“ลูกชิด” ใครๆ ก็รู้จัก...แล้ว “ลูกชก” ล่ะ จะมีคนจังหวัดไหนบ้างที่รู้จัก

แต่คนฝั่งอันดามันรู้จักดี...เป็นต้นไม้ลักษณะคล้ายต้นปาล์ม ชอบขึ้นตามแนวภูเขาหิน มีลำต้นตรง โตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่กว่าต้นตาล สูงประมาณ 20-25 เมตร ใบยาวประมาณ 3 เมตร คล้ายใบมะพร้าวแต่ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่า ก้านใบ ทางใบเหยียดตรงกว่ามะพร้าว มีรกสีดำตามกาบใบหนาแน่น


ดอกหรืองวงของต้นชก จะออกบริเวณส่วนบนใกล้ยอดของลำต้น มีก้านดอกห้อยเป็นพวงยาว 3-5 เมตร ผลคล้ายลูกตาลขนาดจิ๋ว ออกผลเป็นทะลายเนื้อ ภายในผลมี 3 เมล็ด

ต้นตัวเมียปีหนึ่งให้ดอกออกผล 1 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ส่วนต้นตัวผู้มีดอกแต่ไม่มีผล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เชิงเขาหรือเนินเขาเตี้ยๆ ในป่าเขตร้อนชื้น... มีมากเป็นพิเศษในพื้นที่ ต.บางเตย อ.เมืองพังงา

ชาวบ้านที่มีความชำนาญในการปีนป่าย จะขึ้นไปตัดเอาผลของลูกชกลงมา ท่ามกลางเสียงร้องเพลงให้กำลังใจเชียร์ของเพื่อนบ้านที่อยู่ใต้ต้น...เป็นประเพณีประจำถิ่น ที่เชื่อว่าต้นชกจะให้ผลผลิตดี หากมีเสียงเพลงให้ความรักความเอาใจใส่ดูแลต้นชก

...


ผลผลิตจากต้นชกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย... เนื้อเมล็ดใช้รับประทานเป็นของหวาน แต่ก่อนรับประทานต้องนำไปเผาไฟ ผ่าแคะเอาเนื้อออกมา สามารถนำไปทำลูกชกเชื่อมหวานหอมชวนรับประทาน เนื้อนุ่มกว่าลูกชิด...ยอดอ่อนใช้ทำอาหารได้ทั้งคาวและหวาน...งวงหรือดอก ใช้ทำน้ำตาลชกสด นำเคี่ยวจนกลายเป็นน้ำตาลเหนียวหนืด

นายสมคิด อารีชนม์ ผู้ใหญ่ บ้านบางเตยใต้ บอกว่า ต้นตาลชกเป็นผลผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ ที่ชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาของตัวเองมาทำเป็นอาชีพ นอกจากจะทำเป็นอาหารคาวหวานได้มากมาย วันนี้ได้พัฒนาให้กลายเป็นสินค้าโอทอป โดยเฉพาะน้ำตาลชกสด น้ำตาลแว่น และลูกชกเชื่อม สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้ไม่น้อย


ยิ่งช่วงนี้ด้วยแล้ว เกษตรกรบางรายถึงกับยึดต้นชกเป็นอาชีพหลักแทนยางพารา ปาล์มน้ำมันที่มีราคาตกต่ำอยู่ในขณะนี้

ก็ลูกชกสดๆ ขายได้ กก.ละ 100–120 บาท...ดีกว่ายางและปาล์มน้ำมันเป็นไหนๆ.

บรรณารักษ์  จิวะนันทประวัติ