ท่านผู้อ่านหลายท่านที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผม คือรุ่น "เคาต์ดาวน์" หรือรุ่น "นับถอยหลัง" คงจะรู้จัก "แมลงทับ" เป็นอย่างดี และผมเชื่อว่าท่านคงจะเรียกว่า "แมงทับ" ตามความสะดวกของการออกเสียง มากกว่าจะคำนึงถึงความถูกต้องของการกำหนดสัตว์ที่มี 6 ขา ว่า "แมลงทับ" ผมจำได้ดีว่าตอนเด็กๆ นั้น พวกเรามีของเล่นที่เป็นข้าวของตุ๊กตุ่นตุ๊กตา ปืนผาหน้าไม้อะไรอะไรน้อยมาก ของเล่นที่รู้จักมักคุ้นส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุธรรมชาติที่นำมาดัดแปลง เช่น ปืนยาวจากก้านกล้วย ผลลูกตาลที่ร่วงลงมาจากต้นนำมาปอกและยีเปลือกให้กลายเป็นหัวตุ๊กตาหัวฟู หมากเก็บที่เสาะหาก้อนหินก้อนเล็กๆ ที่ค่อนข้างมีน้ำหนักกำลังดี สามารถทรงตัวอยู่รวมกันทั้ง 5 ก้อน บนหลังมือได้อย่างมั่นคง ดอกและใบของพู่ระหงที่นำมาหั่นซอยและหยอดน้ำใส่ให้เป็นเมือกเหนียวๆ ไว้เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เรือป๊อกแป๊กที่ต้องจุดเทียนใส่ไว้ที่ตอนท้ายเรือ เพื่อให้ความร้อนหมุนใบพัดเรือให้แล่นได้ หรือกาบหมากโตๆ ที่สามารถลงนั่งยองๆ แล้วให้เพื่อนที่ตัวใหญ่กว่าลากวิ่งวนไปวนมา...
การจับสัตว์ตัวเล็กๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่มาเลี้ยง หรือมาเล่น ถือเป็นสุดยอดของความสนุกสนานตื่นเต้นที่สุดของชีวิตวัยเยาว์ของผม แม้จะถูกแม่ห้ามปรามจนถึงห้ามขาดและสุดท้ายจะถูก ทำโทษ เพราะแม่บอกว่าเป็นบาปกรรมก็ตาม ผมก็ยังเสาะแสวงหาเวลาหนีไปช้อนปลาหางนกยูงตามร่องสวนคูน้ำได้เรื่อยๆ บางครั้งก็จับ "แมงเต่าทอง" อันนี้เป็นภาษาตอนเด็กที่เรียกแมลงนี้นะครับ ตัวมันเล็กๆ ขนาดถั่วเขียว ทรวดทรงหลังโค้งเหมือนรถโฟล์คเต่าสีแดงสดใสเป็นมัน ผิวลื่นๆ จับไม่ค่อยติดมือ จับใส่ขวดยานัตถุ์ไว้หลายๆ ตัวเอามานับแข่งกันว่าใคร จับได้มากกว่ากัน บางครั้งก็จับตัวด้วงที่มีเขาใหญ่เหมือนนอแรดมาชนกัน มันจะส่งเสียงขู่กันฝ้อๆ และที่พวกเราเด็กๆ ปรารถนาที่จะจับให้ได้มากที่สุด คือแมงทับ....อุ๊บ...555....แมลงทับครับ
...
