เผยประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องซิมดับ มั่นใจเดือดร้อน 100% จี้ผู้เกี่ยวข้องแจ้งเตือน ด้าน อ.มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ตั้งคำถามคิดค่าบริการใช้งานแค่ 15 วัน เป็นธรรมผู้บริโภคหรือไม่ ขณะที่ กทค.เร่งแผนเยียวยาดีเดย์ 16 ก.ย.นี้ ก่อนเปิดประมูลใหม่ ต.ค.57...
นับเป็นช่วงเวลาที่ต้องจับตามอง สำหรับกรณีสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ระหว่างผู้ให้สัมปทาน คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) หรือ CAT กับผู้รับสัมปทานอย่างบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ที่สิ้นสุดลงในวันนี้ (15 ก.ย. 2556) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะเกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นในกิจการโทรคมนาคม ท่ามกลางความไม่เข้าใจ ของประชาชนหลายคน และข้อกังขากับเหตุการณ์ "ซิมดับ" ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไรกันแน่?
เหตุการณ์ "ซิมดับ" จะเกิดขึ้นแน่นอน หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง ส่งผลกระทบโดยตรงกับลูกค้าทรูมูฟจำนวน 17 ล้านราย และ ดีพีซี อีกกว่า 5 หมื่นราย เพราะสัญญาณจะดับลง ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงออกประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ เรียกว่า "ประกาศห้ามซิมดับ" เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2556 - วันที่ 15 ก.ย.2557 ทำให้ผู้ใช้บริการทั้ง 2ค่าย ยังสามารถใช้งานต่อได้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นการขยายอายุสัมปทานออกไป และก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐ
...
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า ประกาศห้ามซิมดับ ไม่ใช่การยืดอายุสัญญาสัมปทาน เพราะไม่ได้มีการจัดสรรคลื่นใหม่ แต่เป็นการมาตราการคุ้มครองผู้บริโภค รายได้จากค่าใช้บริการ เป็นของกระทรวงการคลัง ไม่ใช่ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง โดยตั้งคณะกรรมการร่วม มีตัวแทนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กระทรวงการคลัง กสทช. เป็นผู้รับผิดชอบ โดยระหว่างนี้ กทค. ต้องดำเนินการเปิดประมูลคลื่น 1800 MHz ให้เสร็จ ภายใน 1 ปี นับจากนี้ หรือประมาณเดือน ก.ย. 2557 ซึ่งระหว่างนี้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการโอนย้ายค่าย (นัมเบอร์พอร์ตทิบิลิตี้ ) ได้โดยเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 29 บาท ต่อเลขหมาย
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาทืี่ผ่านมา กทค. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมประมูลคลื่น 1800 MHz และคณะอนุกรรมการตรวจสอบรายละเอียดการจัดสรรคลื่น1800 MHz พร้อมทั้งเร่งโอนย้ายคนในระบบ ให้เพิ่มเป็น 3 แสนเลขหมายต่อวัน จากเดิมทำได้ 4 หมื่นเลขหมาย หรือ ประมาณค่ายละ 6 หมื่นเลขหมายต่อวัน และแก้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และขยายระยะเวลาสัมปทานให้นานขึ้น
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เหตุใด กทค. รู้อยู่แล้วว่าสัญญาสัมปทานจะหมดอายุลงแต่ไม่รีบประมูล และปล่อยให้เวลาผ่านไปถึง 2 ปี นั้น กทค. แยกเป็น 2 เรื่อง คือ 1. การจัดสรรคลื่นความถี่โดยการประมูล ต้องคำนึงถึงประโยชน์ผู้บริโภคสูงสุด และ 2. สภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมซึ่งสภาพความเป็นจริง ผู้ให้บริการหลายราย ทุ่มเงินในการประมูลและลงทุนโครงข่ายไปยังเครือข่าย 3จี จะส่งผลต่อสภาวะความพร้อมในการลงทุนของผู้ประกอบการ ส่วนผู้ใช้เองก็ยังไม่พร้อมใช้เทคโนโลยี 4จี เพราะฉะนั้น การเร่งประมูล จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่่ตรงจุด ซึ่งปัญหาจริง ๆ อยู่ที่การโอนย้ายลูกค้า กลุ่มที่ยังค้างอยู่ในระบบ
นอกจากนี้ กสทช. ได้ดำเนินการยกร่างประกาศเพื่อหามาตรการคุ้มครองฯ การประเมินมูลค่าคลื่นและร่างกฎกติการในการประมูล โดยได้ความร่วมมือจากสหภาพโทรคมนาคมระกว่างประเทศ (ไอทียู) ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดนำคลื่น 900 MHz ออกมาประมูลพร้อมกับคลื่น 1800 MHz จำนวน 25 MHz เพื่อให้เปิดประมูลเป็นแพจเก็จเดียวกัน โดยไม่ต้องรอคลื่น 900 MHz ครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปีหน้า เพื่อสร้างแรงจูงใจ และให้เอกชนที่ได้รับสัมปทานได้เตรียมตัววางระบบรองรับลูกค้าผู้ใช้บริการ และไม่เกิดปัญหารอยต่อเหมือนกับคลื่น 1800 MHz
...
