ความหลากหลาย (Diversity) เป็นหัวข้อหนึ่งสำหรับผู้เป็นครู/อาจารย์ หรือนักการศึกษาจะพบเห็นในรายวิชาต่าง ๆ ที่อยู่ในหลักสูตรและการสอนวิชาชีพครู สาระของเนื้อหาจะแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้เรียนเป็นสำคัญโดยมีหลัก การและทฤษฎีต่าง ๆ สนับสนุนให้สามารถจัดการกับความหลากหลายในชั้นเรียนด้วยกลวิธีต่างๆ

สำหรับ ประเทศไทย ครู/อาจารย์ นักการศึกษาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความหลากหลายของผู้เรียนในชั้นเรียน เนื่องจากสถาบันการศึกษาไทยนั้นครู/อาจารย์มองไม่ค่อยเห็นความหลากหลายหรือ ความแตกต่างในชั้นเรียน แต่จะมองเห็นแต่ความเหมือนกันมากกว่าความแตกต่างกัน

การมองเห็นแต่ความเหมือนกันนั้น เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่มีเชื้อชาติลักษณะของสีผิว สีผม หน้าตาของผู้คน เหมือน ๆ กันซึ่งแตกต่างจากสังคมอเมริกันที่มีความหลากหลายในเชื้อชาติ สีผิว สีผม หน้าตาอย่างชัดเจน การเรียนการสอน และการให้ความสำคัญกับความหลากหลายจึงมีมากกว่า

การเรียนการสอน วิชาชีพครูในสหรัฐอเมริกาจึงมีหัวข้อ Diversity หรือความหลากหลายในชั้นเรียนให้ศึกษาหาความรู้ มีการศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางด้านความหลากหลายเพื่อจัดการกับความหลากหลาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่คนไทยที่ไปเรียนในสหรัฐอเมริกาบางท่านอาจไม่ค่อยให้ความสนใจกับหัวข้อนี้ มากนักเพราะประเทศไทยโดยรวมไม่มีสภาพสังคมเหมือนสังคมอเมริกัน และองค์ความรู้สำหรับจัดการกับความหลากหลายที่เหมาะสมกับสังคมไทยจึงมีน้อยไปด้วย

การนำแนวคิด ความรู้ หลักการและทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict Theories) ซึ่งมีต้นกำเนิดจาก Karl Marx ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาของทฤษฎีความขัดแย้งทางสังคมและการจัดการความหลากหลาย (Diversity Management) ของต่างประเทศที่มีฐานของสภาพสังคมที่แตกต่างกันมาใช้กับสังคมไทยอาจไม่ เหมาะสมหรือไม่ได้ผลเต็มประสิทธิภาพ เพราะความเข้าใจสภาพสังคมไทยที่แท้จริงนั้นยังไม่มีองค์ความรู้สนับสนุนและพิสูจน์คำอธิบายลักษณะสังคมไทยได้อย่างน่าเชื่อถือ การตัดสินคุณค่าคุณลักษณะของสังคมไทย หรือของคนไทยจึงมีข้อโต้แย้งมาก

ตัวอย่างง่าย ๆ ในชั้นเรียนของไทยนั้นแตกต่างจากในชั้นเรียนของสหรัฐอเมริกาคือ การที่นักเรียนและนักศึกษาไทยสวมเครื่องแบบเหมือนกัน มีเผ่าพันธุ์เดียวกัน ทำให้มองดูเหมือน ๆ กัน เสมือนไม่มีความแตกต่างกันแต่ภายใต้การมองเห็นด้วยตาที่เหมือนกันนั้นมี “ความหลากหลาย” คงอยู่ด้วยและในความหลากหลายนั้นยังมี “ความแตกต่าง” และ “ความขัดแย้ง” ในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านความคิด ความเชื่อ ที่ดูเหมือนถูกบดบัง มองข้าม หรือไม่ยอมรับว่ามีอยู่จริงกับความเชื่อบางประการในสถาบันการศึกษาเอง

...