สมัยเมื่อผมยังเป็นเด็กนั้น บ้านเมืองของเรายังอุดมไปด้วยธรรมชาติแวดล้อมอย่างเขียวขจี สองข้างของถนนแต่ละสายยังเป็นคูคลองคู่ขนานกันไปโดยตลอดทั่วทั้งเมือง ในลำน้ำเหล่านั้นก็มีทั้งบัวหลวงและบัวสายชูช่อเสียดกันไม่ขาดฤดู ริมคลองก็จะมีพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั้งมะขามเทศ มะขามเปรี้ยว-หวาน ตะขบ ขนุน มะพร้าว หมาก ลำพู จากและสารพัดต้นไม้ขึ้นเต็มไปหมด จนดูร่มเย็นชุ่มชื้นยิ่งนัก ทำให้มีผีเสื้อและแมลงต่างๆ มากมายบินว่อนกันมากันไปทั่ว และในหนึ่งในแมลงเหล่านั้นคือ แมลงทับ ที่มีปีกสีเหลือบเขียวโทนต่างๆ แสนเร้าใจให้ไขว่คว้ามาครอบครอง
ใครมีความสามารถจะใช้สวิงผ้าโปร่ง หรือผ้าสาลู ไปไล่จับก็ทำได้ตามอัธยาศัย ใครไม่อยากไปวิ่งไล่จับก็ซื้อเอาจากเพื่อนๆ ราคา 2 ถึง 3 ตัว ต่อ 1 สลึง ซึ่งนับว่าแพงมากครับ เพราะผมได้ค่าขนมไปโรงเรียนวันละ 1 บาท แบ่งเป็นค่าก๋วยเตี๋ยว หรือกระเพาะปลาชามละ 50 สตางค์ ค่าน้ำเขียวน้ำแดงอีกถ้วยละ 1 สลึง เหลืออีก 1 สลึง เป็นค่าไอติมแท่งปั่นเสียบไม้ ดังนั้น ถ้าจะซื้อแมลงทับเป็นๆ มาเลี้ยง ก็จำเป็นที่จะต้องตัดสินใจเลือกเอาเองว่าจะยอมอดน้ำแดง หรืออดไอติม เมื่อได้มาแล้วก็จะต้องไปหาใบมะขามเทศอ่อนๆ มาเลี้ยง มีการไปเที่ยวปีนต้นมะขามเทศเพื่อเด็ดยอดอ่อน ให้หนามมันเกี่ยวมันครูดพอได้เลือดซึมๆ สถานที่เลี้ยงก็คือ ขวดโหลแก้วในครัว ที่ต้องอาศัยฝีปากดีๆ ไปเจรจายืมแม่ครัวมาใช้ชั่วคราว และยังต้องขอผ้าสาลูบางๆ ที่เอาไว้คั้นกะทิมาคลุมเป็นฝาด้วย เพื่อให้เค้าหายใจได้ ส่วนน้ำดื่มนั้น พวกเราเด็กๆ คิดกันเอาเองว่าเค้าชอบกินน้ำค้าง ดังนั้น จึงมีการอมน้ำฝนใส่ในปากแล้วพยายามพ่นออกมาเป็นฝอยเล็กละเอียดที่สุดให้หยดน้ำจับที่ใบมะขามด้วย โดยแท้จริงแล้วแมลงทับชอบกินใบไม้ครึ่งแก่ครึ่งอ่อน ที่ชอบมากได้แก่ ใบพันชาด ใบมะขามเทศ ใบเต็ง ใบพะยอม และใบตะแบกแดง มันจะกินจุมาก โดยเฉพาะในช่วงแดดจัดก็จะยิ่งกินจุ
สำหรับสถิติการเลี้ยงแมลงทับของผมสั้นมากครับ ไม่เคยเกิน 7 วันก็จะ "ม่องเท่ง" แปลว่า ตายไปเสีย ก่อนแล้ว อย่างเก่งก็ประมาณ 3-4 วัน เวลามันตายจะมีมดละเอียด ตัวเล็กๆ จิ๋วๆ ฝอยๆ มากิน ตัวข้างใน แต่เจ้าปีกอันเป็นเงามันเลื่อมเขียวพรายเหลือบแสงสวยงามนั้น ยังคงสภาพอยู่ดี เราจะเก็บรวมใส่กลักไม้ขีดไฟเอาไว้อวดกันครับ
ส่วนเรื่องวงจรชีวิตของแมลงทับนั้น เค้าจะจับคู่ผสมพันธุ์ในเวลากลางวัน ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการยอมรับของตัวเมียด้วย เมื่อผสมพันธุ์เสร็จตัวผู้จะตาย และตัวเมียจะวางไข่ที่บริเวณโคนต้นพืชอาหาร ที่มักจะเป็นต้นไผ่เพ็ก หรือไผ่โจด โดยวางลึกลงในดินประมาณ 1-2 เซนติเมตร โดยจะวางไข่ทีละฟองจำนวน 1-2 ฟองต่อวัน เมื่อวางไข่เสร็จก็จะตายเลยเหมือนกัน จากนั้นไข่จะฝังอยู่ในดินนาน 2-3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม) หนอน วัยที่ 1, 2, 3 และ 4 อาศัยอยู่ในดินโดยอาศัยแทะกินรากพืชและเหง้าของต้นไผ่เพ็ก นาน 3-4 เดือน (พฤศจิกายน-มีนาคม) หนอนวัยที่ 5 หยุดกินอาหารและสร้างปลอกดินหุ้มตัวฝังอยู่ในดินลึก 5-10 เซนติเมตร หนอนวัยสุดท้ายนี้พักตัวอยู่ในปลอกดินอย่างยาวนานมากราว 12-15 เดือน (เมษายนปีแรก-มิถุนายนปีถัดไป) จึงเข้าดักแด้ในปลอกดิน และจะเป็นดักแด้นาน 2-3 เดือน (มิถุนายน-สิงหาคม)