สำหรับ กรณีที่อาจขัดต่อประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม และเรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2549 และอาจขัดต่อประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามประกาศข้อ 6 ที่ระบุว่า การคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสิทธิของผู้ใช้บริการ และข้อ 9 กำหนดว่า ในการขอโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้ผู้ใช้บริการยื่นคำขอ เพราะข้อกำหนดของบริษัทกลับกลายเป็น ใครไม่อยากถูกโอนย้ายต้องเป็นฝ่ายยื่นเรื่อง หากอยู่เฉยเท่ากับยอมรับการโอนย้ายอัตโนมัติ นั้น พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้มอบให้ ให้สำนักงาน กสทช. นำไปตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุว่าผิดหรือถูก ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในการประชุมบอร์ด กทค. วันที่ 17 ก.ย. นี้
นี่คือ ข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) ที่ทรูมูฟส่งถึงผู้ใช้บริการ ตั้งแต่วันที่ 19ส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า กสทช. ได้กำหนดให้บริษัทแจ้งว่าการให้บริการของบริษัทในคลื่น 1800 MHz จะสิ้นสุดลง 15 ก.ย. และจะใช้งานต่อได้ไม่เกิน 15 ก.ย. 2557 และเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทจะดำเนินการอัพเกรดเลขหมายให้เป็นทรูมูฟเอชโดยอัตโนมัติก่อนวันสิ้นบริการ 15 ก.ย. 2556 สำหรับกรณีไม่ต้องการอัพเกรดเพื่อรับสิทธิจะต้องโทร.แจ้ง หรือสอบถามรายละเอียดได้
...
แม้ว่าที่ผ่านมา กทค. จะออกคำสั่งให้ผู้ที่อยู่ใต้สัมปทาน อย่างทรู และดีพีซี ส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) แจ้งลูกค้าให้รับทราบ และสำนักงาน กสทช. ก็ประชาสัมพันธ์ควบคู่กันไป แต่ดูเหมือนว่าประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่ได้รับรู้
นางนัด ลูกจ้างชั่วคราวบริษัทย่านวัชรพล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาใช้บริการค่ายทรูมาตลอด ได้ยินข่าวว่าจะมีซิมดับ แต่ไม่ได้สนใจ เพราะไม่เคยมีใครแจ้งเตือน หรือบอกล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้น เมื่อไร และส่วนตัวก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ทั้งนี้ หากซิมดับขึ้นมาจริงๆ ก็คงเดือดร้อน และต้องการให้ฝ่ายใดก็ได้ที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนก่อนล่วงหน้า
"ใช้ทรูอยู่ แต่ไม่เห็นบอกอะไรเลย ไม่รู้เรื่องว่าซิมดับ คืออะไร แต่หากซิมดับก็คงเดือดร้อน เพราะมีใช้งานอยุู่เบอร์เดียว" ลูกจ้างชั่วคราว กล่าว
นางฐิญาพร โกศัยดิลก ประชาสัมพันธ์ บริษัทเอกชนย่านประตูน้ำ กล่าวว่า ไม่เคยได้ข่าวซิมดับ รู้แค่ว่าวันใช้งาน ยดเงินคงเหลือ และวันหมดอายุเท่านั้น ซึ่งหากเกิดซิมดับขึ้นมาก็คงงง และรีบโทร.ถามคอลเซ็นเตอร์ หรือไม่ก็ไปที่ศูนย์บริการตามห้างสรรพสินค้าเพื่อสอบถามข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น และอาจจะดูข้อมูลในเว็บพันทิป เข้าเว็บบอร์ดสอบถามว่ามีใครที่เจอกรณีแบบนี้บ้าง
ส่วนกรณีการแจ้งเตือนผ่านเอสเอ็มเอสนั้น เคยได้รับเพียงข้อเดียวคือ เปลี่ยนระบบมาเป็นทรูมูฟอัตโนมัติ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับซิมดับหรือไม่ นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า หากมีซิมดับก็ควรแจ้งให้ผู้ใช้ทราบล่วงหน้าก่อนตัด โดยวิธีโทรมาบอกซึ่งจะดีกว่าการส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือน เพราะหากมีข้อสงสัยจะได้สอบถามรายละเอียดได้
อาจารย์สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ระบุว่า รับทราบข่าวสารเรื่องซิมดับผ่านทางสื่อมวลชน และเว็บไซต์ และรู้มาก่อนระยะหนึ่งแล้วจากเอสเอ็มเอสที่ได้รับจากโอเปอร์เตอร์ ซึ่งส่วนตัวไม่มีความกังวลมากนักหากซิมดับขึ้นมาจริง เพราะไม่ได้ใช้เป็นเบอร์ติดต่อหลัก แต่กังวลในส่วนของการคิดค่าบริการระหว่างผู้ให้บริการ ว่าจะคิดค่าบริการอย่างไร จะคิดค่าบริการเต็มเดือน แต่ใช้งานจริงแค่ 15 วัน ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้หรือไม่
...
อีกทั้ง ยังมองว่า หากผู้บริโภคไม่รู้เรื่องแล้วซิมดับ ความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอนในการสื่อสาร คนทำธุรกิจจะมีความเสียหายในแง่การทำธุรกิจ ส่วนคนทำงานทั่วไปก็จะมีปัญหาในการติดต่อการสื่อสารระหว่างกัน หากมีเรื่องเร่งด่วน
"ขอฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กสทช. และโอเปอร์เรเตอร์ ดูแลในการแก้ไขปัญหาให้มีการเปลี่ยนผ่านโดยไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นผู้บริโภคเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง และการปรับเปลี่ยนนั้นให้มีการตรวจเช็คค่าบริการ ว่าเป็นธรรมต่อผู้บริโภค" อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ฯ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ วันพรุ่งนี้ (16 ก.ย.) "16 กันยา สตาร์ตมาตรการเยียวยาวันแรก มั่นใจใช้ได้ต่อเนื่องซิมไม่ดับ" เวลา 11.00 น. ณ สำนักงาน กสทช.