ธรรมเนียมการขึ้นครองราชสมบัติใหม่ของพระมหากษัตริย์ในโลกนี้ที่นิยมปฏิบัติกัน คือ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนประเทศที่เป็นมิตรไมตรี มีความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงก่อนเป็นลำดับต้นๆ จากนั้นจึงค่อยขยายต่อไปยังประเทศที่ห่างไกลออกไป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปีพุทธศักราช 2489 นั้น ยังไม่ทรงมีพระราชดำริในการเสด็จพระราชดำเนินดังกล่าวนี้ เนื่องจากยังทรงอยู่ในระหว่างการศึกษา ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้นต่อมาได้เสด็จฯ กลับประเทศไทย และในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร จากนั้นอีกเพียง 1 สัปดาห์ คือในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเต็มรูปแบบขึ้น ในการนี้ ถือเป็นการเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติตามโบราณขัตติยราชประเพณีอย่างเป็นทางการ หลังที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อีกระยะหนึ่ง

พระกระยาหารค่ำของในหลวงที่ลาว

...


ครั้นต่อมา เมื่อได้เสด็จนิวัตมาประทับในพระราชอาณาจักรเป็นการถาวรแล้ว จึงทรงมีพระราชดำริว่า พระองค์ยังไม่ทรงรู้จักราษฎรของพระองค์เป็นอย่างดี ยังไม่เคยได้ไปทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ และพูดคุยกับพวกเขาเหล่านั้นมาก่อนเลย หากเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยือนมิตรประเทศต่างๆ แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะทรงตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาความทุกข์ยากและวิถีชีวิต การทำมาหากิน ของราษฎรของพระองค์เองได้ จะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศเสียมากกว่าการเผยแผ่พระเกียรติภูมิ ดังนั้น จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยว่า จะไม่เสด็จฯ ออกนอกประเทศเลย จนกว่าจะทรงเยี่ยมราษฎรของพระองค์ให้ถ้วนทั่วทั้ง 72 จังหวัดในขณะนั้น เสียก่อน

เพื่อให้สมกับที่ทรงมีพระราชขัตติยะมานะดังกล่าว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการ “เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร” ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรขึ้น โดยเริ่มเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ถือเป็นการเสด็จฯ ออกเยี่ยมราษฎรเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัชกาลปัจจุบันนี้ นับถึงวันนี้ก็เกือบ 60 ปีเต็มทีแล้วนะครับ  

จากนั้นจึงเริ่มเสด็จฯ ต่อขึ้นไปเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์-17 มีนาคม พ.ศ. 2501 และต่อด้วยการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ ระหว่างวันที่ 6-27 มีนาคม พ.ศ. 2502 โดยลำดับ ส่วนราษฎรที่อยู่ในเขตจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางนั้น ก็ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมในเวลาที่เสด็จฯ ไปยังภูมิภาคต่างๆ อยู่แล้ว เพราะเป็นเส้นทางผ่าน จึงทรงแวะเยี่ยมเยียนได้ง่าย

เมื่อทรงเข้าพระทัยในชีวิตความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฎรของพระองค์เองแล้ว จึงได้เสด็จฯ ไปเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ รวม 27 ประเทศ เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรีกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้น ให้มีความสัมพันธ์ แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม กับทั้งยังได้ทรงเป็นตัวแทนนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยไปมอบให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ โดยใช้เวลาในระหว่างปี พ.ศ. 2502 ถึง 2510 ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนเวียดนามใต้ก่อน เป็นประเทศแรก ตามด้วยสาธารณรัฐอินโดนีเซียและสหภาพพม่า จากนั้นก็เสด็จฯ ไปเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และประเทศต่างๆ จนครบทั้ง 27 ประเทศสำคัญๆ ในขณะนั้น

ประเทศสุดท้ายของการเสด็จฯ ไปเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ในช่วงปี พ.ศ. 2502-2510 ในครั้งนั้น คือ แคนาดา ระหว่างวันที่ 21–24 มิถุนายน พ.ศ.2510 หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้เสด็จฯ ออกนอกพระราชอาณาจักรเพื่อทรงเยือนต่างประเทศใดๆ อีกเลย ทั้งนี้ เพราะทรงเห็นว่า พระราชภารกิจในการทรงงานเพื่อความผาสุกของประชาชนของพระองค์นั้น มีความสำคัญยิ่งและมีมากมาย จนแทบจะไม่ได้ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถเลย กับทั้งยังทรงถือเป็นพระราชภาระอันดับแรกสุดด้วย ดังนั้น หากพระประมุข หรือประมุข หรือรัฐบาลของประเทศใด กราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยือน ก็จะทรงผ่อนผันไม่ให้เสียน้ำใจ ด้วยการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เช่น พระราชโอรส หรือพระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์

