สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ จำได้ว่าเมื่อหลายเดือนก่อน คุณครูลิลลี่เคยเขียนต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วหนึ่งครั้ง ครั้งนั้นความคิดที่จะเขียนเรื่องนี้มาจากการได้ไปร่วมงานศพของรุ่นน้องที่รู้จักคนหนึ่ง แล้วได้เห็นคำไว้อาลัยเป็นบทกลอนที่ว่า

“ พฤษภกาสร       อีกกุญชรอันปลดปลง
    
โททนต์เสน่งคง     สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย      มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี      ประดับไว้ในโลกา”


ไม่น่าเชื่อว่า หลายเดือนต่อมาเรื่องราวเศร้าโศกที่เราๆ ท่านๆ ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและคนใกล้ตัว แต่สัจธรรมความจริงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ครั้งนี้เกิดกับบุคคลที่รักและเคารพที่สุดในชีวิต นั่นคือ การจากไปของ คุณพ่อพุฒ โรจนทรัพย์ ที่คุณครูลิลลี่ได้เขียนถึงไปในครั้งก่อน ครั้งนี้ขอเขียนถึงอีกครั้ง เพราะมีอยู่วันหนึ่งหลังจากสวดพระอภิธรรมเสร็จ ก็มีรุ่นน้องถามคุณครูด้วยความสงสัยว่า บทกลอนนี้หมายความว่าอย่างไร คุณครูเลยบอกว่า ลองท่องให้ฟังหน่อย เชื่อไหมคะ นอกจากว่าจะไม่เข้าใจความหมายแล้วยังท่องได้ไม่ถูกต้องเสียด้วย ไม่ใช่ความผิดค่ะ คนเราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ อาจจะชินหูและคิดว่าที่จดจำได้คือ ถูกต้อง ถ้าอย่างนั้นในฐานะที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์นี้มาสดๆ ร้อนๆ คุณครูขอเอามาเล่าย้อนอีกครั้งนะคะ

คำกลอนข้างต้นมาจาก “กฤษณาสอนน้องคำฉันท์” ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส หลายๆ คนมักจะท่องได้ ท่องจบ เพราะได้ยินกันจนคุ้นหูและท่องกันจนชินปาก แต่อย่างที่บอกนั่นล่ะค่ะ ว่ามีมากมายหลายท่านที่ท่องผิด โดยเฉพาะคำที่ผิดบ่อยๆ ออกเสียงผิดกันบ่อยๆ ก็คือ พฤกษภ บ้าง พฤกษก บ้าง ทั้งๆ ที่ความจริงต้องเป็น “พฤษภ” หรืออีกคำก็คือ เสน่ห์ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วต้องเป็น “เสน่ง” (ออกเสียงว่า สะ-เหน่ง) 2 คำนี้ดูจะเป็นคำที่ใช้ผิดกันบ่อยที่สุดแล้วสำหรับกลอนบทนี้ ดังนั้น เรามาทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องชัดเจนกันนะคะ

พฤษภ      แปลว่า    วัว         
กาสร        แปลว่า    ควาย
กุญชร      แปลว่า     ช้าง
โท            แปลว่า     สอง
ทนต์        แปลว่า     ฟัน
เสน่ง       แปลว่า     เขา
นรชาติ    แปลว่า     มนุษย์
อินทรีย์   แปลว่า     ร่างกาย

เมื่อรวมความหมายจากคำแปลแล้ว ก็จะได้ความหมายที่เป็นข้อคิดสำหรับการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าว่า วัว ควาย และช้าง เมื่อตายลงแล้วก็ยังมี ฟัน และ เขา (อาจจะรวมความถึง งา ด้วย) ทั้งสองข้างเหลืออยู่ แต่มนุษย์เมื่อตายจากไป ทุกสิ่งในร่างกายก็สูญสลายไปพร้อมๆ กัน คงเหลือก็เพียงแค่ความดี ความชั่วเท่านั้น ที่ยังคงปรากฏอยู่ในโลก

ไหนๆ ก็พูดถึงงานศพแล้ว ขอทิ้งท้ายให้ความรู้ไว้อีกนิดเกี่ยวกับ “การกราบศพ” เพราะเห็นเด็กๆ หลายคน ทั้งลูกศิษย์ลูกหาและรุ่นน้อง ออกอาการเก้ๆ กังๆ เวลาไปนั่งอยู่หน้าหีบศพ ว่าจะต้องทำความเคารพ หรือก้มลงกราบอย่างไร กราบกี่ครั้ง แบมือหรือไม่ ต้องมาฟังทางนี้ค่ะ คุณครูลิลลี่ขอทิ้งท้ายให้ความรู้ว่าตามนี้ค่ะ การกราบศพนั้น นิยมกราบด้วยวิธีกระพุ่มมือกราบ ไม่แบมือ โดยกราบราบลงกับพื้น และนิยมกราบเพียงครั้งเดียว ส่วนการนั่งก็นิยมนั่งพับเพียบเรียบร้อยแบบเก็บเท้าค่ะ

ความรู้ภาษาไทยที่เก็บได้จากงานนี้ยังมีอีกค่ะ ครั้งหน้าพบกันใหม่กับไทยรัฐออนไลน์นะคะ สวัสดีค่ะ.

...

คุณครูลิลลี่
instagram : krulilly
facebook : ครูลิลลี่
youtube : ครูลิลลี่