แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 9 สมเด็จพระสังฆราชได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19.30 น. สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต...

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เรื่องพระอาการประชวรของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 9

วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19.30 น. ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
24 ตุลาคม 2556

พระประวัติ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า “เจริญ คชวัตร” ประสูติ ณ ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ซึ่งตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 บิดาชื่อ น้อย คชวัตร มารดาชื่อ กิมน้อย คชวัตร และมีน้องชายอีก 2 คน คือ นายจำเนียร และนายสมุทร เรียงตามลำดับ โดยสมเด็จฯ ทรงเป็นพี่คนโต

ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมีพระอัธยาศัยส่อแววของความเป็นพระ เช่น ทรงชอบเล่นเป็นพระ มีสวด มีเทศน์ ทอดผ้าป่า เป็นต้น โดยทรงมีเครื่องของเล่น เช่น ตาลปัตรเล็กๆ คัมภีร์เทศน์เล็กๆ ด้วย ทรงรับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม จนสำเร็จชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยม 2) จากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) ต.บ้านเมือง ในปี พ.ศ. 2469

เมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณรได้ 1 พรรษา พระครูอดุลย์สมณกิจ (พุทธฺโชติ ดี) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม หรือที่เรียกกันว่าหลวงพ่อวัดเหนือ พระอุปัชฌาย์ ได้พามาฝากให้อยู่เรียนพระปริยัติธรรม หรือเรียนภาษาบาลี ที่วัดเสน่หา จ.นครปฐม ในความปกครองของพระครูสังวรวินัย (อาจ) เจ้าอาวาสวัดเสน่หา ก่อนจะทรงย้ายมาศึกษาต่อที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในสมัยพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงครองอาราม และทรงสอบได้ประโยคลำดับต่างๆ มาโดยลำดับจนถึง 9 ประโยค

...

ทรงกลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเทวสังฆาราม เมื่อ พ.ศ. 2476 โดยมีพระครูอดุลยสมณกิจ เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ครั้นออกพรรษาแล้ว ทรงกลับมาอุปสมบทเป็นธรรมยุต ณ วัดบวรนิเวศวิหารอีกครั้งหนึ่ง โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ครั้งยังเป็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระรัตนธัชมุนี (จู อิสฺสรญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ประทานนามฉายาว่า “สุวฑฺฒโน”

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นผู้ใฝ่พระทัยในการศึกษา แสวงหาโอกาสที่จะศึกษาวิชาการต่างๆ อยู่เสมอ ราว พ.ศ.2477-2478 ทรงศึกษาภาษาอังกฤษและสันสกฤตกับนักปราชญ์ชาวอินเดีย “สวามีสัตยานันทบุรี” นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาจีน ฝรั่งเศส และเยอรมันด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังสนพระทัยในการศึกษาหาความรู้วิชาการสมัยใหม่ในด้านต่างๆ เป็นเหตุให้ทรงรอบรู้ทั้งทางคดีธรรมและคดีโลก มีโลกทัศน์กว้างขวาง ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการศาสนา และเหตุบ้านการเมือง

เมื่อทรงสอบได้เปรียญชั้นสูงแล้ว ก็ทรงรับภาระหน้าที่มากขึ้นตามกาล และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์มาโดยลำดับ พระชันษา 34 ปี เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระโสภณคณาภรณ์” พระชันษา 39 ปี เป็นชั้นราช พระชันษา 42 ปี เป็นชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม พระชันษา 43 ปี เป็นชั้นธรรมที่ “พระธรรมคุณาภรณ์” พระชันษา 48 ปี เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ “พระสาสนโสภณ” พระชันษา 59 ปี เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระญาณสังวร”

เมื่อพระชันษา 75 ปี รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น “สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ในราชทินนามเดิม โดยได้มีพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

พระกรณียกิจ

พระกรณียกิจของสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่ยังคงประทับใจคนไทยไม่รู้เลือน คือ พระกรณียกิจ ทรงเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2499 ซึ่งในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ประชาชนจะได้เห็นสมเด็จพระสังฆราชคอยเป็นผู้อภิบาลพระองค์โดยตลอดในระหว่างที่ทรงผนวช

ด้านการต่างประเทศ สมเด็จทรงเป็นประธานดำเนินการและประธานอุปถัมภ์ในการสร้างวัดและอุโบสถในประเทศต่างๆ หลายแห่ง เช่น วัดพุทธรังษี ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย วัดแคโรโลนาพุทธจักรวนาราม ในรัฐแคโรไลนาเหนือ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งได้เสด็จไปดูการศาสนาในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อินเดีย เนปาล เป็นต้น

ด้านการศึกษา ทรงปรับปรุงหลักสูตรศาสนศึกษาของคณะสงฆ์ ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของสงฆ์และธรรมศึกษาให้เหมาะกับผู้เรียน เพื่อให้เกิดคุณูปการในชีวิตจริงเป็นสำคัญควบคู่กับธรรมวินัย

ด้านการปกครอง เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ทรงบริหารการพระศาสนาด้วยหลักพ่อปกครองลูก ทรงยึดแบบแผนเดิมอันเป็นธรรมเนียมประเพณีที่สมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ได้เคยปฏิบัติมา แต่ไม่ได้ละเลยของใหม่ โดยประยุกต์ให้สอดคล้องต้องธรรม

