กร้อก แกร้ก กร้อก แกร้ก….รางวัลที่ 1 ประจำวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2544 เลขที่ออก หนึ่ง หนึ่ง สาม สาม หนึ่ง หนึ่ง

เสียงโห่ฮาดังกึกก้องกองสลาก หลายคนถูกรางวัลใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มเดินออกมาอย่างมีความสุข ขณะเดียวกัน เจ้ามือหวยใต้ดินบางรายถึงกับสะอื้น เพราะต้องเสียเงินหลายสิบล้านบาทในชั่วพริบตา จึงเป็นที่มาของ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 13 มิ.ย.44 ที่พาดหัวข่าวว่า "อ้างเลขล็อก หวยออกลาย เจ้ามือเจ๊ง เลข 311 สุมหัวออกกฎเขี้ยว เอาเปรียบคอหวย" โดยมีเนื้อหาสรุปใจความว่า เจ้ามือหวยเถื่อนในพื้นที่ภาคกลางนับ 100 ราย ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ส่งเด็กเดินโพยแจ้งกับคอหวยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการตรวจรางวัล โดยอ้างสาเหตุเพราะ "สลากกินแบ่งรัฐบาลล็อกหวย" มาแล้วหลายงวด จนทำให้ลูกค้าถูกหวยมากมาย ทำให้เจ้ามือ "เจ๊ง" กันระนาว

เสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่อง "หวยล็อก" อยู่คู่กับวงการพนันมอมเมาประชาชนชาวไทยมาช้านาน แต่เรื่องที่เกิดขึ้นที่ยังคาใจครั้งนี้ เริ่มส่อเค้าว่าจะเป็นเรื่องจริง หลังจากหวยงวดดังกล่าวออก และเป็นที่โจษจันของชาวบ้าน ซึ่ง นายชัยวัฒน์ พสกภักดี ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ขณะนั้น) ก็ยังยืนยันเสียงแข็งว่าไม่มีเลขล็อก แต่ก็ยอมรับว่ามีความผิดปกติ

ซึ่งความผิดปกติดังกล่าวมีที่มาคือ ประชาชนคนตักลูกบอลหมายเลข 2 คน ก้มมองก่อนบรรจงตักขึ้นมา หลังข่าวแพร่สะพัด ก็มีนายตำรวจนายหนึ่ง ให้ข่าวว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังเลขล็อกครั้งนี้ คือผู้ทรงอิทธิพลในวงการมวยและการพนัน อักษรย่อ "ก"

...

เมื่อมีการชี้มูลว่า "เลขล็อก" มาจากแผนสมคบคิดของใครบางคน นายณรงค์ อุ่นแพทย์ เจ้าของอักษรย่อ "ก" หรือ "กลม บางกรวย" ก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวในอีก 2 วันต่อมา

"เรื่องนี้ผมไม่เกี่ยวข้อง ขนาดออกสลากยังไม่เคยดู เท่าที่จำได้เคยไปดูออกสลาก ธ.ก.ส.แค่ครั้งเดียว ไม่เชื่อว่าจะล็อกกันได้ เป็นแค่ข่าวลือมากกว่า แต่ยอมรับว่าชอบเล่นหวยใต้ดิน งวดที่ผ่านมา วิ่งเลข 1 ไป 3 แสนบาท และก็เล่นเลข 1 กลับไปมา อีก 19 ตัว ตัวละ 1 พันบาท งวดที่ผ่านมาถูกได้เงินมา 6.7 แสนบาท ทีเวลาโดนกิน 3-4 แสนไม่เห็นใครเอาไปพูด" ผู้กว้างขวาง จ.นนทบุรี กล่าว

หลังเกิดเรื่อง มีการตั้งข้อสังเกต จากผู้เชี่ยวชาญบางรายว่าอาจจะมีการใช้ "กลโกงไฮเทค" ที่เกี่ยวข้องกับสารเรืองแสงบางอย่าง เพื่อล้างข้อข้องใจทั้งหมด ทาง ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงตัดสินใจส่งลูกบอลออกรางวัลทั้งหมดไปตรวจหาหลักฐาน แต่ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ ขณะเดียวกันยังได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยัง พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ รอง ผบ.ตร.บร.2 จากนั้นได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง รอง ผบก.ป. ในขณะนั้น รับผิดชอบในทางลับ จนกระทั่งออกหมายจับ และบุกรวบ นายสมตระกูล จอบกระโทก ผู้ที่ขึ้นไปตักลูกบอลงวดดังกล่าวได้ พร้อมแจ้งข้อหาฉ้อโกงทรัพย์และฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากผู้ที่ได้รับเลือกขึ้นไปออกรางวัล คือ นายวิตน์ ศรีหวาด นายประเสริฐ เอี่ยมสะอาด และนางพจนีย์ ม่วงศรีสุข แต่ปรากฏว่า ผู้ต้องหา และพวกอีก 2 คือ นายทองสุข ชนะการี และ พ.อ.กิติชาติ กุลประดิษฐ์ ร่วมกันสมอ้างแล้วขึ้นไปแทน

หลังการสอบสวนขยายผล พบว่ามีผู้ร่วมกระทำผิด 7 คน และสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 5 คน คือ กลม บางกรวย, นายพิชัย เทพอารักษ์ หรือ ชัย​ โคกสำโรง นายสุริยัน ดวงแก้ว หรือผู้ใหญ่หมึก นายสมตระกูล จอบกระโทก และ พ.อ.อ.กิตติชาติ กุลประดิษฐ์ หลบหนี 2 คน คือ นายทองสุข ชนะการี และ นายอนันต์ หรือ แซม สุขห่วง

