จันทร์วันนี้ 09.00-12.00 น. ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ พูด “ผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อบทบาทและอำนาจหน้าที่ของกรมส่งเสริมฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” รับใช้ข้าราชการระดับชำนาญการที่สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น จ.ปทุมธานี
หลายท่านสงสัยว่าทำไมจังหวัดติมอร์ตะวันออกของอินโดนีเซียจึงแยกเป็นประเทศเอกราชชาติใหม่ได้อย่างสะดวกโยธิน ต้องขอเรียนว่า เพราะยุทธศาสตร์ของพวกที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนได้รับความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศ มีการแพร่ขยายกระจายข่าวความเลวร้ายของกองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่สม่ำเสมอ และก็บังเอิญในห้วงช่วงที่จะได้เอกราชชาติใหม่นั้น อินโดนีเซียอ่อนล้าเต็มที เพราะการทะเลาะเบาะแว้งและเศรษฐกิจในประเทศ
เดิมอินโดนีเซียเอาติมอร์ตะวันออกเป็นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ของคนที่มาจากเกาะชวาและบาหลี โดยคิดว่า ถ้าคนพวกนี้อพยพเข้าไปอยู่มากขึ้น ก็จะทำให้สัดส่วนของคนติมอร์ตะวันออกแท้ๆ ลดน้อยถอยลงไป คนติมอร์ตะวันออกนับถือศาสนาคริสต์ พวกบาหลีนับถือศาสนาฮินดู คนชวานับถือศาสนาอิสลาม หากนโยบายกลืนเผ่าพันธุ์ของอินโดนีเซียประสบความสำเร็จ พวกติมอร์ก็จะกลายเป็นคนกลุ่มน้อย ส่วนเจ้าเข้าครองแผ่นดินก็จะเป็นพวกที่มาจากเกาะชวาและบาหลีแทน
ถ้าเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2540 ไทยไม่ปล่อยอาวุธวิกฤติต้มยำกุ้ง อินโดนีเซียก็ยังอาจจะแข็งแรงพอที่จะกุมติมอร์ตะวันออกเอาไว้ได้ วิกฤติจากเมืองไทยไปเขย่าค่าเงินในอินโดนีเซียเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2540 ทำให้อินโดนีเซียเสียหายยับเยิน หุ้นราคาดิ่งเหวทุกตัว นักลงทุนหนีออกนอกประเทศ คนอินโดนีเซียตกงานบานเบอะเยอะแยะ แม้แต่อาหารยังไม่มีที่จะตกท้อง จะเอาแรงที่ไหนไปจัดการกับพวกที่อยากแยกจังหวัดติมอร์ตะวันออกให้เป็นเอกราชชาติใหม่กันเล่า
ประธานาธิบดีซูฮาร์โตประคองประเทศอยู่เกือบปี ก็ยังเอาวิกฤติของอินโดนีเซียในตอนนั้นไว้ไม่อยู่ ต้องแบกหน้าไปขอความช่วยเหลือจากประเทศโน้นชาตินี้ ต้องไปกู้ไอเอ็มเอฟ เสียงโอดโอยโหยหวนของพลเมืองเป็นร้อยล้านที่ไม่มีอาหารตกท้องไปกวนประสาทนายทหารของกองทัพอินโดนีเซีย กองทัพประเมินแล้วว่า ซูฮาร์โตเป็นผู้นำที่เอาประเทศไว้ไม่อยู่แล้ว จึงรวมหัวกันบีบให้แกลาออกเมื่อ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2541 และดันให้นายบี.เจ.ฮาบีบี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว
พอประเทศอ่อนแอ ดินแดนต่างๆ ก็ดิ้นรนเรียกร้องให้ปล่อยตนเป็นเอกราชชาติใหม่ ตอนนั้นมีอาเจะห์ อีเรียนจายา กาลิมันตัน สุลาเวสี หมู่เกาะเรียว ฯลฯ ผู้อ่านท่านยังจำเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีที่แล้วได้ไหมครับ ที่เกาะกาลิมันตัน พวกดายัคและมาดูราฆ่ากันตายเยอะแยะ ที่เกาะอัมบอน พวกคริสต์กับมุสลิมก็ตะลุมบอนฆ่ากันตายไม่เว้นแต่ละวัน ที่น่าสงสารที่สุดคือคนจีนในอินโดนีเซียที่อยู่ตามเมืองต่างๆ ถูกคนพื้นเมืองเข้าปล้นสะดมข่มขืนลูกเมียไปทุกทั่วหัวระแหง ฯลฯ
คนอินโดนีเซียขัดแย้งกันหนัก เป็นโอกาสให้ชาวจังหวัดติมอร์ตะวันออกเรียกร้องเอกราชชาติรัฐขึ้นมาอีกในเดือนมิถุนายน-กันยายน พ.ศ.2541 มีการจัดเวทีอภิปรายขนาดใหญ่ในกรุงเดลีเพื่อเรียกร้องให้มีการลงประชามติตัดสินอนาคตของติมอร์ตะวันออก
ตอนนั้น พวกทหารอินโดนีเซียไม่มีแรงปราบพวกติมอร์เหมือนแต่ก่อนดอกครับ ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ เพราะผู้คนในประเทศตัวเองแตกแยก แบ่งออกเป็นหลายฝักหลายฝ่าย เศรษฐกิจก็ไม่ดี นายทหารและข้าราชการจำนวนไม่น้อยไม่ได้เงินเดือนมานานแล้ว ฯลฯ
กระแสเรียกร้องเอกราชแรงขึ้นเรื่อยๆ ตะวันตกที่เตรียมเอาสตางค์มาฟาดกบาลเพื่อช่วยเหลืออินโดนีเซียก็ส่งสัญญาณว่า อ้า พวกข้าจะช่วย ถ้าเอ็งให้ติมอร์ตะวันออกเป็นเอกราช ผู้อ่านท่านครับ เรื่องการแยกดินแดนเป็นเอกราชชาติใหม่นี่ เรียกร้องกันมานานเป็นสิบเป็นร้อยปี บางทีไม่สำเร็จ แต่พอถึงเวลา เพียงคลิกเบาๆ ก็เข้าล็อก แยกได้สำเร็จ ดูอย่างอินโดนีเซียนี่ก็ได้
รัฐบาลอินโดนีเซียต่อสู้เพื่อรักษาจังหวัดนี้มานาน
แต่พอถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2541 ประธานาธิบดีฮาบีบีก็...
ก็อะไร พรุ่งนี้ขออนุญาตมารับใช้กันต่อครับ.
...
คุณนิติ นวรัตน์