เมื่อครั้งอ่านพงศาวดารจีน หลายครั้งมักพบเห็นคำว่า “18 ศัสตราวุธ” อยู่เนืองๆว่า บุคคลคนนี้ นายทหารท่านนั้น มีความเจนจัดในอาวุธทั้งสิบแปด อ่านดูแล้วก็ชวนให้นึกถึงศิลปศาสตร์ 18 ประการของอินเดียจากพุทธประวัติเหมือนกัน ดูท่าว่า 18 ศัสตราวุธนี้ก็คงหมายถึงผู้แตกฉานในอาวุธทั้งสิบแปดชนิดกระมัง ว่าแต่ในจำนวนนี้มีอาวุธใดกันบ้าง? ผู้เขียนนึกถึงเรื่อง “ฤทธิ์มีดสั้น” ก็เห็นมีทำเนียบอาวุธของแปะเฮียวเซ็ง แต่นั่นก็ไม่ใช่ 18 ทำเนียบศัสตราวุธจีนจริงๆอยู่ดี เป็นแต่ลำดับอาวุธที่โกวเล้งประพันธ์ขึ้นมา

ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนสัปดาห์นี้ จึงขอนำเรื่องราวของศาสตราโบราณมานำเสนอต่อแฟนานุแฟน คำว่า “18 ศัสตราวุธ” (十八般武器) นั้น แปลตามอักษรจะได้ความว่า ตำรับรายชื่ออาวุธทั้ง 18 ชนิด แต่ในบรรดาศัสตราวุธที่ถูกบันทึกลงทำเนียบนั้น แท้จริงแล้วก็คลุมเครืออยู่ไม่น้อย เนื่องเพราะตำราแต่ละเล่มกล่าวแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วจะแบ่งออกเป็น 9 อาวุธยาว 9 อาวุธสั้น แตกต่างกันที่อาวุธบางชนิดเท่านั้น


เหตุที่อาวุธทั้งสิบแปดไม่อาจระบุได้ลงตัวสักทีนั้น เพราะสงครามแต่ละครั้งย่อมมีคนคิดอาวุธใหม่ๆพัฒนาขึ้นจากเดิม คนฝึกอาวุธที่คิดสร้างอาวุธใหม่ที่ถนัดสำหรับตัวเองเพิ่มเติมก็มี อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นยุคราชวงศ์ชิง นักรบจับดาบถือทวนก็หันมาใช้อาวุธใหม่ของตะวันตก เมื่อจีนเปลี่ยนยุคสมัย อาวุธโบราณทั้งปวงก็โรยรายุติบทบาทมาแต่นั้น ทำให้ปัจจุบันสามารถจำแนกอาวุธโบราณเหล่านี้ได้เป็นหมวดหมู่ชัดเจน ในตำราอาวุธของ ดร.หยางจุน หมิง ได้แบ่งอาวุธจีนโบราณออกเป็น 4 หมวด คือ อาวุธยาว, อาวุธสั้น, อาวุธอ่อน, อาวุธซัด

ทั้งนี้ก็โดยยึดหลัก “9 อาวุธยาว 9 อาวุธสั้น” เป็นสำคัญ แม้ว่าจะมีอาวุธพิศดารนอกสารบบอื่นๆที่น่าตื่นตาตื่นใจมากมายในตำราเล่มนั้นก็ตาม ผู้เขียนขอเล่าถึงอาวุธสำคัญทั้งสิบแปดที่ควรรู้เอาไว้ก่อน





