"เราจะเดินเข้าไปสู่พื้นที่ขัดแย้ง ผมบอกตลอดว่า ไม่ได้ตั้งใจมาพูดให้ข้อมูล แต่มาเดินเพื่อแสดงออกถึงความตั้งใจในการทำงานอนุรักษ์ป่าและทักท้วงข้อมูลในรายงาน EHIA ผมไม่ใช่คนกล้า บ้าทะเลาะอะไรกับใคร เลี่ยงได้ก็เลี่ยง ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว อะไรก็ได้ยอมหมด ถ้าเป็นหน้าที่ที่ควรทำ ก็พยายามว่ากันไป เดินมาสองวันทางไกล ใช้หัวใจขนาดพอสมควรพาเดินมาได้ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด เดินผ่านความไกลกับเดินผ่านความกลัว ก็ใช้ขนาดหัวใจใกล้ๆ กัน"

รวมๆ แล้ว วันนี้ที่คุยกัน (19 ก.ย.) เขาเดินเท้าเพียวๆ มาแล้วกว่า 300 กิโลเมตร ด้วยหัวใจนักสู้และรองเท้า 2 คู่เท่านั้น...!

สายของวันที่ 11 ก.ย. เรื่องราวการเดินเท้าคัดค้าน EHIA  (Environment and Health Impact Assessment คือ กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและ­สุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครง การ เขื่อนแม่วงก์ ถูกโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Sasin Chalermlarp ท่ามกลางกำลังใจล้นหลาม กดไลค์-แชร์ พร้อมกับแสดงความห่วงใย ให้กำลังใจ ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้สนทนาสั้นๆ แบบไม่ปะติดปะต่อเนื่อง จากแต่ละวินาทีของ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กำลังทำภารกิจอันยิ่งใหญ่

ภารกิจที่เรียกว่า ใช้หัวใจต่างเท้าเดิน 300 กว่ากิโลเมตร โดยใช้อาวุธที่มีในมืออยู่อย่างเดียวคือ "เฟซบุ๊ก" หยุดการสร้างเขื่อนแม่วงก์!

...

หัวใจเดินต่างเท้า ต่อต้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์...!

ตลอดระยะการเดินทาง 10 วัน เจออะไรบ้าง...? ศศิน เฉลิมลาภ บอกว่า ตลอดทุกเส้นทางที่เดินผ่าน มีแต่เสียงให้กำลังใจ

"ว่ากันตามความจริง มีช่วงแรกๆ แต่เป็นเพียงเล็กน้อยที่ไม่เข้าใจ แต่หลังจากนั้นก็มีคนมาให้กำลังใจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการออกเดินทางครั้งนี้ เราหวังเอาไว้ว่าจะได้เปิดโอกาสให้กับคนที่คิดเหมือนกับเรา หรือว่าคนที่ไม่ได้สนใจข้อมูล และสนใจข้อมูลอยู่ได้ร่วมมาแสดงออกด้วยกัน ได้ร่วมเดินทาง ได้คุยและให้กำลังใจกัน ได้และเปลี่ยนข้อมูลทัศนะเรื่องนี้ต่อกัน ณ วันนี้มันเริ่มเป็นวงใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกฝ่ายก็เกือบ 100 ชีวิต เดินร่วมกันผ่านอากาศร้อน ฝนตก แวะรับของบริจาคที่คนมาให้กำลังใจบ้าง หลังจากนั้นก็ต้องเดินตามขบวนให้ทัน (หัวเราะ) รับโทรศัพท์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบ้าง รวมๆ แล้ว 10 วันที่ผ่านมา เจอแต่คน เรื่องดีๆ"

สำหรับปัญหาที่ต้องเผชิญกับการเดินเท้าตลอด 10 วัน ศศิน บอกว่า นอกจากจะต้องเผชิญเรื่องสภาพอากาศที่ร้อน อบอ้าวมากๆ บางพื้นที่ฝนตก อาการทางกายที่รบกวนก็เป็นเรื่องฝ่าเท้าผุพอง กล้ามเนื้อขาบาดเจ็บนิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ยังไกลหัวใจอีกเยอะ


สัญญาณรัฐบาล...??

เมื่อถามว่า เดินเท้ามา 10 วัน รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีสนใจบ้างเลยเหรอ...? เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า เขาคงสนใจอยู่ และก็ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดี ตอนนี้มีฟีดแบ็กเล็กๆ น้อยๆ เป็นสัญญาณที่ดี น่าจะดีนะครับ น่าจะ แต่ยังไม่สามารถบอกอะไรได้มากกว่านี้ครับ

