ผู้รับเคราะห์–ชาวซูดานใต้หลายพันคนหลั่งไหลขอเข้าไปหลบภัยในศูนย์บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (UNMISS) ในเมืองบอร์ เมื่อ 18 ธ.ค. หลังสงครามปะทุรอบใหม่ (รอยเตอร์)

“สาธารณรัฐซูดานใต้” ประเทศน้องใหม่ล่าสุดของโลก ใกล้เกิดสงครามกลางเมืองนองเลือดรอบใหม่ ทั้งที่เพิ่งแยกเอกราชจาก “สาธารณรัฐซูดาน” ได้แค่ 2 ปีกว่า

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า การสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลของประธานาธิบดีซัลวา คีอีร์ กับกองกำลังของอดีตรองประธานาธิบดีริเอค มาชาร์ ผู้นำฝ่ายค้าน ในกรุงจูบาเมืองหลวง ตั้งแต่ 15 ธ.ค. มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 500 คน บาดเจ็บนับพันคน และสงครามกำลังขยายตัวไปยังเมืองอื่นๆ หวั่นเกิดสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ

คีอีร์สั่งปลดมาชาร์เมื่อเดือน ก.ค.ปีนี้ ทำให้ความตึงเครียดทวีขึ้นเรื่อยๆ จนปะทุเป็นการสู้รบในที่สุด โดยคีอีร์กล่าวหาว่า มาชาร์พยายามก่อรัฐประหารยึดอำนาจ แต่มาชาร์ปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่องหรือเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารใดๆ การสู้รบเกิดจากความเข้าใจผิดของทหารพิทักษ์ประธานาธิบดี 2 กลุ่มที่ฟัดกันเองต่างหาก แต่ใช้ข้ออ้างเรื่องรัฐประหารเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง

...

มาชาร์ยังกล่าวหาว่า คีอีร์เป็นเผด็จการ บริหารประเทศล้มเหลว ทำให้ซูดานใต้ยังเป็นหนึ่งในชาติยากจนที่สุดในโลก อีกทั้งพยายามรวบอำนาจในคณะรัฐบาลและพรรค “ขบวนการปลดปล่อยประชาชนซูดาน”  (เอสพีแอลเอ็ม) พรรครัฐบาล ทำให้บ้านเมืองไร้ประชาธิปไตย

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร แต่ดูจากรูปการณ์ เกิดศึกแย่งชิงอำนาจในซูดานใต้แน่นอนแล้ว ระหว่างฝ่ายของคีอีร์ ซึ่งเป็นชาวเผ่า “ดิงกา” กับฝ่ายมาชาร์ ซึ่งเป็นชาวเผ่า “นูเออร์” 2 ชนเผ่าใหญ่ที่สุดของซูดานใต้

ตอนนี้ มาชาร์และผู้นำฝ่ายค้านอีกราว 5 คน กำลังหลบหนีการไล่ล่า ส่วนเหล่าผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอีก 10 คน ถูกกวาดจับไปแล้ว รวมทั้งอดีต รมว.คลัง มหาดไทย และยุติธรรม การตามล้างตามเช็ดและการตอบโต้คงไม่จบง่ายๆ เพราะคงไม่มีใครยอมใคร

ก่อนจะแยกประเทศ ซูดานเคยเกิดสงครามกลางเมืองแล้ว 2 ครั้ง โดยก่อนที่จะได้รับเอกราชจากอังกฤษและอียิปต์ซึ่งยึดครองซูดานร่วมกันในปี 2499 ผู้นำซูดานใต้กล่าวหารัฐบาลกลางในกรุงคาร์ทูมว่าไม่รักษาสัญญาที่จะเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสหพันธรัฐ และพยายามทำให้ประเทศเป็นรัฐอิสลาม-อาหรับ

“ซูดานเหนือ” หรือซูดานในปัจจุบัน ชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ขณะที่ซูดานใต้ ชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพื้นเมืองโบราณ ส่วนน้อยนับถือศาสนาคริสต์ ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติศาสนาจึงมีมาตลอด

ในปี 2498 ก่อนได้รับเอกราช 1 ปี คณะนายทหารในซูดานใต้ลุกฮือก่อกบฏ เกิดสงครามกลางเมืองครั้งแรกระหว่างรัฐบาลกลางกรุงคาร์ทูมกับกองโจร “ขบวนการอันยา เอ็นยา” ฝ่ายใต้ ก่อนสงครามยุติในปี 2515 ตามข้อตกลงสันติภาพแอดดิส อะบาบา ซึ่งยอมให้ซูดานใต้มีสิทธิปกครองตนเอง