แต่ในชั้นเรียนของสหรัฐอเมริกานั้นส่วนมากไม่สวมเครื่องแบบทำให้เห็นความแตกต่างในแต่ละบุคคลอย่างชัดเจนขึ้นจากการแต่งกาย สีผิว สีผมซึ่งแสดงออกถึงความคิด ความเชื่อ และความเป็นปัจเจกบุคคล (Individuality) ประกอบกับการส่งเสริมให้เคารพในสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลของระบบสังคม โดยรวมการยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคล (Individual Differences) จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและระบอบการปกครอง

ดังนั้น การยอมรับในความหลากหลายและความแตกต่างของบุคคลจึงเป็นธรรมชาติ ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในสังคมแห่งความหลากหลาย การใช้มาตรฐานความคิด ความเชื่อที่เป็นกลาง ๆ และยอมรับกันได้จึงเกิดขึ้นและเรียกว่า “ระบบการคิดสากล” นำไปสู่การ “ประพฤติและปฏิบัติที่เป็นสากล” และมีอิทธิพลครอบงำไปทั่วทุกมุมโลกโดยมีฐานของระบบการคิดมาจากการเคารพในสิทธิและเสรีภาพของบุคคลหรือสิทธิมนุษยชนนั่นเอง

สำหรับประเทศไทยนั้นมีความพยายามขจัดเอกลักษณ์หรือความแตกต่างของพลเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ เช่นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ทั้งนี้ เพื่อการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียว ไม่สนับสนุนความหลากหลายหรือส่งเสริมความแตกต่างที่อาจคุกคามความมั่นคงทางการเมือง แม้ในระดับภูมิภาคของอาเซียนก็มีความคิดแบบนี้ ดูได้จากคำขวัญของอาเซียน คือ “One Vision, One Identity,One Community” หรือ “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม”ซึ่งดูเหมือนไม่นิยมและส่งเสริมความหลากหลาย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้นำหลักการของระบบการคิดสากล สิทธิมนุษยชน การเคารพในสิทธิและเสรีภาพ และความแตกต่างระหว่างบุคคลเกือบทั้งหมดมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและทำให้กฎหมายอื่น ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ถือเป็นความก้าวหน้าในเชิงของฝ่ายนิติบัญญัติที่ตามทันกระแสโลก ในขณะที่ฝ่ายตุลาการได้เชื่อมโยงเครือข่ายตุลาการทั่วโลกเช่นกันโดยไม่ ยอมรับใช้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเหมือนในอดีต

แนวทางและแนวโน้มการพิพากษาตัดสินคดีต่าง ๆ จึงมีแนวทางและแนวโน้มที่สูงกว่าการตีความตามตัวบทกฎหมายและยึดถือการปกครอง แบบ นิติรัฐ ด้วย นิติธรรม ตามแบบ Rule of Law เท่านั้น ซึ่งเรียกแนวทางใหม่นี้ว่า Higher Law ซึ่งมาจากหลักคิด The rule according to a higher law ที่เป็นส่วนหนึ่งกฎหมายธรรมชาติ หรือ Natural Law ที่เคยใช้เป็นค่านิยมในการวางรากฐานทางกฎหมายบ้านเมืองทั่วไปทั้งกฎหมายแบบ จารีตประเพณี (Common Law) และแบบประมวลกฎหมายที่มีลายลักษณ์อักษร (Civil Law) ที่ใช้ในแต่ละประเทศมีมีอธิปไตยของตนเอง

หลักคิด Higher Law นี้เป็นการเกิดขึ้นจากหลัก “กฎหมายสากล” หรือ International Law ซึ่งมีหลักคิดสากล ยอมรับความหลากหลาย ความแตกต่าง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพทั้งตามสถานการณ์และสภาพของตัวบุคคล มากกว่าการยึดติดกับบทบัญญัติอย่างเคร่งครัดตัวอย่างของคำพิพากษาตามแนวคิด Higher Law ได้แก่คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งบางคำพิพากษามีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านอย่างรุนแรงกลายเป็นประเด็น ขัดแย้งทางสังคม ทั้งนี้ เนื่องมาจากฐานการคิดทางด้านการพิพากษาและการตัดสินคดีมีความแตกต่างกัน

