กสท ยันไม่คืนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เล็งส่งหนังสือขอปรับปรุงคลื่น ฟาก กสทช. สวนกลับ คลื่นหมดอายุสัญญาสัมปทานปรับปรุงไม่ได้ เปรยปรับแผนแม่บทใหม่...
แหล่งข่าวจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทเตรียมส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อชี้แจงเหตุผลที่อาจไม่ส่งคืนคลื่นย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ได้ หลังหมดอายุสัญญาสัมปทาน และเพื่อขอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาคำขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 800 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ อีกครั้ง ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.)
ทั้งนี้ ขอให้ กทค.นำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. เพื่อพิจารณาให้เกิดความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายที่อนุญาตให้ กสท ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่การให้บริการหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานและการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลต่อไปโดยเร็ว และเมื่อมีการประชุมในวาระดังกล่าว ต้องให้ กสท เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมด้วย
นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย กทค. กล่าวว่า หลัง กสท หมดสัญญาสัมปทาน การเปลี่ยนจากสัญญาสัมปทานมาเป็นใบอนุญาตส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท แต่วิธีการที่ไม่ให้กระทบนั้น สามารถทำได้ด้วยการปรับปรุงการใช้คลื่น ซึ่งคลื่นที่จะนำมาปรับปรุงจะต้องเป็นคลื่นที่ยังมีอายุสัญญาสัมปทานอยู่ แต่คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะหมดสัญญาสัมปทานนั้น ไม่สามารถนำมาปรับปรุงได้
ทั้งนี้ การปรับปรุงคลื่นสามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่สิทธิ์ในการอนุญาตให้ใช้คลื่นจะต้องไม่หมด แต่กรณีดังกล่าวสัญญาสัมปทานหมด ดังนั้นไม่สามารถนำคลื่นที่จะหมดสัญญามาปรับปรุงเพื่อใช้ต่อได้ ส่วนกรณีที่ทางคณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอให้ กสท ใช้คลื่นของผู้ประกอบการรายหนึ่งนั้น ในทางกฎหมายสามารถทำได้ แต่ทาง กสท จะต้องไปเจรจาตกลงกับผู้ประกอบการรายนั้นก่อน แล้วทำเรื่องเข้ามาที่ กสทช. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง
...
กรรมการ กสทช. กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองว่าในส่วนของแผนแม่บท มีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน ซึ่งอาจจะต้องมีการประเมินแผนแม่บทใหม่ ขณะที่ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 48 ว่าให้ กสทช. ติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และต้องปรับปรุงแผนแม่บท ซึ่งสิ่งที่ยังขาดไปในแผนแม่บท คือ แนวทางในการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือการปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่
สำหรับ หนังสือที่จะส่งไปยัง กสทช. ระบุว่า กสท ได้พิจารณาแล้วมีเห็นว่า ความเห็นของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กสทช.เป็นการพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเฉพาะประเด็นสิทธิ์ในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ เมื่อการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาสิ้นสุดลง แต่ยังไม่ให้ความเห็นในประเด็นบทเฉพาะกาลตามมาตรา 82 มาตรา 83 และมาตรา 84 ของ พ.ร.บ.กสทช. ถึงแม้มาตรา 45 จะบัญญัติให้ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ต้องได้รับอนุญาตให้ดำเนินการโดยวิธีประมูล แต่มาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่ใช้ในกรณีทั่วไป ในการกำกับคลื่นความถี่ใหม่ที่ยังไม่ได้มีการจัดสรรหรือใช้อยู่ก่อน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553
ขณะที่ กสท ได้ดำเนินตามมาตรา 82 ซึ่งบัญญัติให้ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือผู้ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ หรือใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรคมนาคมอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ใช้บังคับ มีหน้าที่แจ้งรายละเอียดการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ รวมทั้งเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ต่อ กสทช.และใน วรรค 4 ได้บัญญัติให้ กสทช.กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่ คืนคลื่นความถี่เพื่อ 1. นำไปจัดสรรใหม่ หรือ 2. ปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่มาตรา 48 โดยให้นำความในมาตรา 83 วรรค 3 มาบังคับใช้โดยอนุโลม.