ด้านสาธารณูปการ ได้เป็นประธานกรรมการอุปการะฝ่ายบรรพชิต ในการก่อสร้างตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ร่วมกับสภากาชาดไทย สร้างตึกวชิรญาณวงศ์และตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาล เพื่อเป็นตึกสงฆ์และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทรงเป็นประธานอุปถัมภ์การสร้างวัดในต่างจังหวัดอีกมากมาย อาทิ วัดรัชดาภิเษก วัดพุมุด จ.กาญจนบุรี วัดวังพุไทร จ.เพชรบุรี วัดล้านนาสังวราราม จ.เชียงใหม่ ที่สำคัญทรงเป็นประธานสร้างวัดญาณสังวราราม ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ให้เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมของพระภิกษุสามเณร และเป็นประโยชน์เกื้อหนุนการพัฒนาอาชีพของประชาชน

...

ด้านงานนิพนธ์ ทรงนิพนธ์หนังสือประเภทต่างๆ ไว้มากมาย ทั้งที่เป็นตำราประกอบการศึกษา ธรรมกถา ธรรมเทศนา และสารคดี เช่น อธิบายวากยสัมพันธ์ ภาค 1-2 ตำนานวัดบวรนิเวศวิหารเล่ม 2 หลักพระพุทธศาสนา 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสั่งสอนอะไร พระพุทธศาสนากับสังคมไทย เป็นต้น ทรงริเริ่มให้มีการแปลหนังสือพระพุทธศาสนาที่สำคัญๆ จากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ และโปรดให้จัดตั้งแผนกจำหน่ายหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาต่างประเทศของมหามกุฎราชวิทยาลัย ขึ้นในปี พ.ศ.2521 เพื่อให้เป็นศูนย์หนังสือทางพระพุทธศาสนาสำหรับชาวต่างประเทศที่สนใจจะศึกษาพระพุทธศาสนา ตลอดจนชาวไทยผู้สนใจทั่วไป

 

พระอาการประชวร

สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเสด็จประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2545 เป็นต้นมา เช้าวันที่ 14 ต.ค. 2556 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จพระสังฆราชฯ ประชวร และทรงมีความดันพระโลหิตต่ำ เนื่องมาจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต คณะแพทย์ตรวจพบว่า พระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) และพระอันตคุณ (ลำไส้เล็ก) ขาดพระโลหิตและมีแผลติดเชื้อ จึงถวายการรักษาด้วยการผ่าตัดพระอันตะและพระอันตคุณบางส่วนออก ภายหลังการผ่าตัดปรากฏว่าพระอาการโดยรวมดีขึ้น ไม่ทรงมีไข้ ความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถลดปริมาณพระโอสถ เพิ่มความดันพระโลหิตได้ตามลำดับ ไม่ปรากฏภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะ เพื่อควบคุมการติดเชื้อต่อไป และในวันที่ 15 ต.ค.2556 คณะแพทย์ได้เชิญสมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จออกจากหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (I.C.U.) กลับมาประทับ ณ ห้องที่ประทับตึกวชิรญาณ

วันที่ 20 ต.ค. 2556 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จทรงมีความดันพระโลหิตลดต่ำลง และอัตราการเต้นของพระหทัยผิดปกติตั้งแต่ตอนบ่าย ผลการตรวจพระโลหิตพบว่า เม็ดพระโลหิตขาวเพิ่มสูงขึ้น เกล็ดพระโลหิตลดต่ำลง และมีความผิดปกติของการแข็งตัวของพระโลหิต ผลการตรวจการทำงานของพระยกนะ (ตับ) พบความผิดปกติเพิ่มขึ้น พระโลหิตมีภาวะเป็นกรด ผลการตรวจภาพรังสีคอมพิวเตอร์ (CT Scan) ที่พระอุระ (อก) และพระนาภี (ท้อง) ไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ คณะแพทย์จึงปรับเปลี่ยนพระโอสถปฏิชีวนะถวาย กับถวายสารน้ำ รวมทั้งถวายพระโอสถเพิ่มความดันพระโลหิต และควบคุมการเต้นของพระหทัย โดยแพทย์และพยาบาลได้ถวายการตรวจและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม.

...

ค่ำวันที่ 22 ต.ค.2556 คณะแพทย์ที่ทำการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จฯ มีพระอาการทรุดลง ระดับความดันพระโลหิตต่ำลงอีก ไม่ตอบสนองต่อพระโอสถเพิ่มความดันที่ถวาย การเต้นของพระหทัยที่ไม่สม่ำเสมอ คณะแพทย์ได้ปรับเปลี่ยนพระโอสถปฏิชีวนะ พระโอสถเพิ่มความดันพระโลหิต รวมทั้งถวายโลหิตและสารน้ำทางหลอดพระโลหิตดำ วันที่ 23 ต.ค.2556 สมเด็จฯ มีอาการโดยรวมทรงตัว ระดับความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คณะแพทย์ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะ และพระโอสถเพิ่มความดันโลหิต และเฝ้าถวายการตรวจ และติดตามการรักษาตลอด 24 ชม.

วันที่ 24 ต.ค.2556 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จฯ มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ระดับความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำลง คณะแพทย์และพยาบาลยังคงถวายพระโอสถและเฝ้าถวายการตรวจรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอด 24 ชม.

ล่าสุด ค่ำวันที่ 24 ต.ค. 2556 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จฯ ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19.30 น. ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต