นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม ไล่บี้ กสทช. รับผิดหวัง 1 ปี กับการผลงานโทรคม แก้ปัญหาผู้บริโภคไม่ได้ สอบตกด้านกำกับดูแล “อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์” เปิดงบรายจ่ายมากเกิน แต่ประสิทธิภาพไม่ถึงเป้า แนะแก้ปัญหาคืนคลื่น...

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวในงานเสวนา NBTC Public Furum ครั้งที่ 11 หัวข้อ "1 ปี กสทช. กับความสมหวังหรือไม่สมหวังของสังคมไทย" ว่า การกำกับดูแลของ กสทช. นับจากนี้จะดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งด้านโทรคมนาคมและด้านวิทยุโทรทัศน์ ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัญหาปัจจุบันมีจำนวนมากเนื่องจากการเกิดขึ้นของ กสทช.ล่าช้ากว่า 14 ปีทำให้ปัญหาที่ต้องจัดการและควบคุมดูแลเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้เวลาในการกำหนดแนวทางแก้ปัญหา ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ กสทช ต้องแสดงถึงความโปร่งใสในการกำกับดูแล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อป้องกันปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม กล่าวถึงประเด็นมุมมองผู้บริโภคว่า ผ่านไป 1 ปี ค่อนข้างผิดหวังกับการทำงานของ กสทช. เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ กสทช.ทำงานมา ยังไม่สามารถขจัดปัญหาความเดือนร้อนของผู้บริโภคได้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของอัตราการให้บริการของภาคเอกชนที่ยังคงคิดค่าบริการสูงกว่าต้นทุนการทำธุรกิจจริง ทั้งบริการด้านดาต้าและว้อยซ์ และการทำงานของ กสทช. ไม่ส่งผลในเชิงปฏิบัติ เพราะกฎหมาย กสทช. ไม่มีความชัดเจน เขียนกฎหมายกว้างมากไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้

นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม กล่าวต่อว่า ในด้านการกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม หลังทำงานมา 1 ปี จำนวนผู้ให้บริการก็ยังคงมี 3 รายเท่าเดิม ผู้ทำตลาดขายต่อบริการบนโครงการข่ายเสมือน หรือเอ็มวีเอ็นโอ ยังไม่เพิ่มกฎเกณฑ์ ด้านผู้ประกอบกิจการต่างด้าวยังคงไม่มีความคืบหน้า ราคาตั้งต้นการให้บริการก็ยังคงเริ่มต้นที่ 590 บาทเท่าเดิม แต่ผู้ให้บริการอ้างว่าเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตให้ ทั้งที่เอกชนควรจะสามารถลดอัตราค่าบริการตั้งต้นลงได้มากกว่านี้ ส่วนด้านการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน กสทช.นั้นล้มเหลว เพราะหาก กสทช.ต้องการให้กลไกตลาดทำงานด้านการตรวจสอบได้ก็จะตรวจสอบได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น กลไกตลาดทำงานไม่ได้ทุกเรื่อง เช่น การโฆษณาแฝง การตรวจสอบด้านจริยธรรม คุณธรรมในการทำธุรกิจ

...

นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท สยามอินเทลลิเจนต์ยูนิต จำกัด กล่าวว่า การทำงานของสำนักงาน กสทช.  1 ปีที่ผ่านมา ยังมีบทบาทที่ไม่ชัดเจนในการกำกับดูแลด้านกิจการโทรคมนาคม การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมยังไม่เกิดขึ้นแท้จริง ยังกีดกันเรื่อง การคงสิทธิเลขหมาย หรือนัมเบอร์พอร์ตทิลิตี้ ระหว่างผู้ประกอบการ แม้ทาง กสทช.จะออกกฎมากำกับดูแลแต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีความเคลื่อนไหว

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สยามอินเทลลิเจนต์ยูนิต กล่าวต่อว่า ส่วนประสิทธิภาพในการดำเนินงานนั้น จากงบรายจ่ายของ กสทช. ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. 2555 ใช้จ่ายไปจำนวนทั้งสิ้น 2,690 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าบุคลากร 960 ล้านบาท งบดำเนินงาน 1,416 ล้านบาท งบสิ่งก่อสร้าง-ครุภัณฑ์ 93 ล้านบาท และเงินสมทบกองทุน 175 ล้านบาท ซึ่งมีการใช้งบประมาณในการทำประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมมากเกินความจำเป็น ทั้งจำนวนบุคลากรและประสิทธิภาพต่อผลงานที่ออกมานั้น คิดว่าใช้งบด้านนี้ในจำนวนดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่

นายอิสริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมีข้อเสนอให้ กสทช. นำไปพิจารณา 2 ส่วน คือ 1.เรื่องแก้ไขเร่งด่วนปี 2556 ประกอบด้วย เรื่องเร่งด่วน ที่จะต้องแก้ไข คือ จะต้องเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการหมดสัญญาสัมปทานของคลื่นความถี่ 1800 MHz ในปี 2556 เรื่องกำกับดูแลบริการประเภทข้อมูล ทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพ และแก้ปัญหาของผู้บริโภคอย่างจริงจังและเป็นระบบ เรื่องดำเนินการเชิงรุกกับ USO และ 2. การแก้ไขระยะยาว กสทช. ควรจัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้เป็นฐานการตัดสินใจในการออกนโยบาย และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ควรจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ที่มากกว่าการจัดกิจกรรมและลงโฆษณาในสื่อ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประการที่ กสทช.ต้องสนใจมากกว่านี้ คือ การทำอาเซียนโรมมิ่ง เนื่องจากขณะนี้ อัตตราค่าโรมมิ่งแพงมาก จึงขอเสนอให้ กสทช. ทำความร่วมมือกับ กสทช.ในกลุ่มอาเซียนเพื่อให้มีการโรมมิงค่าบริการที่ถูกลง เพื่อใช้กันกลุ่มอาเซียน อีกทั้ง ที่ผ่านมา กสทช.ยังให้ความสำคัญในเรื่องนี้น้อยเกินไป และเรื่องปรับปรุงเว็บไซต์ของ กสทช.ให้มีความเข้าใจและหาข้อมูลให้ง่ายขึ้น.