สั่งครูลดการบ้าน หวังปลดภาระนักเรียน

นโยบายล่าสุดของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ที่กลายเป็นประเด็นร้อน และก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างในสังคม เพราะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

“ในปีการศึกษา 2556 สพฐ.จะเน้นบูรณาการ ทั้งเนื้อหา เวลาเรียน การวัดผลประเมินผล ตลอดจนการให้การบ้านที่ต้องบูรณาการทุกกลุ่มสาระวิชาเพื่อลดภาระงานของนักเรียน และให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้กิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น การบ้านและโครงงานที่ครูมอบให้จะมีการบูรณาการทุกกลุ่มสาระ ครูจะไม่สามารถให้การบ้านเด็กได้ตามใจชอบอีกต่อไป”  เป็นถ้อยแถลงของ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) หลังการประชุมผู้บริหาร สพฐ. เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556

พร้อมกันนั้น เลขาธิการ กพฐ. ยังตอกย้ำอีกครั้งหลังถูกสังคมตั้งคำถามถึงที่มาของนโยบายว่า เป็นการปรับลดการบ้านนักเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ตามนโยบายที่ รมว.ศึกษาธิการเคยตั้งโจทย์เอาไว้ว่า “ทำไมเด็กไทยเรียนเยอะแต่รู้น้อย” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รวมทั้งผลการประเมินจากสถาบันต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศที่ตกต่ำของเด็กไทย

“สพฐ.ได้นำเนื้อหาวิชา เวลาเรียนต่อวัน การให้การบ้าน รวมทั้งการประเมินทั้งระดับเขตพื้นที่และระดับชาติมาวิเคราะห์ พบว่าความหวังดีของผู้ใหญ่กลายเป็นภาระของเด็ก สภาวะเด็กไทยที่เรียนมากแต่รู้น้อย แสดงว่าควรเรียนเท่าที่จำเป็นแต่ได้ผลมากกว่านี้ ที่ผ่านมาครูทั้ง 8 กลุ่มสาระให้
การบ้านพร้อมกันหมด เด็กก็มีการบ้านมากมายมหาศาล แต่ต่อไปครูจะต้องคุยกันก่อนเปิดเทอมว่าภาคเรียนนี้จะสอนอะไรบ้าง และกำหนดว่าควรจะให้การบ้านนักเรียนอย่างไรบ้างที่บูรณาการและประเมินร่วม โดยให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ไปจัดทำคู่มือบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนที่ครบวงจรให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ จากนั้น สพฐ.จะเร่งจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเขตพื้นที่การศึกษาและครู เพื่อให้มีความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน” ดร.ชินภัทร กล่าว


หลังนโยบายกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ในฐานะเจ้ากระทรวงศึกษาธิการก็ตอบคำถามสื่อว่า “เรื่องนี้ต้องมองในภาพรวมเพราะนักเรียนแต่ละวัย แต่ละระดับไม่เหมือนกัน การจะลดการบ้านนักเรียนต้องแยกตามช่วงชั้น อย่างระดับประถมศึกษาไม่มีการเรียนอะไรมากก็ไม่ควรมีการบ้านเยอะ แต่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ต้องสอบเรียนต่อก็ไม่ควรลด ดังนั้น จะมาลดการบ้านเหมือนกันหมดไม่ได้ นอกจากนี้ คำว่าการบ้านควรต้องมากำหนดให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นการบ้าน อย่างการให้เด็กอ่านหนังสืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 เล่ม อย่างนี้เด็กไม่รู้สึกว่าเป็นการบ้าน อยากให้มีการแยกแยะเรื่องนี้ให้ชัดเจน และควรลดการบ้านที่ไม่มีความจำเป็นลง”

หันมาทางด้าน ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานคณะกรรมการคุรุสภา ในฐานะนักวิชาการด้านการศึกษา ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า “การลดการบ้านต้องมองให้ครบทั้งกระบวนการ เพราะคำว่าการบ้านคือ ให้เด็กทำที่บ้าน ถ้าลดการบ้านลงแล้ว เด็กจะใช้เวลาว่างทำอะไร หากใช้เวลาไปเสริมสร้างทักษะในสิ่งที่เด็กชอบ หรือมีกิจกรรมกับคนในครอบครัวมากขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากนำเวลาว่างไปกวดวิชาหรือเล่นเกม การลดการบ้านก็ไม่เกิดคุณค่า เราควรวางระบบเข้ามาเสริมหลังจากลดการบ้านแล้ว และต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองด้วยว่า เมื่อลดการบ้านแล้ว ไม่ควรเพิ่มการกวดวิชา เพื่อมุ่งเข้ามหาวิทยาลัย และครูในสถานศึกษาก็น่าจะเกิดกระบวนการหารือหรือพูดคุยกันเพื่อแบ่งการให้การบ้านเด็ก อย่างไรก็ตาม บางวิชาก็
ไม่ควรลด เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เพราะเป็นวิชาที่ฝึกทักษะ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการควรให้นโยบายลดการบ้าน ส่งผลต่อนักเรียนในสถานศึกษาทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชน โดยชี้แนะการให้การบ้านที่เหมาะสม เป็นทางเลือกให้ผู้ปกครอง ครู สถานศึกษาตัดสินใจเอง ไม่ควรเป็นการบังคับจากส่วนกลาง”