เก้าอาวุธยาว

ทวน (槍) มีคำกล่าวจีนว่า “ทวนคือราชาอาวุธยาว” เป็นอาวุธยาวที่ค่อนข้างเบา จึงใช้กระบวนท่าได้พลิกแพลงหลากหลาย ใช้ได้ทั้งบนหลังม้าและเดินราบ ตัวทวนเป็นโลหะแหลมยาว สวมเข้ากับด้ามทวนที่ทำจากไม้หรือโลหะ โคนทวนมักติดพู่ขนสัตว์เช่น หางม้า ขนจามรีเป็นต้น ประเภทของทวนนั้นมีมากมาย เช่น ทวนตะขอเกี่ยว มีตะขอยื่นออกมาจากตัวทวนเพื่อใช้เกี่ยวขาม้า ทวนหัวคู่ ติดหัวทวนที่ปลายทั้งสองข้าง ทวนหัวอีกา ปลายทวนทั้งแหลมและยาวเหมาะแก่การแทง เป็นต้น

ทวนวงเดือน (戟) ชาวจีนเรียกชื่ออาวุธนี้ว่า “จี๋” มีปลายยาวแหลม ด้านข้างตีโลหะเป็นรูปเสี้ยวจันทร์เอาไว้ จึงใช้ทั้งแทงทั้งฟันได้ ในพงศาวดารจีน ขุนพลที่ใช้อาวุธนี้เด่นๆคือลิโป้ในยุคสามก๊ก ซิยิ่นกุ้ยในยุคราชวงศ์ถัง ทวนวงเดือนที่สำคัญมีอยู่ 2 ชนิดคือ ทวนวงเดือนกรีดฟ้าที่มีเสี้ยวจันทร์ทั้งสองข้าง และทวนวงเดือนมังกรเขียวที่มีเสี้ยวจันทร์ข้างเดียว

พลอง อาวุธยาวๆอย่างกระบอง (棒) และพลอง (棍) ของจีนนั้นแตกต่างกัน ไทยเราอาจใช้คำว่าพลองกับกระบองแทนความกันได้ แต่ในจีนนั้นจำแนกพลองออกจากกระบองชัดเจน พลองคือท่อนไม้หรือโลหะยาว มักทำให้ผิวเรียบทั้งอัน เพราะวิชาพลองจีนมักต้องรูดมือตามความยาวพลองเพื่อพลิกแพลงกระบวนท่า ส่วนกระบองนั้น ด้านใดด้านหนึ่งต้องติดหัวกระบองรูปทรงต่างๆเช่น กระบองหัวฟักก็ติดหัวกระบองรูปฟักแตง กระบองช่อหนามก็ติดหัวกระบองรูปร่างคล้ายทุเรียน

ขวานศึก (鉞) ขวานศึกชาวจีนเรียกว่า “เย่” ในพิชัยยุทธ์ซือหม่าฝ่า อธิบายว่า ยุคราชวงศ์เซี่ย-ซาง-โจว 3 ราช-วงศ์นี้ ขวานเป็นดั่งตราอาญา -สิทธิ์ทางการทหารที่แม่ทัพ ใหญ่ต้องได้รับพระ ราชทานก่อนออกรบขวานศึกมีด้ามยาว ปลายหนึ่งติดหัว ขวานเหล็ก อีกปลายหนึ่งติดตุ้มเหล็ก เพื่อถ่วงน้ำหนักหรือติดเหล็กแหลมเพื่อใช้เป็นอาวุธเพิ่มก็มี

สามง่าม (叉) อาวุธนี้ติดหัวโลหะรูปแหลมเป็นซี่ๆ รูปทรงของสามง่ามเหมาะกับใช้แทงหรือขว้างซัดเพื่อตรึงเป้าหมายให้อยู่กับที่ สามง่ามมีหลายชนิด เช่น ง่ามม้า ง่ามอัคคี

หอกง่าม (钂) อาวุธนี้ชาวจีนเรียกชื่อว่า “ตั่ง” นิยมใช้มากในสมัยราชวงศ์หมิง โดยเฉพาะช่วงปราบโจรสลัดญี่ปุ่น แม่ทัพชีจี้กวงแห่งราชวงศ์หมิงได้แบ่งพลทหารเป็นขบวนเล็กๆ เพื่อกระจายกันสำรวจตรวจตราท้องที่ต่างๆโดยวางให้พลหอกง่ามรั้งท้ายทุกขบวนทัพเสมอ