"ตลอดการเดินเคยท้อบ้างไหม ไม่มีนะ เพราะผมมีกำลังใจจากประชาชนที่เราเดินผ่านมาตลอด แทบจะไม่มีเวลาท้อ (หัวเราะ) มีคนมาให้กำลังใจ เอาของมาช่วยเหลือ มาเดินร่วมด้วย ดังนั้น เรื่องความช่วยเหลืออื่นๆ ตอนนี้ยังไม่ต้องการอะไร โดยการเคลื่อนไหวของเราในครั้งนี้ ผมหวังเอาไว้แค่ว่า จะสามารถกระจายข้อมูล ข่าวสาร หรือทำให้คนตั้งข้อสงสัยเรื่องการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เรื่องการตั้งข้อสงสัยกับ EHIA และที่สำคัญ การเดินครั้งนี้ผมอยากจะฝากไปยังรัฐบาลว่า ที่จริงมันมีทางเลือกของการบริหารจัดการน้ำโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนในป่าได้อีก เช่น การสร้างเขื่อนขนาดเล็กด้านนอก 2-3 เขื่อนให้เชื่อมโยงกัน ทำฝายชะลอน้ำ ก็ขอวิงวอนให้รัฐบาลช่วยมองทางเลือกอื่น โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนในป่า แล้วตัวผมเองก็มีเครดิตทางสังคมจากทางเรื่องวิชาการ ผมไม่เคยมีเรื่องอะไรที่ผิดพลาด อย่างเรื่องน้ำท่วม ความรู้เรื่องธรณีวิทยา เรื่องธรรมชาติ เราก็มีความรู้เรื่องนี้อยู่ในฐานนักวิชาการต้องออกมาพูดความจริง และทำให้พวกเขารู้ว่ายังมีคนที่ไม่โง่อีกมากมาย"

...


จุดจบ 'สืบ นาคะเสถียร' ไม่ใช่จุดจุบ ศศิน..?

เมื่อถามว่า คิดว่าหาก สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ชาวไทย มีชื่อเสียงจาการพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และการฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ยังอยู่ คุณคิดว่าเขาจะทำในสิ่งที่คุณทำไหม...?

"จริงๆ คนเรามีความถนัดไม่เหมือนกัน และสิ่งที่ผมเลือกก็คือ การเดิน เพราะว่าผมชอบลุย และมีทักษะทางด้านนี้ แล้วก็มีความรู้เรื่องสื่อนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งคุณสืบก็มีวิธีมีความถนัดของเขา ถามว่าถูกกดดัน หรือกลัวว่าจะมีจุดจบแบบคุณสืบบ้างไหม ขอบคุณที่เป็นห่วงกัน แต่ผมอยากจะบอกว่า อันนี้เป็นงานของผม ผมทำงานให้พี่สืบ และผมอยากจะยืนยันตรงนี้ว่าจะไม่มีจุดจบแบบนั้น เพราะ ณ วันนี้ ผมยังไม่ถูกกดดันอะไรเท่าคุณสืบ และสิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ สิ่งที่คุณสืบทำ และเผชิญอยู่นั้น ไม่มีใครเห็นว่าเขาทำประโยชน์อะไร ต้องเจออะไรบ้าง ส่วนผมทำงานแค่กดไลค์ ในเฟซบุ๊ก ก็หลายหมื่นแล้วครับ อย่างไรก็ดี ต้องขอบคุณที่เป็นห่วง ตอนนี้หัวใจยังเข้มแข็ง เพราะกำลังใจจากทุกพื้นที่ที่เดินผ่านเยอะมาก"

เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังย้ำทิ้งท้ายด้วยว่า ตอนนี้ตนเองไม่มีอาวุธอะไรมากไปกว่า สองเท้า และเฟซบุ๊ก จริงๆ โดยการเดินเท้าจากเขื่อนแม่วงก์ ไปสิ้นสุดที่หอศิลปวัฒนธรรม ในวันอาทิตย์ที่ 22 ก.ย.นี้

...


"แน่นอนว่า ภารกิจการเดินเท้าเพื่อประท้วงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่ตั้งใจเอาไว้ไม่ได้สิ้นสุดแค่ตรงนี้ เพราะงานคัดค้าน EHIA เพื่อจะหยุดการสร้างเขื่อนแม่วงก์ มันเพิ่งเริ่มต้นต่างหาก ผมยังมีงานเรื่องนี้อีกมากเพื่อที่จะหยุดมันให้ได้" ศศิน กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ กิจกรรม "เดินเท้าคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์" Seub Nakhasathien Foundation , www.facebook.com/sasin.chalermlarp รูปจากเฟซบุ๊กศศิน เฉลิมลาภ


** เขื่อนแม่วงก์ : ทำไม!!…ต้องค้าน**

แนวคิดการสร้างกลับมาอีกครั้ง หลังมหาอุทกภัยปี 2554 ตามแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล เขื่อนหลายเขื่อนถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกรอบ เช่นเดียวกับ “เขื่อนแก่งเสือเต้น” และ “เขื่อนแม่วงก์” เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม ออกหนังสือเรื่อง “ทำไม!!…ต้องค้านเขื่อนแม่วงก์”

ปี 2525 กรมชลประทานริเริ่มโครงการเขื่อนแม่วงก์

ปี 2537 มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีความเห็นให้กรมชลประทานศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม บริเวณเขาชนกัน เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าเขาสบกก

...

ปี 2540 กรมชลประทานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมตามมติ คชก.

