57 ปี“วันครู”บทบาท“แม่พิมพ์ไทย”บนทางสองแพร่งท่ามกลางสังคมทุนนิยม
“ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงอำนาจ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ์ และห่วงรายได้กันมากเข้าๆ แล้วจะเอาจิตใจที่ไหนมาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญของเด็ก ความห่วงในสิ่งเหล่านั้นก็จะค่อยๆบั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น จะไม่มีอะไรดีเหลือไว้พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ หรือผูกใจใครไว้ได้ ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่เคารพบูชาอีกต่อไป”
พระราชดำรัส ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานแก่ครูอาวุโส ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2521
อีกเพียงวันเดียว ก็จะถึง “วันครู” 16 มกราคม ซึ่งปีนี้จะครบ 57 ปี “ทีมการศึกษา” ขออัญเชิญพระราชดำรัสที่ทรงมีต่อเพื่อนครูเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจบรรดาเพื่อนครูทั้งหลายให้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ ตลอดจนเกียรติและความภาคภูมิใจอันสำคัญยิ่งของตนเอง
เพราะ “ครู” เป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญที่ให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดจนเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งการนำพาสังคมประเทศชาติก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง
และด้วยความสำคัญที่ครูได้สร้าง “คุณูปการ” ที่ยิ่งใหญ่มากมายต่อสังคมและประเทศชาติ จึงมี การกำหนดให้มี “วันครู” ขึ้น ในปี พ.ศ.2499 สมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์อีกด้วย โดยมีแนวคิดต้องการให้มีวันครูขึ้น เพื่อแสดงความกตัญญู-กตเวที และให้ครูเป็นผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูในสังคม ซึ่งแนวคิดดังกล่าวยังสอดคล้องกับ ผู้แทนคณะครูทั่วประเทศในคราวประชุมสามัญของคุรุสภา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2499 ในที่สุดจึงได้มีการกำหนดให้มี “วันครู” ขึ้น ในวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี โดย คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 และเริ่มจัดงานวันครูครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2500
หากนับย้อนหลังกลับไป ปีนี้นับเป็นปีที่ 57 ที่มีการจัดงานวันครู 16 มกราคมอย่างต่อเนื่องกันมาทุกปี โดยเฉพาะปีนี้ซึ่งถือเป็นอีกปีหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ “พระแม่แห่งแผ่นดิน ผู้ทรงเป็นครู” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม ราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2555 ทั้งยังได้มีการจัดงาน “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” เพื่อระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ และส่งเสริมเชิดชูเกียรติครูและวิชาชีพครู
โดยคุรุสภากำหนดให้มีการจัดกิจกรรมทั้งในส่วนกลาง และต่างจังหวัด ระหว่างวันที่ 12-16 ม.ค.นี้ ซึ่งกิจกรรม มีทั้ง การทำบุญตักบาตรเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับปฐมบูรพคณาจารย์ และครูผู้ที่เสียสละต่อวงการการศึกษา การประกวดวาดภาพ การคัดเลือกผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเพื่อเข้ารับการยกย่องเป็น “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” การคัดเลือกครูเพื่อเข้ารับรางวัล “คุรุคุณธรรม” เข็มทอง การมอบรางวัลหนึ่งแสนครูดี หรือแม้แต่การคัดเลือกครู และโรงเรียนเพื่อเข้ารับรางวัล “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม” เป็นต้น โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะร่วมเป็นประธานในกิจกรรมวันครู วันที่ 16 มกราคม ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการหันกลับมามองในมุมของการทำหน้าที่และบทบาทขอครูท่ามกลางกระแสทุนนิยม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมต้องการเบ้าหล่อหลอมเยาวชนเพื่อให้เติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพของสังคมบ้าง
จากผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง ความเชื่อมั่นครูไทยในปี 2555 ของสวนดุสิตโพล พบว่า ภาพรวมประชาชนให้คะแนนดัชนีครูไทยอยู่ที่ 7.86 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 แม้จะมีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นแบบแทบไม่ขยับจากปีที่ผ่านมาที่ได้คะแนน 7.85 แต่ประเด็นที่สังคมเฝ้าติดตาม และอยากให้ครูได้ปรับปรุงตัวเองก็มีทั้ง การไม่อยากให้ครูเป็นหนี้สิน อยากให้มีการปรับในเรื่องของการแสดงออกทางอารมณ์และการควบคุมอารมณ์ การมีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียน เข้าใจนักเรียนมากขึ้น มีความเมตตา และมีจิตใจโอบอ้อมอารี รวมไปถึงการเอาใจใส่ดูแลให้ความรักต่อนักเรียนอย่างที่ควรจะเป็น สำคัญที่สุดก็คือ การเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ จิตสำนึก และรักในวิชาชีพ
นั่นคือเสียงสะท้อนของสังคมต่อบรรดาแม่พิมพ์ ว่าที่ผ่านมาครูอาจจะเรียกร้องสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ เพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่กลับหลงลืมนึกถึงการทำหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริงไปแล้ว
ขณะเดียวกันก็มีวลีที่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมครูยุคใหม่ที่ว่า “สอนติวเป็นงานหลัก สอนลูกศิษย์รักในชั้นเรียนเป็นงานรอง”
แน่นอนว่า ในทุกสังคม และทุกวิชาชีพ ย่อมมีทั้งคนดีและคนเลว และแม้จะมีเพียง บางส่วนของแม่พิมพ์ที่มีพฤติกรรมผิดเพี้ยน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้กับคำถามถึงบทบาทและการทำหน้าที่ของแม่พิมพ์ในวันนี้ ว่าครูได้ทำหน้าที่เพื่อลูกศิษย์ลูกหาสมกับการเป็นปูชนียบุคคลแล้วหรือยัง?
ในโอกาสวันครู 16 มกราคม 2556 ทีมการศึกษา ขอส่งแรงใจไปยังบรรดาแม่พิมพ์ของชาติ พร้อมความหวังที่จะเห็นแม่พิมพ์ไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสมดั่งที่ตั้งใจไว้ ทั้งมีเกียรติ ศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจในความเป็นครู
ขณะเดียวกันเราก็ขอฝากเพื่อนครูทั้งหลาย ต้องไม่หลงลืมที่จะตระหนักถึงหน้าที่ จรรยาบรรณ ด้วยจิตสำนึกที่ดีในอันที่จะเป็นต้นแบบ และหล่อหลอมเยาวชนให้เติบโตเป็นอนาคตที่ดีและมีคุณภาพของประเทศชาติ
เพราะวันใดก็ตามที่ครูหลงลืมหน้าที่และจรรยาบรรณที่ได้ปฏิญาณ และคิดหวังแต่ประโยชน์ส่วนตนแล้ว
วันนั้น คือ การเริ่มต้นนับถอยหลังของประเทศไทย!!!.
...
ทีมข่าวการศึกษา