เข้มข้นเขม็งเกลียวเข้ามาทุกขณะ สำหรับดีกรีการเมืองไทยในตอนนี้ เมื่อล่าสุด ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 153 เสียง ยื่นขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อกดดันให้รัฐบาลยุบสภา เหตุการณ์ใกล้เคียงกันนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2543
ในที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ก็มีมติให้ ส.ส.ลาออกทั้งพรรคเพื่อออกมายืนหยัดอยู่เคียงข้าง "มวลมหาประชาชน" ของกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ หน่วยกล้าตาย ที่ลาออกมาต่อสู้ในภาคประชาชนก่อนหน้านั้น ระดมพลังมวลชนออกมาเดินขบวนตามท้องถนน เพื่อกดดันรัฐบาล
จากวันนั้นถึงวันนี้ นับเวลาได้เดือนเศษแล้ว กับการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา มีทั้งช่วงเหตุการณ์ที่เข้มข้น และมวลชนที่บางตาสลับสับเปลี่ยนกันไป
แต่ทว่านาทีนี้ ดูเหมือนทุกอย่างจะร้อนแรงขึ้นมาอีก เสมือนเป็นการ "ราดน้ำมันใส่กองไฟ" เมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวพา ส.ส.ในพรรคฯ เดินออกจากสภา สมทบกับกลุ่มมวลมหาประชาชนในวันดีเดย์ 9 ธ.ค. เดินเท้าจากทั่วสารทิศไปยังทำเนียบรัฐบาล ภายใต้เหตุผลที่ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ หมดความชอบธรรม ตั้งแต่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ยิ่งวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ออกมาแถลงข่าวการขอทำประชามติในเรื่องที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเรียกร้อง ยิ่งทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับออกอาการ "รับไม่ได้" จนเป็นเหตุทำให้ต้องมีมติให้ ส.ส.ลาออกยกพรรค พ่วงท้ายด้วยการตบเท้าตามมาของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แห่งพรรครักประเทศไทย กับ ส.ส.ลูกพรรครวม 2 คนที่ตัดสินใจตรงกัน
...
สุมไฟสถานการณ์การเมืองไทยให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น !?!
ข้อกล่าวหาฉกรรจ์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ สาดใส่รัฐบาล นอกเหนือจากเรื่องการขาดความชอบธรรมแล้ว ยังระบุถึงเรื่องการกระทำของรัฐบาล ว่าเป็นการทรยศประชาชน โดยพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า "หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะไม่เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น" พร้อมแนะ "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" ให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าควรยุบสภาดีกว่าการลาออก เพื่อคืนอำนาจให้กับปวงชนชาวไทย
สอดคล้องกับ "ธง" ของนายสุเทพที่ตั้งไว้ ในเรื่องของการ "เปลี่ยนประเทศไทยใหม่" โดยการจัดตั้ง "สภาประชาชน" ให้ประชาชนเข้ามาจัดการระบบการปกครองและการเลือกตั้ง ที่อ้างว่าเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ระบุเอาไว้มากมาย
รวมทั้งการอ้างกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 มาย้ำว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สภาประชาชนของนายสุเทพ คือ การนำตัวแทนทุกสาขาอาชีพของพลเมืองในประเทศ ลงทะเบียนเลือกกันเอง เอาตัวแทนมาประกอบกันเข้าเป็นสภาประชาชน ทำหน้าที่กำหนดทิศทาง ช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ การปฏิรูปประเทศ โดยไม่มีผลประโยชน์ของทุนและพรรคการเมืองแอบแฝง ซึ่งรัฐบาลของประชาชนจะทำงานอยู่ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่แช่แข็งประเทศ มีการเลือกผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีเรื่องของทุนและการเมืองเข้ามาพ่วงท้าย ซึ่งนี่คือ "สภาประชาชน" ตามพิมพ์เขียวที่นายสุเทพว่าไว้
ส่วนผลจะออกมาอย่างไร ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่
อีกไม่กี่ชั่วโมงได้รู้กัน!?!
