กรรมการมรดกโลกมีมติเอกฉันท์ 21 เสียง พิจารณารับรอง "วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช" เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นมรดกโลกแล้ว เข้าตามเกณฑ์ 3 ข้อ เป็นตัวแทนผลงานที่เป็นเลิศของการสร้างจากอัจฉริยะของมนุษย์ แสดงคุณค่าด้านสถาปัตยกรรม และมีความสัมพันธ์กับประเพณีที่ยังคงอยู่ กรมศิลป์เดินหน้าจัดทำเอกสารก่อนเสนอมรดกโลก ในปี 2558...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. เวลา 09.48 น.ตามเวลาท้องถิ่น ทีี่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 37 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา มีมติเอกฉันท์ 21 เสียง พิจารณารับรองวาระ 8A ในการเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เข้าสู่บัญชีเบื้องต้น ก่อนที่จะเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเรียบร้อยแล้ว ตามที่ประเทศไทยนำเสนอ โดยพิจารณาเข้าหลักเกณฑ์ ข้อที่ 1 เป็นตัวแทนผลงานที่เป็นเลิศของการสร้างจากอัจฉริยะของมนุษย์ เนื่องจากวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เป็นสิ่งที่ตัวแทนของระบบความเชื่อทางพระพุทธศาสนาผ่านทางแผนผังและการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยได้แบ่งขอบเขตพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน มีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นประธานของวัด บรรดาสถาปัตยกรรมและการประดับอาคารอุดมไปด้วยการสื่อความหมายปรัชญาทางพระพุทธศาสนาและพุทธประวัติ ซึ่งแสดงถึงแนวคิดของการออกแบบจากอัจฉริยภาพของมนุษย์ ขณะเดียวกัน พระบรมธาตุเจดีย์ ไม่เพียงเป็นผลงานที่เป็นเลิศของเจดีย์ทรงระฆังในทางพระพุทธศาสนา แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ที่ได้นำรูปแบบเจดีย์ทรงระฆังไปสร้างยังดินแดนที่ไกลออกไป ดังนั้น แนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุเจดีย์แสดงถึงผลงานชั้นเลิศ ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากอัจฉริยะของมนุษย์ที่ปรากฏทางฝีมือช่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ส่วนหลักเกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นการแสดงถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของมนุษย์ตามกาลเวลา หรือในวัฒนธรรมด้านใดด้านหนึ่งของโลก ในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี ศิลปะสถาปัตยกรรมโบราณ การออกแบบผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์ โดยพระบรมธาตุเจดีย์ ยังคงรักษาความครบถ้วนสมบูรณ์ของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมในสมัยแรกสร้าง เมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 รูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะลังกา ตามแบบอย่างคติของพุทธศิลป์ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

...

อย่างไรก็ตาม องค์ระฆังได้มีการลดส่วนของความกว้างลง จึงทำให้องค์ระฆังเพรียวขึ้น ดังนั้น ทรวดทรงองค์ระฆังของพระบรมธาตุเจดีย์เป็นรูปลักษณ์ที่แตกต่างไปจากศิลปะลังกา สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการผสมผสานระหว่างลักษณะท้องถิ่นและต้นแบบของสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา ยิ่งไปกว่านั้น สัดส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความสูงและความกว้างเท่ากับ 2:1 (สูง 28 วา กว้าง 1 วา) ซึ่งมีที่มาของความหมายครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งลักษณะทางกายภาพและจิตวิญญาณ ตามปรัชญาทางพระพุทธศาสนา คือ รูปธรรม 28 และวิญญาณ 14 ดังนั้น ความสูงของพระสถูปจึงเป็นตัวแทนในประการแรก และความกว้างของพระสถูปเป็นประการหลัง ทั้งนี้ ในสมัยโบราณสถูปทรงระฆังถือว่าเป็นแบบอย่างของสถูป วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร มีบทบาทในฐานะเป็นสื่อกลางในการ เผยแผ่วัฒนธรรมของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทและศิลปะเหล่านี้ไปทั่วทั้งดินแดน คาบสมุทรภาคใต้ และไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทยในช่วงเวลาหลังจากนั้นมา เช่น อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา ซึ่งยืนยันได้จากรูปแบบของสถูปเจดีย์ที่มีอยู่อย่างดาษดื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า และสุดท้ายเข้าหลักเกณฑ์ข้อที่ 6 มีความสัมพันธ์โดยตรง หรือเห็นได้ชัดเจนกับเหตุการณ์ หรือประเพณีที่ยังคงอยู่ หรือความคิด หรือความเชื่อ งานศิลปกรรม และวรรณกรรม ที่มีความโดดเด่นเป็นสากล ความเชื่อของผู้คนเกี่ยวกับการศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมสารีริกธาตุ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของพุทธศาสนิกชน ที่จะสั่งสมการสร้างบุญกุศลตามประเพณีในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งด้านวรรณกรรม คีตกรรม และนาฏกรรม สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นของการประกอบพิธีกรรมที่หลากหลาย ซึ่งสัมพันธ์กับประเพณีทางพระพุทธศาสนา พิธีกรรมในการสร้างบุญกุศล ที่ถือว่าเป็นงานพิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของทุกปี อาทิ วันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา ทั้งพุทธศาสนิกชนในท้องถิ่น ทั้งจากภูมิภาคอื่นของประเทศไทยและทั่วโลก ได้ให้เดินทางเข้ามาสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ โดยการเดินเข้าขบวนและนำผ้าพระบฏแต่ละผืนมาต่อเรียงกันไปโดยไม่สิ้นสุด เพื่อนำไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พุทธศาสนิกชนจำนวนมหาศาลที่เข้ามาร่วมพิธีในทุกปี แสดงถึงความศรัทธาที่มีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ที่สืบทอดผ่านกาลเวลาอันยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้รับการอนุรักษ์ตามรูปแบบดั้งเดิม และโดยเฉพาะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าบางส่วนภายในวัดได้ผ่านการปฏิสังขรณ์ตามประเพณีมาแล้วในบางช่วงเวลา ความเชื่อของผู้คนที่มีต่อการเคารพรูปแบบดั้งเดิมของสถาปัตยกรรม ทำให้สามารถรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมของพระบรมธาตุเจดีย์และพุทธ สถาปัตยกรรมภายในวัด เท่ากับเป็นการดำรงอยู่ของศาสนสถานที่ยังมีการใช้สอย เพื่อประกอบพิธีทางพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การแห่ผ้าขึ้นธาตุ ซึ่งได้มีต่อเนื่องมานับหลายร้อยปี ประเพณีนี้มีความโดดเด่นเป็นลักษณะเฉพาะในระดับสากล

ทางด้าน นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า เมื่อได้การพิจารณาเข้าสู่บัญชีเบื้องต้นแล้ว จากนี้ไป กรมศิลปากรและทางจังหวัดนครศรีธรรมราช จะต้องเร่งจัดทำเอกสารการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หรือ nomination dossier เพื่อให้ทันต่อการเสนอวัดพระมหาธาตุฯ นครศรีธรรมราช ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ในปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นงานหนักพอสมควร เนื่องจากต้องมีความครบถ้วนของข้อมูล รวมทั้งสร้างแผนบริหารจัดการวัดพระมหาธาตุฯ ให้สมบูรณ์ที่สุด.