ตะขอ (鉤) และ กรงเล็บ (抓) ใช้เกี่ยว ตะกุย แต่ด้ามยาวๆใช้ไม่สะดวกเท่าใด ในยุคหลังๆจึงพัฒนาเป็นอาวุธอ่อน คือ ติดตะขอกับโซ่บ้าง เชือกบ้าง เพื่อใช้ฉุดดึงคนที่อยู่ไกลๆบ้าง ใช้เป็นเครื่องมือป่ายปีนบ้าง

แหลนยาว (槊) และ หอก (矛) แหลนเป็นอาวุธยาว ปลายไม่มีคม ส่วนหอกเป็นอาวุธยาวมาก ในบรรดาอาวุธยาวทั้งเก้านับว่าหอกยาวที่สุด หอกงูจ้างแปดของเตียวหุยแห่งสามก๊กนั้น ยาว 1 จ้าง 8 ชุ่น คือยาวเกือบ 360 ซม. หอกบางเล่มยาวถึง 5 เมตรก็มี

...

ง้าว (大刀) จีนเรียกมีด ดาบ และง้าวด้วยคำว่า “ตาว” เหมือนกัน เพราะรูปทรงคล้ายกัน ง้าวจีนคือดาบที่ด้ามยาว และง้าวบางเล่มตัวใบดาบก็ยาวกว่าดาบปกติ ง้าวที่คนไทยคุ้นกันคือ ง้าวใหญ่ที่กวนอูใช้ แต่แท้จริงแล้วง้าวมีหลายชนิดเช่น ง้าวงวงช้าง ง้าวผอม ง้าวปลายคิ้ว เป็นต้น


เก้าอาวุธสั้น

ขณะที่อาวุธยาวเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญในศึกสงคราม อาวุธสั้นก็เป็นอาวุธที่นิยมในหมู่ชาวยุทธจักร เนื่องเพราะพกพาสะดวกและคล่องตัวในการสัประยุทธ์ระยะประชิดมากกว่า

ดาบ (刀) ดาบเป็นอาวุธสั้นพื้นฐานสำคัญ คนฝึกมวยจีน หากฝึกอาวุธมักต้องฝึกดาบเป็นอย่างแรก ดาบมีหนึ่งคมหนึ่งสัน รูปทรงโค้งเอียง มีโกร่งดาบกลมแบนจึงมักใช้ฟันเป็นหลัก เป็นอาวุธสำคัญของทหารราบ เนื่องจากใช้เวลาฝึกฝนไม่นานนักก็ใช้การได้แล้ว

กระบี่ (劍) กระบี่มีหนึ่งปลายสองคม ตรง เบา การใช้กระบี่นั้นไม่ต้องเงื้อมือ ใช้ได้ทั้งแทงและเฉือน ดังนั้นเคล็ดการใช้กระบี่จึงพลิกแพลงและลึกซึ้งกว่าอาวุธอื่นๆ ถึงกับมีคำกล่าวว่า “ฝึกดาบ 1 ปี ฝึกกระบี่ 10 ปี” ชาวจีนนับกระบี่เป็นจ้าวศัสตราวุธทั้งปวง

ไม้เท้า (拐) ไม้เท้าที่ใช้เป็นอาวุธมีทั้งที่เป็นแบบไม้ตะพดบ้านเรา หรือรูปร่างแบบทอนฟาคือเป็นท่อนไม้มีด้ามจับยื่นออกมา ไม้เท้ามีหลายชนิด เช่น ไม้เท้าแขนเดียว ไม้เท้านกเป็ดน้ำ ไม้เท้าซุนปิน

ขวาน (斧) ขวานสั้นนี้ชาวจีนเรียกว่า “ฝู่” ข้อแตกต่างจากขวานศึกคือ ฝู่เป็นขวานสั้น ทหารม้าใช้ขวานศึก ทหารราบใช้ขวานสั้น และมักใช้เป็นขวานคู่ เพราะขวานหนัก ถือจับเป็นคู่จะสมดุลกว่า ขวานสั้นมีหลายชนิดเช่น ขวานหัวหงส์ ขวานง้อไบ๊