ปี 2541 มติที่ประชุม คชก. วันที่ 23 มกราคม ครั้งที่ 1/2541 “ไม่เห็นชอบกับการดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์”

ปี 2543 ทำประชาพิจารณ์โครงการเขื่อนแม่วงก์

ปี 2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติครั้งที่ 3 ยังไม่เห็นชอบต่อรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้กรมชลประทานหาทางเลือกของที่ตั้งโครงการ และศึกษาเพิ่มเติมการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ

ปี 2555 มีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 เมษายน 2555 เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ 2562

เหตุผลสำคัญที่ต้องคัดค้านการสร้างเขื่อนมีอยู่ 2 ด้าน คือ ด้านนิเวศ และด้านเศรษฐกิจและสังคม

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้านนิเวศ คือ ระบบนิเวศทั้งหมดจะถูกคุกคาม เกิดการทำลายป่าต้นน้ำ และอาจเกิดการลักลอบตัดไม้ริมอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เร่งให้สัตว์ป่าสูญพันธ์ุ เช่น นกยูง เสือโคร่ง และลักลอบล่าสัตว์ป่าได้ง่าย นอกจากนี้ ยังทำให้สัตว์ป่าสูญเสียที่อยู่อาศัย ทำลายโอกาสการฟื้นฟูของอุทยานฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อป่ามรดกโลก “ห้วยขาแข้ง”

ด้านเศรษฐกิจและสังคม คือ เนื่องจากเขื่อนแม่วงก์มีขนาดเล็ก จุน้ำได้สูงสุด 262 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมได้ นอกจากนี้ ยังทำลายแหล่งศึกษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และทำลายความเชื่อมั่นด้านสิ่งแวดล้อมของไทยด้วย รวมถึงเป็นช่องทางให้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ได้อีกในอนาคต


ความสำคัญของป่าแม่วงก์

"ป่าแม่วงก์" บริเวณที่จะถูกน้ำท่วม เป็นป่าริมน้ำและป่าที่ราบต่ำ ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 200 เมตร เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น ช้าง เสือ และเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ป่าด้วย แม้ว่าสูญเสียป่าแม่วงก์ไป 18 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 2 ของป่าทั้งหมด แต่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของป่าทั้งระบบมาก เพราะมันคือ “หัวใจ”

เหตุที่ป่าแม่วงก์เปรียบเหมือนหัวใจ เพราะเป็นส่วนสำคัญของผืนป่าตะวันตก ที่เกิดจากป่าอนุรักษ์ 17 ผืนต่อกัน เป็นป่าผืนใหญ่ขนาด 11.7 ล้านไร่ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นบ้านของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เสือโคร่ง ช้าง กระทิง วัวแดง สมเสร็จ ควายป่า ฯลฯ

ป่าแม่วงก์ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มา 25 ปีแล้ว และเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นป่าที่สมบูรณ์ จึงเป็นบ้านและแหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่หากินนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบที่ไม่สามารถป้องกันในช่วงเวลาก่อสร้างเขื่อนตลอด 8 ปี ได้แก่ การตัดไม้เกินพื้นที่ที่กำหนด การลักลอบล่าสัตว์ป่า เสียงที่ดังรบกวนสัตว์ป่า การยึดพื้นที่ริมอ่างและการเก็บหาของป่า

ปริมาณน้ำที่กักเก็บในเขื่อนแม่วงก์ คิดเป็นร้อยละ 1 ของน้ำทั้งหมดที่ท่วมลุ่มน้ำภาคกลางในปี 2554 ดังนั้น เขื่อนนี้จึงไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคกลาง และไม่เกิดความคุ้มค่าแก่การลงทุนหากสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วม

หรือกรณีที่น้ำท่วม อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ มีน้ำเพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้น ที่มาจากแม่วงก์ที่เขาสบกก ส่วนอีกร้อยละ 80 ที่เหลือคือน้ำที่มาจากลำน้ำสาขาอีก 16 สายใต้เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งปัญหาที่น้ำท่วม ก็เพราะถนนขวางทางระบายน้ำ รวมถึงการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนเขา ซึ่งทำให้น้ำหลากมาถึงบ้านที่อยู่ในที่ราบอย่างรวดเร็ว และถึงแม้จะสร้างเขื่อนได้แล้ว ปริมาณน้ำนองที่ อ.ลาดยาวก็ลดลงไม่ถึงร้อยละ 30

พื้นที่ชลประทานของเขื่อนแม่วงก์ กินอาณาบริเวณ รวม 5 อำเภอ 3 จังหวัด คือ นครสวรรค์ อุทัยธานี และกำแพงเพชร ได้แก่ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ เป็นอำเภอที่ได้น้ำใช้มากที่สุด รวมกว่า 2 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 70.5 ของพื้นที่ชลประทานทั้งหมด, อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ประมาณ 4.3 หมื่นไร่, อ.เมืองนครสวรรค์ ประมาณ 2.6 หมื่นไร่ อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี ประมาณ 1 หมื่นไร่ และ อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร กว่า 5 พันไร่.

ที่มา : เขื่อนแม่วงก์ : ทำไม!!…ต้องค้าน จาก http://thaipublica.org/2013/01/mae-wong-dam/