาดที่ต้องใช้คำว่า สุดกู่ หาทางกลับมาอาละวาดที่กรุงลงกาไม่ไหว

ในสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ ต่างทิ้งหลักกฎหมาย ใช้สำนวน เหาะเกินลงกา ได้กับทุกฝ่าย

ฝ่ายมวลมหาประชาชน...ถึงขนาดประกาศปิดกรุงเทพฯ...ก็ เกินไป...

สงครามในรามเกียรติ์ เขาปล่อยให้ไพร่พลบาดเจ็บล้มตาย เมื่อเอาชนะกันไม่ได้ ตัวหัวหน้าต้องออกมาแสดงฝีมือ รบเองไม่เหมือนสงครามสมัยใหม่ ทั้งสองฝ่ายแหละครับ หัวหน้าดีแต่ใช้ฝีปาก

ถึงเวลารบ ก็ปล่อยให้ลูกน้องรบ รอดบาดเจ็บล้มตาย ก็ไปติดคุก

คนไทยสมัยนี้ จึงเหมือนอยู่ในศาลาคนเศร้า เหงาสั่น หวั่นไหว...เมื่อไหร่ เคราะห์หามยามซวย จะมาถึงตัวเอง.

...

กิเลน ประลองเชิง