แต่ในปี พ.ศ. 2537 นั้น ถือเป็นกรณีพิเศษมากเหลือเกิน เพราะในวันที่ 8-9 มีนาคม พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อย่างเป็นทางการ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งนับเป็นการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ทรงว่างเว้นจากการเสด็จฯ มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี

พระกระยาหารค่ำของในหลวงที่ลาว


การเสด็จฯ ในครั้งนั้น ถือเป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญมาก คือ เสด็จฯ ไปทรงเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ร่วมกับ นายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว ซึ่งเป็นสะพานแรกสุดที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมดินแดนของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน เป็นสะพานคอนกรีตอย่างทันสมัย ตัวสะพานมีความยาว 1,170 เมตร มีทางรถ 2 ช่องจราจร ทางเดิน 2 ช่องทาง และทางรถไฟ กว้าง 1 เมตร 1 ราง ใช้งบประมาณก่อสร้าง 30,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย ใช้ระยะเวลาก่อสร้างระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2537

เมื่อทรงประกอบพิธีเปิดสะพานแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินต่อไปทรงงานยังโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่ได้พระราชทานให้แก่ ประชาชนชาวลาวมาก่อนหน้านั้น เพื่อทรงติดตามความก้าวหน้า จากนั้นจึงได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ที่ประทับที่ทางการลาวจัดถวาย ณ อาหารหอคำ ในเวลาค่ำ นายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว และภริยา ได้จัดถวายพระกระยาหารค่ำ ผมเองก็เป็นนักกินตัวยงคนหนึ่ง จึงอดไม่ได้ที่จะไปสืบค้นหาเมนูของพระกระยาหารในค่ำคืนวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2537 มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ทุกท่านครับ ตัวรายการอาหาร หรือเมนูที่จัดถวายมีสองภาษา คือภาษาลาว อันเป็นภาษาหลักของเจ้าของประเทศ และภาษาฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นภาษาสากล เป็นภาษากลาง ผมจะขอถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยนะครับ

จานแรกสุดเป็นซุป เขียนว่า "ซุบราซา" อ่านว่า ซุบ - ลา - ซา

จานที่สอง เป็นจานเรียกน้ำย่อย เขียนว่า "ออกเด้พ่อคัว" อ่านว่า ออก - เด้อ - พ่อ - คัว

จานที่สาม เป็นจานสัตว์น้ำ ซึ่งเค้าเสิร์ฟเป็นปลา เขียนว่า "ปาน้ำของซอดมายอนแนส" แต่อ่านออกเสียงว่า ปา - นัม - ของ - ซอด - มา - ยอน - เนด

จานที่สี่ เป็นจานสัตว์ปีก ครั้งนี้ทางการลาวจัดไก่งวงถวาย เขียนว่า "ไก่งวงยัดไส้" อ่านออกเสียงว่า ไก - งวง - หยัด - ไส้

จากนั้นมีสลัดเป็นจานที่ห้า มาขั้นให้ตัดเลี่ยน เขียนว่า "สะลัดมีโมซา" อ่านว่า ซา - หลัด - มี - โม - ซ่า

จานที่หก เป็นอาหารลาวแท้ๆ เขียนว่า "เอาะหลาม" อ่านว่า เอ๊าะ - หลาม จัดเป็นอาหารขึ้นชื่อของเมืองหลวงพระบาง มีลักษณะเป็นแกงข้นๆ ซดน้ำแทบไม่ได้ คล้ายๆ กับแกงอ่อมของไทย บางท้องถิ่นเรียกแกงแค แต่ของเรามีน้ำแกงมากกว่า ตัดซดได้  เครื่องปรุงหลักๆ คือข้าวเหนียว มะเขือม่วง ถั่ว พริก ตะไคร้ ตำลึง เห็ดหูหนู การทำให้ข้นของลาวนั้นจะใช้ข้าวเหนียวและมะเขือม่วงโขลกจนแหลกละเอียดละลายลงในน้ำแกง จึงทำให้ทั้งข้นทั้งหวานหอมจากมะเขือม่วง ที่ขาดไม่ได้คือ "แก่นสะค้าน" ซึ่งเป็นเถาไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่ง สับเป็นชิ้นๆ ใส่ลงไปด้วย ถ้าเคี้ยวไปถูกเข้าจะออกรสซ่าๆ หอมๆ

