ท่ามกลางปรากฏการณ์ ‘พี่มากพระโขนงฟีเวอร์’ ของ GTH ค่ายหนังฟิลกูด, ด้วยการทุบทุกสถิติของวงการภาพยนตร์ไทยแบบกระจาย กวาดรายได้ไปแล้วใกล้ 500 ล้านบาท พร้อมกับขึ้นแท่นหนังที่ทำเงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยไปอย่างไม่ต้องสงสัย
ทว่า ปรากฏการณ์ฟีเวอร์ดังกล่าวก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และสงสัยว่า หนังผีตลกๆ โปรดักชั่นก็ไม่ได้ใหญ่โตเว่อร์อลังการ พล็อตหนังก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่
ที่สำคัญ ตัวแสดงชูรสหลักก็เป็นชุดเดียว ราวกับผลิตซ้ำกับหนังผีในค่ายเดียวนั่นเอง แต่ทำไมแค่หนังตลกมันจึงกลับทุบและเขียนประวัติศาสตร์ให้กับวงการภาพยนตร์ไทยใหม่ได้ หรือจริงๆรายได้ 500 ล้านบาท เป็นราคาอุปทานหมู่ ชนิดที่เห่อไปตามกระแสสังคมเท่านั้น ไทยรัฐออนไลน์มีคำตอบ
จากสี่แพร่ง ห้าแพร่ง ถึงพี่มากพระโขนงผลิตซ้ำตัวละครเซ็ตเดิม...!
คลิป (สี่แพร่งตอนคนกลาง)
พ.ศ. 2551 "สี่แพร่ง" ภาพยนตร์ดัง ถูกออกฉายสู่สาธารณะ โดยแพร่งที่ 3 ชื่อเรื่อง “คนกลาง” เรื่องย่อมีอยู่ว่าวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง (เต๋อ, เผือก, ชิน และ เอ) ออกไปตั้งเต็นท์กลางป่าลึก พวกเขาล้อมวงเล่าเรื่องผี ทำกิจกรรมห่ามๆ ไร้สาระตามขนบหนังสยองขวัญทุนต่ำทุกประการ แต่ไฉนผีที่พวกเขาประสบพบเจอ กลับเป็นผีที่แหกธรรมเนียมปฏิบัติผีในหนังทุกเรื่องที่พวกเขาเคยดูมา
...
คลิป (ห้าแพร่ง ตอนคนกอง)
พ.ศ. 2552 หนังเสมือนภาคต่อ "5 แพร่ง" แพร่งที่ชื่อคนก่อนคนกอง – เรื่องย่อมีอยู่ว่า เต๋อ, เผือก, ชิน และ เอ เป็นทีมงานหนังผีที่การถ่ายทำดำเนินมาถึงคิวสุดท้าย คืนและฉากสุดท้ายเหลือเพียงสองช็อตสุดท้าย แต่แล้วนักแสดงสาวหน้าใหม่ที่รับบทเป็นผีเกิดหัวใจวายตายกลางกองถ่าย ซวยสุดยอดที่ก่อนหน้านั้นเต๋อดันไปเสร่อทำเท่สอนเธอว่า “The show must go on” เธอจึงกลับมาเพื่อแสดงต่อ ทั้งสี่จึงต้องถ่ายหนังผี ที่มีผีเล่นเป็นผี ให้จบให้จงได้...โดยห้าม ‘พี่ช่า’ (มาช่า วัฒนพานิช) นางเอกของหนังรู้ความจริงเป็นอันขาด...!!!
ล่าสุด พ.ศ. 2556 ภาพยนตร์ที่ทำลายทุกปรากฏการณ์ของวงการภาพยนตร์ไทย เรื่อง ‘พี่มากพระโขนง’ ก็ยังเน้นขาย เต๋อ เผือก ชิน และ เอ ให้เข้ามารับบทนำ แม้เรื่องนี้ตัวบทจะไม่ใช่เรื่องผี 100% เหมือนอย่าง 2 เรื่องข้างต้นก็ตาม แต่รวมๆ แล้วคาแร็กเตอร์และการแสดงของ 4 ตัวนำตัวชูรส ชูโรง ที่สร้างสีสันให้กับหนังที่ถูกกล่าวขานกันมากมาย คาแร็กเตอร์ก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไหร่
ผลิตซ้ำความตลกคือข้อกล่าวหา และน่าสนใจว่า อะไรทำให้ "พี่มากพระโขนง" ทำรายได้ขึ้นไปถึง 500 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่เลย..?
