อึ้ง หลุมหลบภัย จอมพล ป.สมัยสงคราม โลกครั้งที่ 2 แห่งสุดท้ายในภาคกลาง ถูกคนรุ่นลูกหลานเมิน คุณปู่อดีตทหารมหาดเล็ก รอ.ยืนยันจอมพล ป.เคยใช้พื้นที่เป็นค่ายพัก/ฝึกทหาร ปลูกบ้าน แล้วทำหลุมหลบภัยระเบิดยามฉุกเฉิน แต่พอสงครามยุติก็ถูกทิ้งร้างในป่ารกริมน้ำเมืองปทุม ขณะที่ชาวบ้านบอกแต่ก่อนมีอยู่หลายแห่ง แต่พอความเจริญรุกคืบ หลุมหลบภัยก็ถูกทุบทิ้ง จนเหลือเท่าที่เห็น ด้านท้องถิ่นเคยพยายามบูรณะให้เป็นอนุสรณ์สถานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่สุดท้ายยังไร้คนสนใจ จนทรุดโทรม
เรื่องราวของหลุมหลบภัยระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาคกลางที่ยังหลงเหลือให้เห็น แม้เวลาจะล่วงผ่านมากว่า7 ทศวรรษ และมีความสำคัญ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของไทย เคยใช้เป็นที่หลบภัย แต่กลับไร้คนสนใจในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านชุมชนบางสาน ม.6 ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี ถึงเรื่องราวของหลุมหลบภัยดังกล่าว ซึ่งเมื่อเดินทางไปตรวจสอบก็พบว่า พื้นที่บริเวณโดยรอบเป็นป่ารกร้างอยู่ติดริมคลองท้ายหมู่บ้าน และต้องเดินเข้าไปราว 500 เมตร จึงพบหลุมหลบภัยที่ว่า ซึ่งมีลักษณะขุดเป็นหลุมแล้วทำหลังคาทรงหลังเต่า ก่ออิฐถือปูนเสริมเหล็ก มีประตูเข้าออกได้ 2 ทาง คือ ทางเหนือและทางใต้ จุคนได้ประมาณ 15-20 คน สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แต่มีน้ำท่วมขัง และยังมีรูปปั้นทหารยืนถืออาวุธปืนประจำกาย ตั้งอยู่รอบๆ ประมาณ 10 ตัว
เมื่อสอบถามชาวบ้านถึงที่มาของหลุมหลบภัยดังกล่าว ก็ได้รับการเปิดเผยจาก ส.อ.เชิด บุญเอื้อ อายุ 85 ปี อดีตกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ชาวบ้านชุมชนบางสาน และเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวว่า ตอนนั้นอายุ 15 ปี พื้นที่ ต.บ้านใหม่ทั้งหมดเป็นทุ่งนาและป่า มีบ้านอยู่ 3-4 หลัง เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถูกสร้างให้เป็นค่ายทหารพักชั่วคราวของ ร.พัน. 7 สร้างที่ทำการเป็นกระท่อมมุงด้วยจาก และเกณฑ์คนมาฝึกทหารที่นี่
อดีตทหารเก่ากล่าวอีกว่า เดิมบริเวณจุดพบหลุมหลบภัยเป็นป่าทึบ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาสร้างบ้านพัก และหลุมหลบภัย ภายในป่ารกทึบนั้น เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามสังเกตเห็นจุดหลบภัย เตรียมไว้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เมื่อสงครามสงบ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังแวะเวียนมาพักอยู่บ่อยครั้ง จนลงจากตำแหน่งนายกฯ บ้านพัก หลุมหลบภัยจึงถูกปล่อยทิ้งไม่มีใครมาอยู่แล และพังลงตามกาลเวลา มีต้นไม้ปกคลุมไม่มีใครสนใจอีกเลย กระทั่งมีการค้นพบอีกครั้งเมื่อยี่สิบปีก่อน
ขณะที่ น.ส.จิรภา ศรีกระจ่าง อายุ 46 ปี ชาวบ้านชุมชนบางสาน กล่าวว่า ตั้งแต่เด็กคนเก่าแก่เล่าให้ฟังบ่อยว่าท้ายหมู่บ้านมีหลุมหลบภัย แต่ไม่มีใครเข้าไปดู เพราะมีต้นไม้ปกคลุมรกมาก จนเทศบาลตำบลบ้านใหม่ทราบ และเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเป็นอนุสรณ์แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกแห่ง ทั้งนี้ เดิมในพื้นที่มีหลุมหลบภัยหลายแห่ง แต่ถูกบุกรุกด้วยความเจริญ และถูกทำลายเปลี่ยนเป็นตึกและบ้าน จนไม่มีให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ดังนั้น อยากให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลหลุมหลบภัยดังกล่าว เพื่อเก็บรักษาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ต่อไป
ด้านนายสมบูรณ์ ปานย้อย นายกเทศบาลตำบลบ้านใหม่ กล่าวถึงหลุมหลบภัยแห่งนี้ว่าเดิมบริเวณที่ค้นพบเป็นพื้นที่ของราชพัสดุ หลุมหลบภัยสร้างขึ้นมาใน พ.ศ. 2484 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยประเทศญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปประเทศพม่าและอินเดีย ทำให้ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทหารญี่ปุ่นอย่างหนัก ประชาชนคนไทย และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องสร้างหลุมหลบภัย และบ้านพักฉุกเฉินไว้ตามที่ต่างๆ รวมถึงหลุมหลบภัยแห่งนี้ด้วย และจอมพล ป.จะมาที่บ้านพัก หากมีสัญญาณเตือนภัยมีการทิ้งระเบิด แต่บ้านพักปัจจุบันไม่เห็นแล้ว คงเหลือหลุมหลบภัยที่ถูกปล่อยรกร้างมานานจนทรุดโทรม กระทั่งมีชาวบ้านมาพบ จึงถือว่าเป็นสถานที่สำคัญแห่งประวัติศาสตร์ ในเหตุการณ์ของชาติไทย จึงต้องบูรณะบำรุงรักษาคงสภาพไว้ เพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษา มีการสร้างรั้วกั้นพื้นที่เพราะอยู่ใกล้ชุมชน เกรงว่าจะมีการรุกล้ำ สร้างความเสียหายให้กับหลุมหลบภัย พร้อมสร้างศาลา เพื่อให้เป็นพื้นที่พักผ่อนเชิงศึกษาประวัติศาสตร์
นายกเทศบาลตำบลบ้านใหม่กล่าวอีกว่า แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนรู้และสนใจเข้ามาดู เพราะทางเข้าค่อนข้างลึก หลุมหลบภัยก็เริ่มทรุดโทรมและมีน้ำท่วมขัง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะถือเป็นหลุมหลบภัยสมัยจอมพล ป. ในภาคกลางแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่แล้ว
...