จานที่เจ็ด เป็นสัตว์ปีกซ้ำอีกครั้ง ซึ่งการเลี้ยงโดยทั่วไป จะไม่นิยมให้มีสัตว์ซ้ำประเภทกัน ครั้งนี้เขียนว่า "ปิ้งไก่ลาด" อ่านว่า ปิ้ง - ไก - ลาด คำว่า "ลาด" แปลว่า "บ้านๆ" นั่นก็คือ ไก่บ้านย่าง นั่นเอง

จานที่แปด เขียนว่า "เข้าหลาม" และ "แจ่วบอง" อ่านว่า เข้า - หลาม และ แจ่ว -บอง อาหารจานแจ่วบอง จัดเป็นเครื่องจิ้มประเภทน้ำพริกเผาชนิดหนึ่ง แต่แห้ง และไม่ใส่น้ำมันมากอย่างน้ำพริกเผาของไทย มีลักษณะแฉะๆ ไม่แห้งร่วนเหมือนน้ำพริกปลาย่าง รสชาติติดหวานนิดหน่อย มีเค็มปะแล่ม ที่สำคัญคือ ต้องมีหนังควายหั่นเป็นเส้นเล็กๆ ยาวๆ ผสมอยู่ในเนื้อน้ำพริกด้วย

จานที่เก้า เขียนว่า "หมกปาฟอก" อ่านว่า มก - ปา - ฟอก คือห่อหมกปลาอย่างบ้านเรานั่นเอง แต่มีเครื่องปรุงคือไคสด หรือสาหร่ายแม่น้ำโขงสด ไข่แดง มะพร้าวคั้นเป็นกะทิ รากผักชี แต่ที่พิเศษมากคือ ของลาวเค้าจะละเมียดละมัยกว่า ตรงที่เอาเนื้อปลาลงโขลกละเอียดผสมลงในเนื้อของห่อหมกเลยและห่อด้วยใบตอง นึ่งจนสุก และรสชาติจะปรับนุ่มนวลกว่าบ้านเรา ทานเปล่าๆ ได้ไม่สำลัก คำว่า "ฟอก" เป็นคำลาวโบราณ หมายความว่า บดหรือขยี้ให้ละเอียดนั่นเอง

ส่วนของหวานจะเริ่มต้นด้วยของหวาน ตามด้วยผลไม้ และปิดท้ายด้วยน้ำชากาแฟ

เขียนว่า "เข้าหนมโซโกลา" อ่านว่า เข้า - หนม - โซ - โก - ลา ความจริงแล้วคือขนมช็อกโกแลตนั่นเองครับ เพื่อนของผมที่เวียงจันทน์ บอกกับผมว่า คำว่า "โซโกลา" นั้น เป็นคำเก่าแก่ โบราณมากแล้ว ทุกวันนี้ไม่มีใครใช้คำนี้แล้ว จะเรียกทับศัพท์ว่า ช็อกโกแลต ตรงตัวเลย

ส่วนอาหารจานผลไม้นั้น เขียนว่า "หมากไม้เมืองลาว" อ่านว่า หมาก - ไม่ - เมือง - ลาว

และสุดท้ายปิดรายการเขียนว่า "กาเฟ-น้ำซา" อ่านว่า กา - เฟ - นำ - ซา

การถ่ายทอดคำเขียนและคำอ่านข้างต้นนี้ ถ้ามีผิดพลาดประการใด ผมต้องขออภัยไว้ด้วยนะครับ ตั้งใจว่าต่อจากนี้ไปจะเริ่มเรียนภาษาเพื่อนบ้านโดยรอบประเทศเราอย่างจริงจังเสียที เพราะเท่าที่เห็นที่ผ่านมา เวลาคนเพื่อนบ้านเราเข้ามาทำการทำงานในบ้านเมืองของเราเพียงไม่กี่เดือน เค้าก็พูดจาโต้ตอบได้เป็นอย่างดีแล้ว ผมคิดว่า ในโลกปัจจุบันที่ทวีปเอเชียกำลังจะร่วมรวมตัวกันในเร็ววันนี้ การที่เราเรียนรู้ภาษาของเพื่อนบ้านด้วย จะทำให้การติดต่อค้าขายการเจรจาต้าอ่วยต่างๆ เป็นไปได้อย่างง่ายดายขึ้นอีกด้วยครับ

สำหรับเมนูพระกระยาหารค่ำ ที่ ท่านหนูฮัก พูมสะหวัน จัดถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น ก็ถือเป็นเมนูที่เรียบง่าย แม้จะมีจำนวนจานที่ดูเหมือนมากมายเกินไป แต่ธรรมเนียมการเลี้ยงรับรองระดับประมุขของโลกทั่วโลกอย่างเป็นทางการ ก็จะจัดจำนวนจานต่างๆ ไม่แตกต่างกันมากเท่าไรนักหรอกครับ

...

พระกระยาหารค่ำของในหลวงที่ลาว

เผ่าทอง ทองเจือ