เมื่อเป็นตัวเต็มวัยสีเขียววาววามแล้ว ก็จะยังคงอาศัยอยู่ในปลอกดินนั้นต่อไปอีกเกือบเดือน เพื่อให้ปีกแข็งแกร่ง และพร้อมที่จะออกจากปลอกดิน แต่อย่างไรก็ตาม แมลงทับก็ต้องคอยจนกว่าฝนจะตกหนักและน้ำฝนไหลลงไปจนถึงปลอกดิน เมื่อปลอกดินอ่อนตัวหรือละลายลงแล้ว แมลงทับนั้นจึงจะดันปลอกดินให้เปิดออกแล้วไต่เดินขึ้นมาจากใต้ดินและเจาะผิวดินเป็นรูปกลม เพื่อดันตัวเองขึ้นจากพื้นดิน เมื่อมีแสงแดดจึงบินไปกินอาหาร ผสมพันธุ์และวางไข่ กว่าจะเป็นแมลงทับแต่ละตัวต้องใช้เวลาอาศัยอยู่ในดินนานถึง 2 ปี เมื่อเป็นตัวเต็มวัยก็มีชีวิตนานแค่ 1-3 สัปดาห์เท่านั้น ดังนั้น จำนวนแมลงทับในแต่ละปีจึงมีีความสัมพันธ์ กับปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงเข้าพรรษาด้วยเป็นอย่างยิ่ง ถ้าปีไหนมีอากาศแห้งแล้งฝนตกน้อย แมลงทับก็จะมีจำนวนน้อยตามไปด้วย
...
ในปัจจุบันมีการนำปีกแมลงทับมาแปรรูปเป็นงานหัตกรรมที่งดงามยิ่ง โดยมูลนิธิศิลปาชีพ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันสิริกิติ์ ได้รวบรวมปีกแมลงทับที่ตายเองตามธรรมชาติ นำมาประดิดประดอยตกแต่งเป็นรูปตัวสัตว์ต่างๆ เช่น นกยูง ไก่ เป็นต้น โดยพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเห็นว่าคนโบราณก็นิยมเอาปีกแมลงทับมาตัดให้เป็นรูปทรงต่างๆ ใช้ปักประดับลงบนเสื้อผ้าและของใช้ ทำให้เกิดความงดงามยิ่งขึ้น และปีกแมลงทับเหล่านั้นก็คงทนมานับร้อยๆ ปีไม่เสื่อมสลาย จึงทรงพระกรุณาฯ ให้นำมาประยุกต์ใช้ เพราะตลอดเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรมาเกือบ 70 ปีนั้น ได้มีราษฎรไปเก็บปีกแมลงทับที่ตายเองตามธรรมชาติ ที่มีมากมายเกลื่อนป่ามาร้อยเป็นพวงมาลัยถวาย ทรงเก็บปีกแมลงทับนั้นไว้อย่างดี เมื่อทรงจัดตั้งศิลปาชีพขึ้น จึงทรงนำปีกแมลงทับเหล่านัั้นมาใช้ในงานหัตถกรรม และในปัจจุบันนี้ ก็ทรงพระกรุณาฯ ให้ราษฎรเก็บหาจากป่านำมาถวายขายได้ เพื่อทรงใช้สอยในกิจการศิลปาชีพ โดยทรงกำชับเสมอว่า ห้ามไปจับตัวเป็นๆ มาฆ่า ให้เก็บเอาแต่ที่ตายร่วงแล้วเท่านั้น ในระยะแรกมีบางคนไปจับตัวเป็นๆ มาฆ่า แล้วเอามาถวายขาย แต่ปรากฏว่าปีกแมลงทับที่ตายโดยการฆ่านั้นจะมีกลิ่นเหม็นเน่ามาก ต่างกับปีกแมลงทับที่ตายเอง ซึ่งจะไม่มีกลิ่นใดๆ เลย จากนั้นก็ทรงตักเตือน และรายใดฝ่าฝืนก็เลิกซื้อ
แมลงทับเป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตสั้นมาก ไม่เกิน 3 สัปดาห์ แต่จากที่เป็นไข่ เป็นดักแด้ ฟักตัวนั้น ยาวนานร่วม 2 ปี จึงสมควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์ไว้ด้วยการไม่จับตัวเป็นๆ มีชีวิตมาเล่น ปล่อยให้เค้าใช้เวลาสั้นๆ ที่ไม่เกิน 3 สัปดาห์แห่งอายุขัยของเค้าโบยบินไปตามเสรี ให้เค้าได้มีโอกาสผสมพันธุ์และวางไข่ตามวิถีของเค้า ประเทศไทยของเราจะได้ไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นประเทศที่แมลงทับสูญพันธ์ุไปแล้ว.
...
เผ่าทอง ทองเจือ