แส้เหล็ก (鞭) คำว่าแส้นี้ คนอ่านนิยายกำลังภายในมักเข้าใจว่า แส้ คืออาวุธยาว ทำจากหนังสัตว์ ใช้หวดฟาดแบบพระเอกหนังอินเดียน่า โจนส์ ความเข้าใจนี้ไม่ผิด เพราะจีนก็มีแส้แบบนั้นอยู่ เรียกว่า แส้อ่อน จัดอยู่ในทำเนียบอาวุธอ่อน ขณะที่แส้แข็งจัดอยู่ในทำเนียบอาวุธสั้น แส้แข็งหรือแส้เหล็กนี้ คนไทยไม่คุ้น เพราะอาวุธบ้านเราไม่มีอย่างนี้ อ่านนิยายจีนก็ไม่เห็นจะมีพระเอกใช้อาวุธแบบนี้ อาจจะคุ้นบ้างเวลาไปวัดจีนเห็นเทพบางองค์ถืออาวุธเหมือนกระบองเป็นข้อๆ นั่นเองที่เรียกว่า แส้เหล็ก

เหล็กท่อน (鐧) รูปร่างคล้ายแส้เหล็ก ชาวจีนเรียกว่า “กั้ง” แต่ไม่มีข้อหรือปล้อง ปราศจากคมและปลายแหลม จึงมักสร้างให้มีรูปทรงคล้ายเจดีย์คือ มุมเหลี่ยม เหมาะแก่การใช้ตี และกระทุ้งเป็นสำคัญ เทียบแล้วก็คล้ายกับคมแฝกบ้านเรา

ค้อน (錘) ค้อนนี้รูปทรงคล้ายกับค้อนที่ ใช้ตอกตะปูทั่วไป ต่างตรงที่ด้ามจะยาวกว่า เพราะ หัวค้อนใหญ่กว่าค้อนทั่วไปจึงต้องใช้แรงเหวี่ยงมากกว่า หัวค้อนนั้นเดิมทำจาก ไม้ ต่อมาจึงใช้โลหะแทน ค้อนมีหลายชนิดเช่น ค้อนแปดเหลี่ยม ค้อนเทพอัสนี ค้อนฟักทอง


กระบอง (棒) กระบองนั้นมีทั้งยาวและสั้น กระบองสั้นนั้นหนักและหัวกระบองมักมีหนาม ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อาวุธนี้สร้างขึ้นเพื่อล่าสัตว์ กระบองสั้นมีหลายชนิด เช่น กระบองเขี้ยวหมาป่า กระบองช่อหนาม เป็นต้น

สาก (杵) เดิม ทำจากไม้ ชาวนาใช้ตำข้าวหรือธัญพืช ใช้ตีเสื้อเวลาซักผ้า ต่อมาจึงใช้เป็นอาวุธป้องกัน
โจรผู้ร้าย ในทางพุทธศาสนาสายมหายาน สากเป็นอาวุธประจำของเว่ยถัว (韋馱) หรือพระเวทโพธิสัตว์ เป็นเทพธรรมบาลผู้ปกป้องพุทธศาสนา

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่ว่าหวังจะให้ท่านทั้งหลายเจนจบในอาวุธ ไปสู้รบปรบมือแต่อย่างใด แค่หวังเพียงว่าจะช่วยแก้ข้อข้องคาใจหรือไปเพิ่มอรรถรสแก่ท่านที่ชื่นชอบในนิยายหรือละครจีนกำลังภายใน หากท่านต้องการอ่านเนื้อความทั้งหมดก็ติดตามได้จากนิตยสารต่วย’ตูนพิเศษ ฉบับมิถุนายนนี้.

...

โดย... ฮ.ศุภวุฒิ จันทสาโร
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน