กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช สั่งย้ายหัวหน้าอุทยานกุยบุรีออกจากพื้นที่ เร่งประสานทีมสืบสวน สตช. สอบข้อเท็จจริงกระทิงตาย 16 ตัว ยันไม่ทิ้งประเด็นขัดแย้งในพื้นที่...

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 56 มีรายงานว่า นายนิพนธ์ โชติบาล รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช กล่าวว่า หลังจากมีกระทิงตายหมู่รวม 16 ตัว ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ และติดตามลงพื้นที่ตลอด โดยล่าสุด นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สั่งการให้กรมอุทยานฯ ปิดโซนบริเวณพื้นที่โครงการกุญชรทั้งหมดอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีคำตอบว่า กระทิงตายจากสาเหตุอะไร โดยส่วนหนึ่งเพื่อความปลอดภัยของสัตว์ป่าและตัวนักท่องเที่ยวเอง เพราะยังไม่ชัดเจนถึงสาเหตุการตายที่แท้จริง พร้อมกันนี้ยังเร่งให้ประสานทีมนักวิชาการด้านสัตว์ป่าจาก 3-4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าตรวจสอบสวนอย่างปูพรมทั้งระบบ เพื่อจะนำไปสู่การป้องกันปัญหา และให้เจ้าหน้าที่เดินลาดตระเวน เพื่อป้องกันกระทิงฝูงใหญ่ ซึ่งมีกว่า 90 ตัว จากโซนทางเหนือไม่ให้ลงมาด้านล่าง เพื่อไม่ให้ติดโรค หากมีโรคระบาดจริง และได้สั่งย้ายนายปรีชา วิทยาพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสอบสวน จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่ามีการละเลยหรือมีปัญหาความขัดแย้งอะไรหรือไม่ ที่ส่งผลให้เกิดกระทิงตายพร้อมกันจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้นายสมัคร ดอนนาปี ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เป็นประธานสอบข้อเท็จจริง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 7 วัน

...


"หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานและเจ้าหน้าที่ตำรวจจะลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดและยังไม่ทิ้งประเด็นใดเลย เพราะการตายของกระทิงจำนวนมาก ถือเป็นการตายหมู่ครั้งประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น และต้องหาคำตอบที่แท้จริงให้ได้ว่า ตาย เพราะสาเหตุอะไร และไม่ว่าจะเกิดจากอะไร แต่หัวหน้าและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น" นายนิพนธ์ กล่าว

ด้านนางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบในเรื่องของกายภาพและชีวภาพ รวมถึงตรวจสอบชิ้นเนื้อจากซากกระทิง เพื่อดูว่า กระทิงตาย เพราะติดโรคระบาดสัตว์หรือสารพิษ เช่น ไนเตรท ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกษตรกรใช้ในการเกษตร อาจจะมีการตกค้างหรือปะปนมากับแหล่งน้ำหรือไม่ เพราะมีการสังเกตพบว่า พืชหญ้าและสาหร่ายมีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ เมื่อสัตว์กินสารชนิดนี้เข้าไป อาจเกิดแก๊สในกระเพาะมาก จนทำให้ท้องอืดตายได้ หรืออาจติดโรคระบาด ซึ่งเป็นโรคคอบวม เป็นโรคของสัตว์กีบ นอกจากนี้ ยังต้องมีการนำกระดูกไปเจาะ เพื่อตรวจดีเอ็นเออย่างละเอียดอีกครั้งว่า มีเชื้อโรคอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุการตายของกระทิงหรือไม่ คาดว่า 2 สัปดาห์ น่าจะรู้ผลที่ชัดเจน.