เพราะอุปทานหมู่ ...?
วิกิพีเดีย อธิบายคำนี้ว่า เป็นปรากฏการณ์ทางจิตสังคมอย่างหนึ่ง อุปทานหมู่จึงเป็นประเด็นที่หลายคนสงสัยว่า เราเดินไปดูหนัง พี่มาก เพราะว่ากระแสสังคม กระแสกดดันทำนองว่า “ถ้าไม่ดู คุณจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง…” ทั้งที่ๆ หนังเรื่องนี้เป็นการผลิตซ้ำ โดยใช้ความตลกของนักแสดง 4 ตัวหลัก (หลายคนเรียกพวกเขาทั้ง 4 คนว่าดาราสมทบ 400 ล้าน) ให้กับหนังก่อนหน้า มาสร้างสีสันให้กับหนังเรื่องนี้
สุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Bioscope กล่าวว่า ปรากฏการณ์ "ต้องดูหนัง พี่มากพระโขนง ไม่งั้นจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง" เป็นเรื่องปกติของโลกที่ให้ความสำคัญกับกระแส เหมือนกับละครแรงเงา เหมือนกับเพลงและท่าเต้นกังนัมสไตล์ ฯลฯ
...
“สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ วันนี้เราอยู่ในโลกยุคนี้ที่เห็นการอัพเดตข้อมูลข่าวสารตามบรรดาโซเชียลมีเดียเป็นประจำวันละหลายรอบ ก่อนนอนก็ต้องอัพเดต ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไม่อัพเดตตัวเองไม่ได้ ถ้าไม่ดู คุณก็ถูกถีบออกจากสังคม เราเป็นสัตว์สังคมคงไม่อยากทำตัวแปลกแยกปรากฏการณ์ที่ว่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ”
ขณะที่ อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย กูรู ผู้เชี่ยวชาญการตลาดชื่อดัง เจ้าของฉายา “ขาโหด” ก็ยอมรับด้วยว่า การเดินไปดูหนังเรื่องนี้ตนเองก็ตกอยู่สภาพอุปทานหมู่เช่นกัน
“ปกติผมไม่ค่อยดูหนังไทย เรื่องล่าสุดก็ สุดเขตสเลดเป็ด แต่ที่ไปดูหนังเรื่องนี้เพราะเห็นว่าคนพูดถึงในทวิตเตอร์เยอะ อีกอย่างกระแสแรงขนาดนี้ อยากไปดูกับตา เพราะต้องเอามาสอนมาพูดมาอธิบาย และสิ่งที่ผมพบก็คือ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มีส่วนผสมที่ฉลาดของสไตล์หนังที่คนไทยชอบและมักจะทำรายได้ดี 3 อย่างมารวมกัน”
400 ล้าน++ ไม่ใช่ราคาอุปทานหมู่อย่างเดียว...!
ถัดจากประเด็นเรื่องอุปทานหมู่จากกระแสสังคมโซเชียลและระยะหลังมาฟรีทีวีพูดกันอื้ออึ้งแล้ว หากจะให้วิเคราะห์ไปไกลกว่านั้น กูรูการตลาดผู้นี้มองว่า สาเหตุที่หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมากก็คือ ปัจจัยหลักอีกประการหนึ่งคือ การฉายชนโรงกับหนังฟอร์มยักษ์อย่าง "คู่กรรม" แล้วที่สำคัญเรื่องนี้ มาริโอ้ แสดงได้ดีด้วย จากที่เล่นไม่ได้เรื่อง นางเอกก็เล่นดีมาก โดยเฉพาะทางสายตา
...
