สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดันโครงการโซลาร์เซลล์ชุมชนเพื่อถิ่นทุรกันดาร รุกหน้าคืนแสงสว่างนำร่อง ต.บ้านดง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก 16 หมู่บ้าน 2,800 ครัวเรือน...
นายถวิล พึ่งมา อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ด้วยภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกเผชิญส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมต่อห่วงโซ่พลังงานนั้น การประหยัดพลังงานและหันมาใช้พลังงานทางเลือก จึงเป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนได้เข้ามาร่วมมือและผลักดันให้เกิดความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น พระจอมเกล้าลาดกระบัง ตระหนักถึงการพัฒนาและนำพลังงานทางเลือกมาใช้ ด้วยการคิดค้นและวิจัยพลังงานทางเลือกที่มีความสำคัญและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า คือ พลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีการใช้เซลล์แสงอาทิตย์จากการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง
...
อธิการบดี สจล. กล่าวต่อว่า การติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยได้ติดตั้งและใช้งานอย่างจริงจังในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งนโยบายการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ยังได้ถูกบรรจุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สถาบันจึงร่วมส่งเสริม สนับสนุนให้นักวิจัยพัฒนาการผลิตพลังงานจากแหล่งธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ผลงานดังกล่าวสู่การให้ความช่วยเหลือแก่สังคมและชุมชน ตลอดจนนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมีคณะวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินโครงการระบบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชนบท
นายวรการ นียากร ประธานสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. และประธานโครงการระบบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชนบท กล่าวว่า การติดตั้งการใช้งานระบบไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์นั้น ส่วนใหญ่เป็นการใช้งานในพื้นที่ทุรกันดารและไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง ซึ่งหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าวคือ ตำบลบ้านดง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งพื้นที่นี้มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 16 หมู่บ้าน 2,800 ครัวเรือน โดยทุกหมู่บ้านนั้นมีไฟฟ้าใช้ แต่ไม่ครบทุกครัวเรือน ในส่วนของครัวเรือนที่มีไฟฟ้าใช้จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ตามนโยบายรัฐบาลนั้น ก็มีการเสื่อมสภาพและเสียหายของอุปกรณ์การควบคุมการประจุแบตเตอร์รี่และเครื่องแปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสสลับ ไม่สามารถใช้งานได้ ด้วยเหตุนี้ จึงนำโครงการระบบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชนบทเข้าไปช่วยเหลือชุมชนดังกล่าว
ประธานสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. กล่าวต่อว่า โครงการนี้เป็นลักษณะของโครงการต่อเนื่อง ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ผ่านการดำเนินโครงการใน 2 ลักษณะ คือ 1. การติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะพลังงานแสงอาทิตย์บริเวณถนน ทางโค้ง และจุดอับ 2. การติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในครัวเรือน พร้อมการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ด้วย เนื่องจากพบว่า ในการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการติดตั้ง ขาดการบำรุงรักษา และขาดความเข้าใจการใช้งานที่ถูกต้อง ซึ่งหากประชาชนได้รับความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ก็จะสามารถยืดอายุการใช้งานของระบบฯ ต่อไปได้
นายวรการ กล่าวอีกว่า ทางสาขาวิชาฟิสิกส์ ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้น โดยมีอาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่าเข้าลงพื้นที่ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว โดยในปีที่ 1 คณะทำงานได้ดำเนินการทำฐานและติดตั้งเสาไฟบริเวณจุดอับในหมู่บ้านและถนนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง จำนวน 15 จุด โดยนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์มาประกอบกับเสา ปรับมุมให้เหมาะสม นอกจากนี้ได้ดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างให้กับครัวเรือนจำนวน 23 ครัวเรือน โดยในส่วนนี้ ทางสาขาได้จัดทำตัวควบคุมการประจุ แบตเตอร์รีขึ้นเอง เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้จากการเรียนมาปฏิบัติจริง ตลอดจนการจัดอบรม ให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างถูกวิธี เพื่อการนำไปใช้อย่างถูกต้อง
...
อย่างไรก็ตาม เพื่อความต่อเนื่องของโครงการ และเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้สามารถนำความรู้ที่ได้จากชั้นเรียนไปปฏิบัติจริง ในปีที่ 2 นี้ สถาบันฯ โดยคณะวิทยาศาสตร์จึงสานต่อโครงการโดยการสำรวจพื้นที่รวมกับทาง อบต. บ้านดง โดยทำการติดตั้งเสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 15 จุด และในครัวเรือนจำนวน 10 หลังคาเรือน
นอกจากนี้ ยังจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้และปลูกฝังเจตคติที่ดีด้านพลังงานทางเลือกให้กับโรงเรียนต่างๆในชุมชน สำหรับในปีที่ 3-5 ทางคณะทำงานจะดำเนินการต่อยอดโครงการด้วยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้พลังงานทางเลือก การพัฒนาระบบไฟฟ้าส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้แหล่งกำเนิดแสงแอลอีดีและทดลองติดตั้งให้กับชุมชนเพิ่มเติม พร้อมติดตั้งระบบการดูแลรักษาและซ่อมแซมและถ่ายทอดความรู้นั้นให้ชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพจนพัฒนาไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็ง
...
นายรู้ จันทะคุณ นายกองค์การบริหารส่วนต.บ้านดง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ สจล. ได้ลงพื้นที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนอย่างเต็มที่ ในการดำเนินการติดตั้งระบบไฟส่องสว่างทั้งทางสาธารณะและครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 16 หมู่บ้านในเขตพื้นที่ตำบลบ้านดง ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนไฟฟ้า เพราะในบางพื้นที่นั้นไกลมาก ไฟฟ้าไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่พอหารือกับทางคณะ จึงได้ทีมอาจารย์ และนักศึกษาเข้ามาช่วยเหลือในการนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์กลับมาใช้งานใหม่และกำเนิดเป็นแสงไฟฟ้าขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
ทั้งนี้ หลังจากที่ทีมงานได้ลงพื้นที่และติดตั้งระบบไฟฟ้าให้กับชุมชน ทางคณะทำงานยังได้เข้ามาสอนวิธีการใช้งาน การดูแลรักษาตัวแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้แต่ละครัวเรือนในหมู่บ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านและทีมงานขององค์การบริหารส่วนตำบล เริ่มเรียนรู้วิธีการดูแลรักษาได้เอง และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวแผงได้ ในฐานะของผู้นำชุมชน รู้สึกดีใจที่มีนักวิจัยและนักศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถ ได้นำความรู้ ความสามารถเหล่านั้นมาช่วยพัฒนาชุมชน ทำให้ชุมชนมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น และชุมชนเองก็มีความเข้มแข็งขึ้น สามารถดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไปได้
สำหรับ ประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 0-2329-8400 ถึง 8411 ต่อ 285, 286
...