กล่าวถึงบริบทของเหตุการณ์ "ลาออกยกพรรค" และการโค่นอำนาจรัฐโดยจัดตั้ง "สภาประชาชน" ของกลุ่ม ส.ส.ฝ่ายค้าน มิได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2543 เคยเกิดขึ้นแล้วในลักษณะคล้ายกัน เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ในสมัยนั้น ประกาศพาลูกพรรคและพรรคฝ่ายค้านกว่าร้อยชีวิต เดินออกจากสภา ทยอยตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2543 ที่ผ่านมา กดดันรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ นายชวน หลีกภัย ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ บริหารประเทศล้มเหลว ประชาชนยากจน บริหารประเทศอย่างไร้ประสิทธิภาพ ไม่ซื่อตรง มีการทุจริตเกิดขึ้นมากมาย แสวงหาประโยชน์ และปกป้องคนผิดที่เป็นพรรคพวกตนเอง ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติพังเสียหาย กดดันให้รัฐบาลนายชวน หลีกภัย รีบยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน เพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่
นอกจากนี้ ยังจัดทีม ส.ส.ที่ลาออกมา ออกเดินสายพบปะให้ความรู้ประชาชนตามจังหวัดต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดการปฏิรูปการเมือง เดินหน้าปฏิรูปการเมืองกับประชาชน รวมทั้งขอเสียงสนับสนุนจากประชาชนทวงคืนอำนาจจากรัฐบาลกลับคืนมา แต่ทว่า รัฐบาลนายชวนก็ไม่ได้ประกาศยุบสภา และไม่ได้มองว่าเป็นการขาดเอกภาพ หรือ "เผด็จการรัฐสภา" ตามที่พรรคความหวังใหม่ พยายามฟ้องประชาชน ยังทำงานต่อทั้งๆ ที่ในสภาแทบจะไม่เหลือ ส.ส.ฝ่ายค้าน
ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลชวน ยังใช้เหตุผลสวนกลับ ว่าการลาออกของ ส.ส. เป็นการละทิ้งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน และสร้างความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป โดยการยกสารพัดเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจำเป็นในความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่กำลังตกต่ำถึงขีดสุด การพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2544 ที่กำลังจะเข้ามาสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งการแก้กฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลที่พูดกันไป
รัฐบาลประชาธิปัตย์ลากยาวไปจนถึงช่วงปลายปีจนได้
นั่นคือ กว่าที่นายชวน หลีกภัยจะอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรียุบสภา ก็ปาเข้าไปวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 ก่อนเวลาที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนั้นจะสิ้นสุดวาระเพียงไม่กี่วัน และจากความดันทุรังในการลากสถานะความเป็นรัฐบาลท่ามกลาง ส.ส.ฝ่ายค้านที่เหลืออยู่เพียงหยิบมือ ทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายการบริหารประเทศในฐานะรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ จนทำให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยที่เป็นพรรคการเมืองใหม่ ไม่เคยมี ส.ส.ในสภาฯมาก่อน ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างถล่มทลาย พรรคประชาธิปัตย์ต้องพ่ายแพ้ไปอย่างหมดรูป กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านไปโดยปริยาย
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ จึงทำให้อดคิดไม่ได้ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการ "ลอกแบบ" ของพรรคประชาธิปัตย์ ตามที่เคยถูกพรรคความหวังใหม่ "สอนมวย" เอาไว้ ต่างกันตรงที่ยุคนั้น ไม่มีการพูดถึง "สภาประชาชน" อย่างชัดเจนเหมือนสมัยนี้ จึงมองว่าขณะนี้เสมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ยึดเอารูปแบบของเหตุการณ์ที่เคยถูกกระทำ นำมาเป็นโมเดลเคลื่อนไหวทวงอำนาจอธิปไตยกลับคืน โดยมีเชื้อไฟอย่างดี โหนกระแส "โค่นระบอบทักษิณ" เป็นตัวชูโรง ควบคูไปกับ "โค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์" ท่ามกลางปลุกเร้าประชาชนอย่างออกรส
ส่วนการลาออกแบบยกพรรคครั้งนี้ จะสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ คนไทยต้องติดตามกันอย่างไม่กะพริบตา!?!