“หนัง 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องอมตะทั้งคู่ แต่ คู่กรรม เน้นขาย ณเดชน์ มากไป และนางเอกไม่ได้ เพราะหนังมันต้องส่งถึงกัน แต่เรื่องนี้นางเอกทำไม่ถึง ที่สำคัญมีการเอาบทประพันธ์มายำจนเละ คุณต้องไม่ลืมว่าคู่กรรมเป็นนิยาย แต่แม่นาคเป็นโครงเรื่อง พี่มากเป็นการตีความใหม่ให้มีส่วนผสมของหนังผี–ตลก-รัก จะมองเป็นหนังอย่างไรก็ได้ ซึ่งบทตลกไอ้แก๊ง 4 คนนี่เด่นและถูกพูดถึงมาก เพราะว่าบทพูดมันคือการทอล์กโชว์ คือฮาแทบตลอดเหมือนกับดู โน้ส อุดม ฉากผีก็กลัวกันทั้งโรง พอฉากรักคนมันร้องไห้กัน และปกติฉากส่งท้ายหนังเรื่องอื่นจะตัดฉากหลุดใส่ แต่เรื่องนี้เป็นไคลแม็กซ์ เพราะนางนาคใช้ชีวิตกับคนด้วยกันได้ มันจึงทำให้คนดูเรื่องนี้บอกให้พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา ปู่ ย่ามาดูจะเห็นได้ว่า หนังเรื่องนี้ไม่เพียงเรียกกลุ่มอายุ 18-35 ปี เป้าหมายที่ไปดูหนัง ไปจนถึงกลุ่มอายุ 40-60 ปี ให้ออกมาดูได้ และหนังอะไรที่ทำลายปรากฏการณ์นั้น จะต้องเรียกกลุ่มที่ไม่เคยดูหนัง หรือนานๆ มาดูทีให้ได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปรากฏ การณ์พี่มากเรียกกลุ่มคนอายุ 50-70 ปี ออกมาเพียบ คนกลุ่มนี้ไม่เคยเข้าโรงหนังมา 30 ปีแล้ว บางคนไปดูซ้ำ โดยเฉพาะผู้หญิง ฉะนั้น รายได้หนังเรื่องนี้ 500 ล้านบาทถึงแน่ แต่ 600 ล้านบาทยังต้องลุ้นกัน'
"กระแสความสนุกไม่สนุกที่ถูกส่งต่อปากต่อปาก และไปยังโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ ของทั้ง 2 เรื่องเป็นข้อเปรียบเทียบกันเห็นได้ชัดว่า หนังดีไม่ต้องซื้อเวลารายการตีสิบ รายการทูไนท์โชว์ก็มีคนไปดู" กูรูการตลาดชื่อดังกล่าว
ส่วนบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Bioscope วิเคราะห์ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ไปในแนวทางเดียวกัน และว่า นอกจากกระแสสังคมและการตลาด สามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ครบ ซึ่งแม้ว่ารายได้ปัจจุบัน 400 ล้านบาท++นั้น เกินความคาดหมายในใจตนไปเยอะ ทว่า สิ่งที่น่าสนใจและอยากจะขยายไปอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีรายได้ถล่มทลายก็คือ หนังคู่เปรียบเทียบที่ชนโรงคู่ ทำไม่ดีเมื่อเทียบกับ พี่มากพระโขนง
...
“ผมมองว่าถ้าพี่มากเข้าเดี่ยวๆ อาจจะไม่ได้เงินเยอะขนาดนี้ก็ได้” แต่การเข้าชนกับหนังเรื่องคู่กรรม เหมือนกับการไปส่งให้คนไปดูพี่มากมากขึ้นเรื่อยๆ หันไปพูดไปดูทางไหนเขาก็บอกว่าคู่กรรมไม่ดี พี่มากสนุกกว่า แค่นี้ก็จบ ผมแบ่งคนดูเป็น 3 ประเภท ชุดแรกสัปดาห์แรก หนังอะไรเข้าใหม่ หน้าตาน่าดู ดูทันที พวกที่ 2 รอดูกระแส รออ่านรีวิว ตามเว็บ ตามสื่อ ตามโซเชียลฯ ถามเพื่อนๆ พูดง่ายๆ ไม่ใช่คนดูหนังเป็นอาชีพ และกลุ่ม 3 เรียกพลังเงียบ เช่น แม่บ้านผู้ใหญ่ เด็กเล็กๆ ครอบครัว ลุง ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งกลุ่มนี้ต้องแน่ใจแล้วว่าหนังดีคุ้มค่า ซึ่งกระแสพี่มากมันแรงทุกทิศทาง ทั้งแรกๆ ก็โซเชียลฯ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ระยะหลังๆ ก็เป็นฟรีทีวี ที่ประโคมข่าวรายงานแบบเรียลไทม์ว่า รายได้ทะลุ 100 ล้าน 200 ล้าน ล่าสุดเกือบ 500 ล้าน สิ่งเหล่านี้มันปลุกคนที่ไม่เคยได้มีชีวิตกับโรงหนังมาเป็นปกติ หยุดตัวเองไม่ได้ และไม่อยากจะตกกระแส ก็ต้องแห่กันไปดู”
“คงจะไม่ผิด หากกล่าวว่าการที่หนังที่มีที่ฉายคู่กัน อย่าง คู่กรรม กระแสไม่ดี เสมือนเป็นการอุ้มหนังเรื่อง พี่มากพระโขนง ให้ทำลายทุกสถิติอย่างทุกวันนี้แบบไม่ตั้งใจ...” เจ้าของนิตยสารภาพยนตร์ชื่อดังกล่าว
หนัง 'ตลกไร้สาระ' แต่ขึ้นแท่นทำรายได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย..??
