"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม" แถลงยุบสภาผู้แทนราษฎร ลั่นแก้ไขวิกฤติภายในประเทศ สร้างความปรองดองถึงที่สุดแล้ว เผยไม่อยากให้เกิดการสูญเสียอีก
วันที่ 9 ธ.ค. 56 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงการณ์ เรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎร ความว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบว่า จากการหารือ รับฟังข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วนแล้ว ดิฉันจึงได้ตัดสินใจขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย ร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ด้วยเหตุผลดังนี้
1. การยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังที่ปรากฏอยู่ในหลายประเทศที่ใช้ระบอบนี้ ซึ่งประเทศไทยได้ยึดถือธรรมเนียมการปฏิบัติดังกล่าวมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ บัญญัติรองรับการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ และได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วหลายครั้ง เช่น เมื่อ พ.ศ. 2539, พ.ศ. 2543, พ.ศ.2549, พ.ศ.2554
2. ตามที่รัฐบาลได้เข้ารับหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่เมื่อวันที่… โดยมีภารกิจสำคัญในการแก้ไขวิกฤติการณ์ภายในประเทศหลายประการ ทั้งในเรื่องของมหาอุทกภัย ผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน รวมทั้งการฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศ การพยายามสร้างความปรองดอง ตลอดจนฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการอย่างสุดความสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จนลุล่วงไปได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นด้านความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง และถึงแม้รัฐบาลจะพยายามที่จะสร้างความเข้าใจอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปิดเวทีปฏิรูปการเมือง หรือการทำประชามติก็ยังมีผู้ที่เห็นต่างและคัดค้าน ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมจะรับฟัง หากการคัดค้านนั้นเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา แต่ปรากฏว่ามีผู้คัดค้านจำนวนหนึ่ง รวมทั้งสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน กลับเลือกที่จะใช้วิถีทางการชุมนุมต่อต้านเวทีรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการบริหารการชุมนุมอย่างละมุนละม่อม และด้วยท่าทีประนีประนอม อันเป็นการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด และเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้ประเทศและคนไทยต้องมีการสูญเสียอีก ด้วยประเทศไทยเจ็บปวดมามากพอแล้ว
แต่สถานการณ์ในวันนี้ รัฐบาลได้คำนึงถึงแนวคิดที่แตกต่าง และต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงเห็นว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เมื่อถึงจึดที่ความคิดขัดแย้งอาจนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชาติ และมีความรุนแรงจนอาจเกิดความสูญเสียขึ้น การคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินด้วยการยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นวิถีทางที่เป็นไปตามหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ว่าคนส่วนใหญ่ต้องการแนวทางใด และจะให้ใครมาบริหารประเทศแนวทางนั้น
รัฐบาลใคร่ขอเชิญชวนให้ทุกกลุ่ม ทุกพรรคการเมืองที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย ใช้เวทีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เป็นที่นำเสนอทางเลือกต่าง ๆ ให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
3. เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐมนตรีทั้งคณะ ย่อมพ้นจากตำแหน่งไปด้วยมาตรา 180 (2) แต่ต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในมาตราดังกล่าว
4. ขอให้ประชาชนทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งจะได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง ด้วยความพร้อมเพรียงใส่ใจและรอบคอบ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมที่สุด ซึ่งจะเป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองโดยสันติ ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย.
...