ห้องเรียนในสถาบันการศึกษาไทยไม่ค่อยมีค่านิยมยอมรับความแตกต่างมากนัก มีการพยายามกลบเกลื่อนมองดูให้เหมือนกันเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการจัดระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ แม้แต่การตอบคำถามของผู้เรียนยังนิยมให้ตอบพร้อม ๆ กัน แต่เมื่อพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเปิดโอกาสให้การเสนอความคิด ความเชื่อได้อย่างหลากหลายและอิสระมากขึ้น


ระดับของความขัดแย้งด้านความคิดความเชื่อปรากฏให้เห็นเป็นความแตกต่าง และเพิ่มระดับให้เห็นถึงความหลากหลายอย่างรวดเร็ว แต่การเตรียมตัวเพื่อจัดการกับความหลากหลายสำหรับครู/อาจารย์ และนักการศึกษาทั้งหลายไม่สามารถทำได้อย่างทันท่วงที ภาวะของ “ความขัดแย้ง” จึงมีแนวโน้มไปสู่ “ความแตกแยก” ของสังคมอย่างรวดเร็ว และเข้าสู่หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม คือ ครอบครัวเริ่มปรากฏมี “ความแตกแยก” ภายในครอบครัวเกิดขึ้นอย่างรุนแรงหลายครอบครัว บางครอบครัวไม่พูดคุยกัน บางครอบครัวแยกกันดูทีวี และบางครอบครัวถึงขนาดต้องเปลี่ยนนามสกุล

ครู/อาจารย์ ผู้เรียนหรือนักเรียน/นักศึกษาในชั้นเรียนมีเสรีภาพในการคิด การแสดงออก และกฎหมายยังคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก อีกทั้งมีช่องทางการแสดงออกและการรับรู้แลกเปลี่ยนข่าวสารมากขึ้น ในขณะที่ภูมิปัญญาและค่านิยมที่จำเป็นสำหรับสังคมข่าวสารยังไม่ได้รับการ จัดการเตรียมการอย่างเหมาะสม หรือระบบค่านิยมและการสร้างฐานทางปัญญาไม่รองรับระบบสารสนเทศและระบบสื่อสารสมัยใหม่

การเรียนการสอนในปัจจุบันจึงมีความยากลำบาก การวางตัวของครู/อาจารย์ ที่เป็นผู้สอน และนักเรียน/นักศึกษาที่เป็นผู้เรียนต่างฝ่ายมีความอึดอัดในการแสดงความเห็น เพราะความขัดแย้งทางความรู้ความเข้าใจจากแหล่งข้อมูลข่าวสาร ความเชื่อ และความคิด ซึ่งไม่แต่เพียงเนื้อหาวิชาทางสังคมศาสตร์ กฎหมาย การเมืองการปกครองเท่านั้น แม้แต่การศึกษาขั้นพื้นฐานก็เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพราะไม่ได้รับการปลูกฝังให้รู้จักบริหารจัดการความแตกต่างและความหลากหลายมาอย่างเป็นระบบตามลำดับขั้นการเรียนรู้ในสังคม แต่พยายามกลบความแตกต่างนี้ไว้

ดังนั้น ความขัดแย้งทางความคิดที่น่าจะเป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่างกันเพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ที่เหมาะสมกลับเป็นการนำไปสู่ “ความแตกแยก” ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน อาจารย์บางท่านพอเริ่มบรรยายก็ใช้วาทกรรมที่แสดงถึงการสนับสนุนความคิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทันที โดยผู้เรียนรับรู้ได้ในขณะที่ผู้เรียนก็มีปฏิกิริยาแสดงให้รับรู้ได้ว่าตนสนับสนุนฝ่ายไหนท่ามกลางสังคมที่แบ่งฝ่ายและมีความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อ “ความแตกแยก” จึงเข้าไปสู่ห้องเรียนด้วยโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา

(โปรดติตตามแนวทางแก้ไขในตอนต่อไป)

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์

...