มาถึงอีกหนึ่งข้อครหาเชิงประชดประชันที่ว่า หนังที่ทำรายได้อันดับหนึ่งในประเทศไทย ไม่ใช่หนังที่มีคุณค่าอะไร ก็แค่หนังตลกโปกฮาเท่านั้น..?
ประเด็นนี้ กูรูด้านการตลาดชื่อดัง มองว่า อยากให้ลองเอาหนังเรื่อง พี่มากพระโขนง ไปเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ตลกสัญชาติจีน อย่าง ลอสต์ อิน ไทยแลนด์ ที่สร้างกระแสและรายได้อย่างถล่มทลายเป็นประ วัติศาสตร์ของประเทศจีน เล่าเรื่องตัวเอก 2 คนมาพรีเซนต์เจ้านายที่ประเทศไทย ก็ไม่มีคุณค่าอะไร แต่ก็สร้างรายได้มหาศาล
“การดูหนัง คนดูเขาไม่ต้องการคุณค่าอะไรหรอก คนดูหนังแค่ต้องการความสนุก ความบันเทิง และคนไทยโดยธรรมชาติไม่ใช่คนที่มีสาระมาก แต่คนไทยเป็นคนบันเทิง บันเทิงที่คนไทยชอบมากที่สุดคือ ตลก ไม่อย่างนั้น 3 ช่าจะเดินทางมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร พอทำหนัง 3 ช่าน้อยเรื่องมากที่จะเจ๊ง”
ส่วน กูรูหนังสุดเก๋า มองว่า ในฐานะคนที่อยู่ในวงการนี้มานาน ถ้าเรามองแบบถอยออกมา รู้สึกว่า พี่มากพระโขนง ก็แค่หนังตลกเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่กลับคนที่ไปดูหนังเรื่องนี้ เป็นกลุ่มคนที่เปิดใจพร้อมที่จะไปรับความบันเทิงอยู่แล้ว
“สังคมไทยยังไงก็ชอบความสนุกสนาน ชอบความบันเทิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำงานได้อยู่ มันจึงไม่แปลกที่คนจะดูแล้วรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันคุ้มค่าสำหรับเขา และสิ่งที่ต้องไปลืมก็คือ คนที่ดูพี่มาก ก็คือต้องการแค่ความบันเทิง ต้องการเสียงหัวเราะ พอได้เข้าไปหัวเราะก็รู้สึกว่าคุ้มค่า ไม่เหมือนกับหนังดราม่ามากๆ อย่างกับ คู่กรรม ที่ต้องเสียค่าบัตรไปดูดราม่า ผมว่าเรื่องพี่มากตอบโจทย์คุ้มค่ากับเงินที่เราเสียไป ถามว่าพี่มากหนังตลกโปกฮาไม่มีคุณค่าที่จะขึ้นแท่นทำเงินหนังอันดับ 1 ของประเทศ ไทยนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลก สมัยหนังไทยสิบกว่าล้าน ยี่สิบกว่าล้าน มันก็คือหนังเรื่อง บุญชูฯ กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ หรือเอทีเอ็มเออเร่อเออรัก ก็เป็นหนังกลุ่มประมาณนี้ ไม่เกี่ยวว่า หนังดีต้องทำรายได้มหาศาลเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้มันสะท้อนชัดเจนว่า ความบัน เทิงที่ง่ายที่สุดคือความบันเทิงที่คนรับมันได้มากที่สุดก็คือ ความตลกอารมณ์ขัน เรื่องดราม่า บางคนเก็ต บางคนไม่เก็ต แต่ตลกมันตลกได้ด้วยกัน ในวิถีชีวิตเดียวกัน คนพอเราหัวเราะในโรง เรารู้สึกว่ามันคุ้มค่า"
"แต่หนังร้องไห้บางที่แอบร้องไห้มันไม่มีคนช่วยนำ บางคนรู้สึกว่ายิ่งมาบิ้วฉันฉันยิ่งถอย แต่ตลกพร้อมจะหัวเราะ แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ตอบโจทย์เรื่องเสียงหัวเราะ" เขาย้ำประเด็นชัดเจน
ด้านตรงกันข้ามปรากฏการณ์หลังพี่มากฟีเวอร์...!