เปิดตัวแล้วสำหรับ สถาบัน IMC ที่มี ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ นั่งเป็น ผอ.โดยมีภาระกิจหลักรวบรวมข้อมูลสร้างผลงานวิจัย พัฒนาบุคลากรในวงการไอที ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของวงการไอที และจับคู่ธุรกิจให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไอซีทีของไทย...
สถาบัน IMC โดยการสนับสนุนของสมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ก่อตั้งโดยกลุ่มคนไอทีที่ได้เล็งเห็นถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีสำคัญสี่ด้านได้แก่ Cloud Computing, Mobile Technology, Social Network และ Information (Big Data) ที่ส่งผลต่อแนวโน้มการใช้งานไอทีและอุตสาหกรรมไอที โดยเฉพาะด้านซอฟต์แวร์ที่ต้องมีการปรับตัวอย่างมาก โดยมีบทบาทและพันธกิจสำคัญในการเป็นผู้นำทำวิจัยและสำรวจข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ในประเทศไทย ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในส่วนที่เป็นผู้บริหารและด้านเทคนิค และการจับคู่ธุรกิจให้กับกลุ่มผู้ประกอบซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ หวังเตรียมความพร้อมไอซีไทยเข้าสู่ AEC 2015
นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบัน IMC กล่าวว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของประเทศไทย คือ การขาดข้อมูลที่ถูกต้องในการวางแผนการนำ เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปใช้งาน โดยเราขาดทั้งข้อมูลของการใช้งาน ข้อมูลด้านบุคลากร และข้อมูลการสำรวจแนวโน้มต่างๆ โดยข้อมูล ที่นำมาใช้ทั่วไปมักจะเป็นข้อมูลจากสถาบันวิจัยในต่างประเทศที่เน้นข้อมูลใน ภูมิภาคมากกว่าเจาะลึกข้อมูลในประเทศไทย นอกจากนี้ เรายังขาดการสร้างความตระหนักและการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้งานอย่างถูก ต้อง และขาดการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอีกด้วย
ผอ.สถาบัน IMC กล่าวต่อว่า ไอเอ็มซี จึงเกิดขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ที่ต้องการร่วมเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไอซีทีของไทยให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีบทบาทของการเป็น ผู้นำทำวิจัย และสำรวจข้อมูล ด้านเทคโนโลยี สารสนเทศต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งข้อมูลด้านบุคลากร การสำรวจการใช้งาน ตลอดจนสำรวจแนวโน้ม การใช้งาน เทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศ นอกจากนี้ ยังเน้นในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร และสร้างความตระหนัก การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้กับผู้บริหารและพนักงานขององค์กรต่างๆ
นายธนชาติ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ 3 ภารกิจหลักที่สถาบัน IMC ได้วางแผนดำเนินการได้แก่ (1) การวิจัยเชิงนโยบายและสำรวจตลาดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภายในประเทศไทย (2) การพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในส่วนที่เป็นผู้บริหารและด้านเทคนิค เพื่อให้เข้าใจถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ (3) การสนับสนุนทางด้านจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีเกิดใหม่และกำลังเติบโต (Emerging Technology) เพื่อเข้าสู่ตลาด AEC 2015 ทั้งนี้ สถาบัน IMC และ ATCI มีเป้าหมายร่วมกันที่จะบรรลุภารกิจหลักของสถาบันภายใน 2 ปี และมีแนวคิดสอดคล้องกันที่จะพัฒนา 3 ภารกิจดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมไอทีในภาพรวม
ด้าน นายอดิเรก ปฏิทัศน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย หรือ ATCI เปิดเผยว่า ATCI ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลการตลาด การวิจัยและพัฒนาไอทีมาโดยตลอด สมาคมฯได้ริเริ่มจัดทำการสำรวจการตลาดไอทีมาตั้งแต่ปี 1993 ซึ่งเป็นเวลา 19 ปีแล้ว และหวังที่จะให้มีการสำรวจที่กว้างขวางและต่อเนื่อง การร่วมมือกับสถาบัน IMC ในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มผู้ผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมไอทีไทย ให้ก้าวทันโลกของการแข่งขันทั้งทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังจะเป็นการตอกย้ำในวิสัยทัศน์ของการเปิดกรอบ จัดรูปทางความคิดเพื่อโลกแห่งการปฏิรูปของไอทีในประเทศ ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
นายกสมาคม ATCI กล่าวด้วยว่า ในนามของ ATCI เราได้สานต่อกิจกรรมมากมาย ที่เน้นให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศมีโอกาสเข้าใจและใช้ประโยชน์จากไอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต่อยอดการทำธุรกิจทางด้านไอทีอย่างมีประสิทธิผล เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ภาคไอทีไทย จะมีสถาบันทางด้านวิจัยเชิงนโยบายและสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับตลาดทางด้านไอทีโดยตรง โดยสถาบัน IMC นับเป็นผู้บุกเบิกเพื่อให้ผู้ประกอบการไอทีของเรามีข้อมูลภายในประเทศไทยที่สมบูรณ์ เพื่อใช้วางแผนงานและแผนพัฒนาธุรกิจได้ดีขึ้น นอกจากนี้จากข้อมูลที่สถาบันได้มาทั้งหมด จะนำไปพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมบุคคลากรได้ตรงกับความต้องการของตลาดได้ดีกว่าที่เป็นอยู่อีกด้วย.
...