แต่ในปี 2526 หรือ 11 ปีต่อมา ฝ่ายซูดานใต้ นำโดย “ขบวนการปลดปล่อยประชาชนซูดาน” (เอสพีแอลเอ็ม) พรรครัฐบาลปัจจุบัน และ “กองทัพปลดปล่อยประชาชนซูดาน” (เอสพีแอลเอ) ปีกติดอาวุธของเอสพีแอลเอ็ม ลุกฮือก่อกบฏอีก หลังรัฐบาลกลางล้มเลิกสิทธิปกครองตนเอง ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2

ศึกกลางเมืองรอบ 2 ยุติลงในปี 2548 หรือ 8 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ “ข้อตกลงสันติภาพที่ครอบคลุม” (ซีพีเอ) โดยซูดานใต้ได้รับสิทธิปกครองตนเองและการรับประกันว่าจะมีตัวแทนร่วมอยู่ในรัฐบาลแบ่งปันอำนาจแห่งชาติ ข้อตกลงนี้ยังระบุให้จัดการลงประชามติในปี 2554 ให้ชาวซูดานใต้ตัดสินอนาคตตัวเองว่าต้องการแยกเอกราชหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่าเกือบ 99% ต้องการ ซูดานใต้จึงประกาศแยกเอกราชจากซูดานเมื่อ 9 ก.ค.ปีนั้น

แต่หลังแยกเอกราช ซูดานใต้ซึ่งประกอบด้วย 10 รัฐทางภาคใต้และมีประชากรราว 11 ล้านคนก็ยังไม่สงบ เพราะเกิดการแย่งชิงอำนาจกันเอง ขณะที่ชนเผ่าดิงกาครองความเป็นใหญ่ในคณะรัฐบาล ทำให้ชนเผ่าอื่นๆ โดยเฉพาะเผ่านูเออร์และชิลุคไม่พอใจ จึงมีการซ่องสุมตั้งกองกำลังของใครของมันขึ้นมาหลายกลุ่ม

นอกจากนี้ ตามแนวชายแดนซูดานใต้และซูดานซึ่งยังปักปันเขตแดนไม่ลงตัว รวมทั้งที่ภูมิภาคอับเยและแนวเทือกเขานูบาในรัฐคอร์โดฟานใต้ ก็เกิดการปะทะกันเนืองๆ ระหว่างหลายก๊กหลายกลุ่มที่ต้องการยึดครองพื้นที่ เปิดโอกาสให้รัฐบาลซูดาน (เหนือ) เข้าแทรกแซงช่วยฝ่ายของตน ซูดานใต้จึงมีทั้งศึกนอกศึกใน

เดิมทีชาวซูดานใต้ยังชีพอยู่ด้วยการเกษตร แต่ปัจจุบัน พึ่งพารายได้จาก “น้ำมัน” เป็นหลัก เพราะก่อนแยกเอกราช น้ำมันสำรองอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศอยู่ในซูดานใต้ถึง 75% ขณะที่โรงกลั่นและท่อส่งน้ำมันส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในซูดานเหนือ ซึ่งภายใต้ข้อตกลงซีพีเอ ปี 2548 ซูดานใต้จะได้รับส่วนแบ่งจากการขายน้ำมัน 50%

แต่เมื่อซูดานใต้แยกเอกราช ข้อตกลงแบ่งรายได้จากน้ำมันแบบครึ่งต่อครึ่งนี้ก็หมดอายุลง ทั้งสองฝ่ายจึงต้องเจรจากันใหม่ แต่เดือน ม.ค.ปีที่แล้ว การเจรจาล่มกลางคัน ส่งผลให้ซูดานใต้หยุดผลิตน้ำมันและขาดรายได้ จนจำต้องลดงบประมาณของรัฐในทุกภาคส่วนลงถึง 50% ยกเว้นเงินเดือนข้าราชการ

...

จนกระทั่งเดือน มี.ค.ปีนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกันได้ ทำให้มีการตั้งเขตปลอดทหารที่ชายแดน และซูดานใต้เริ่มส่งน้ำมันให้ซูดานอีกครั้งใน 2 เดือนต่อมา แต่แม้จะร่ำรวยน้ำมัน และต่างชาติเริ่มเข้าไปลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ซูดานใต้ก็ยังขาดการพัฒนา ยังเป็นหนึ่งในชาติด้อยพัฒนาที่สุดในแอฟริกา

สงครามกลางเมืองซูดาน 2 ครั้งก่อนนาน 22 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.5 ล้านคน พลัด ถิ่นฐานบ้านช่องกว่า 4 ล้านคน ยิ่งเกิด “สงครามกลางเมืองรอบ 3” อนาคตซูดานใต้ยิ่งดูมืดมน!

บวร โทศรีแก้ว