กระทั่งวันที่ 19 ธ.ค.2544 พนักงานสอบสวนส่งมอบคดีให้อัยการ พร้อมสั่งฟ้อง 4 ข้อหา 1. ร่วมกันฉ้อโกง 2. ฉ้อโกงประชาชน 3. อั้งยี่ และ 4. ซ่องโจร แต่ทางอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาเพียง 2 ข้อหา คือ ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และซ่องโจร

ขณะที่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายชวลิต เศรษฐเมธีกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งผลการสอบสวนพบว่า ผลออกสลากงวดดังกล่าวมีข้อ "พิรุธจริง" เนื่องจากพนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ควบคุมการออกรางวัล ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดข้อสงสัย

ผลสรุป ยังระบุว่า มีผู้บริหารระดับสูง 3 คน ที่เกี่ยวข้องกับการออกรางวัล ตรวจสอบพบว่าหมายเลขหางบัตรกับรายชื่อตักรางวัลไม่ตรงกันแต่กลับนิ่งเฉย ขณะที่ นายชัยวัฒน์ ผอ.การสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในขณะนั้น ไม่พบข้อพิรุธ หรือข้อสงสัยใดๆ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว เนื่องจากได้ลาไปต่างจังหวัด อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไม่พบประเด็นเกี่ยวข้องหรือจุดเชื่อมโยงได้ว่าพนักงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสมรู้ร่วมคิดกับขบวนการหวยล็อกแต่อย่างใด

ส่วนกลโกงของขบวนการล็อกหวยนั้น พบว่าจะใช้ทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญประมาณ 10 คน ซักซ้อมและนัดหมายกันจนเป็นที่เข้าใจ จากนั้นก็จ้างชาวบ้าน 100-200 คนที่มีรายชื่อเข้ารับชมการออกรางวัล โดยให้ค่าจ้างคนละ 200-300 บาท หากคนใดได้รับเลือกให้ขึ้นประจำตำแหน่งหลักหน่วย สิบ และร้อย ของการออกรางวัลที่ 1 แก๊งหวยล็อกก็จะส่งทีมงานขึ้นไปประจำหลักดังกล่าวแทน จากนั้น พวกที่อยู่ด้านล่างเวทีจะทำเสียงดังเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อให้เพื่อนร่วมแก๊งบนเวทีพ่นสารเคมีเหลวแห้งเร็ว เมื่อแห้งแล้วจะมีลักษณะคล้ายแป้งฝุ่น ที่อมไว้ในปากลงที่ก้นภาชนะทรงกลม (ลูกบอลหมายเลข) เมื่อเจ้าหน้าที่บรรจุเลข ตั้งแต่ 0-9 ใส่ลงไปก็จะถูกของเหลวดังกล่าว และเกิดตำหนิเล็กๆ  ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพียงแค่เหลือบมอง ก็สามารถตักลูกบอลหมายเลขขึ้นได้ทันที

...

ขณะที่ล่าสุด ศาลฎีกาได้พิพากษา สั่งจำคุก 6 ปี "กลม บางกรวย" พร้อมพวกรวม 4 คน ในข้อหาฉ้อโกงและซ่องโจร ขณะที่ นายพิชัย เทพอารักษ์ หรือ ชัย โคกสำโรง ลูกน้องอีก 1 คน ศาลพิพากษาให้จำคุกเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์เป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากไม่มีพยานยืนยันว่าร่วมกันฝึกซ้อมการล็อกเลข ทั้งนี้ ในวันอ่านคำพิพากษา นายณรงค์ หรือ กลม บางกรวย และ นายสุริยัน ดวงแก้ว ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาศาลจึงได้ออกหมายจับเพื่อให้มารับโทษตามคำพิพากษา

อย่างไรก็ดี "หวยล็อก" ในงวด 1 มิ.ย.44 ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2530 สมัยที่ยังใช้วิธีหมุนวงล้อรางวัล แต่ปรากฏว่าในระหว่างที่หมุนอยู่นั้น ได้เกิดเหตุขัดข้องในส่วนวงล้อ คณะกรรมการต้องยุติการออกรางวัลเพื่อตรวจสอบ ก็พบว่ามีการดัดแปลงและติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการบังคับวงล้อด้วยรีโมตคอนโทรล เหตุดังกล่าวไม่เป็นที่แพร่สะพัด เนื่องจากมีการปิดข่าวและตรวจสอบกันภายในเท่านั้น

และแล้ว การออกรางวัลงวดวันที่ 16 ก.ย.2530 ก็เกิดเหตุขัดข้องอีก ขณะที่ประธานการจับรางวัล นายวันชัย จิราธิวัฒน์ หมุนวงล้อ แต่วงล้อติด จนต้องใช้ค้อนทุบจนคลาย และได้หมายเลข 2567670 แต่ประธานสั่งยกเลิกและออกรางวัลใหม่ ทำให้ผู้ถือสลากเลข 2567670 ยื่นฟ้องกองสลาก และนายวันชัย เพื่อเรียกร้องเงินรางวัล 3 ล้านบาทที่ควรจะได้ และมีการร้องทุกข์ต่อกองปราบ เรื่องเลขล็อก จนกระทั่งมีการจับกุมพนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 18 คน ส่งฟ้อง 13 คน อีก 5 คนกันเป็นพยาน ภายหลัง พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องกลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมด เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ และปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดเมื่อต้นปี 2532

สิ่งที่เกิดขึ้น แม้ผ่านมานานนับ 10-20 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วน "ไม่ลืม" และเชื่อว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มสามารถ "ล็อกเลข" ได้ จนกลายเป็นช่องทางของกลุ่มมิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวงประชาชน ซึ่งทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ทำได้เพียงประชาสัมพันธ์สโลแกน "โปร่งใส ไม่มีเลขล็อก" กันต่อไป

...