ขณะที่ นายชัยวิทย์ บรรจงจิตต์ ครูโรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ จ.ปทุมธานี ที่เพิ่งได้รับรางวัล “ครูดีในดวงใจ” ในวันครูแห่งชาติ ประจำปี 2556 บอกว่า “ในฐานะครู มองว่าการบ้านเป็นส่วนที่สำคัญและมีประโยชน์ เพราะนอกจากจะให้เด็กได้ทบทวนสิ่งที่เรียนไปให้เข้าใจมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้เด็กมีระเบียบ วินัย และความรับผิดชอบ หากเด็กไม่มีการบ้าน เด็กจะใช้เวลาว่างไปทำในเรื่องที่ไร้สาระ ดูทีวี เล่นเกม ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาเด็กติดเกมมากขึ้น ที่สำคัญผมมองว่าจะทำให้เด็กขาดความรับผิดชอบในตัวเอง และเกิดความกระด้าง กล้าที่จะทำความผิดมากขึ้น ส่วนตัวเห็นว่าเด็กในระดับประถมอาจจะลดการบ้านลงบ้างได้ เพราะเป็นการทบทวนความรู้ในสิ่งที่เรียนมา แต่ในระดับมัธยมยังมีความจำเป็นที่ต้องฝึกฝนทักษะ และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ส่วนที่ให้ครูบูรณาการการให้การบ้านร่วมกันนั้น มองว่าเป็นเรื่องดีแต่ก็มีคำถามว่าขณะนี้ครูทุกคน ทุกโรงเรียนมีการสอนแบบบูรณาการหรือไม่ และการบ้านของนักเรียนแต่ละโรงเรียนก็ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ การบูรณาการก็ได้ผลเฉพาะบางเรื่อง บางวิชา ดังนั้น การจะลดการบ้านหรือไม่นั้น ควรจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของครูผู้สอน”

และแล้วก็มาถึงคำตอบของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายลดการบ้าน นายเสฎฐวุฒิ ตั้งสถิตพร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านฉางวิทยา จ.อุทัยธานี ในฐานะ ประธานสภานักเรียนแห่งประเทศไทย มองว่า “การปรับลดการบ้านมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ทำให้เด็กนักเรียนมีเวลาในการไปทำอย่างอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หากลดการบ้านลงได้ก็จะดีมาก เพราะทุกวันนี้วันหนึ่งเรียน 8 วิชา ทุกวิชาให้การบ้านกันหมด ปัญหาที่ตามมาคือ นักเรียนบางคนทำการบ้านไม่ทัน หรือส่วนที่ทำการบ้านทันก็มักจะไม่มีเวลาไปศึกษาค้นคว้า หรือทำอย่างอื่นที่อยากจะทำ โดยเฉพาะเรื่องนันทนาการ หรือกีฬา หรือแม้แต่การเรียนพิเศษ ดังนั้น หากลดการบ้านลงได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ส่วนข้อเสียนั้น หากครู อาจารย์บางท่าน หรือในบางโรงเรียนท่านให้ การบ้านน้อยเกินไปก็อาจจะส่งผลในแง่ที่ทำให้นักเรียนขาดการฝึกฝนทักษะที่น้อยจนเกินไปก็ได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าแนวคิดการปรับลดการให้การบ้านนักเรียนน่าจะเกิดผลดีกับเด็กโต ส่วนเด็กนักเรียนระดับอนุบาล และประถมศึกษาควรให้การบ้านมากเพราะจะเกิดผลดีทำให้ได้ฝึกฝนทักษะในการเรียน เนื่องจากน้องๆมีเวลาว่างค่อนข้างมาก และเอาเวลาไปใช้เล่นเสียมากกว่า แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าทุกวิชาต้องให้การบ้านมากจนไม่มีเวลาไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ”

นโยบาย “ลดการบ้าน” เท่าที่ดูแล้ว “ทีมการศึกษา” เห็นว่ายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ว่าการบูรณาการการให้การบ้านของครูจะเป็นอย่างไรและช่วยปลดภาระของนักเรียนได้จริง? หรือเป็นได้แค่ “ความหวังดี ประสงค์ร้าย”

เพราะคำตอบสุดท้ายอยู่ในกำมือ “ครูไทย” ทุกคน!!!

...


ทีมข่าวการศึกษา