กรมอุทยานฯ เตรียมจับจระเข้เพศผู้ 2 ตัว ออกจากน้ำตกผากล้วยไม้บนอุทยานฯ เขาใหญ่ก่อนปีใหม่ หลังเริ่มปรากฏตัวบ่อย ทำเอานักท่องเที่ยวหัวใจจะวาย หวั่นอันตรายเพราะตัวโตขึ้นทุกวันไล่งับทั้งคนและสัตว์ป่า โดยเฉพาะ “นาก” เกือบหมดลำน้ำแล้ว...
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2555 นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังนายกฤษฎา หอมสุด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ว่าให้มีการศึกษาขอบเขตการหากินของจระเข้ จำนวน 2 ตัว ที่อาศัยอยู่บริเวณน้ำตกผากล้วยไม้ บนอุทยานฯให้ชัดเจน และหามาตรการและวิธีการที่จะย้ายจระเข้ออกจากพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าจะทำร้ายนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและศึกษาธรรมชาติบนเขาใหญ่มาก
เบื้องต้นถ้าสามารถจับตัวจระเข้ได้ สิ่งแรกคือต้องนำมาตรวจเลือดและพิสูจน์ดีเอ็นไอ ว่าเป็นจระเข้สายพันธุ์ไทยหรือไม่ ถ้าพบว่าเป็นสายพันธุ์ไทยจริงก็จะนำไปปล่อยในพื้นที่อุทยานฯ ที่เป็นแหล่งอาศัยดั้งเดิมของจระเข้พันธุ์ไทย เช่น อุทยานฯปางสีดา จ.สระแก้ว เป็นต้น ถ้าเป็นสายพันธุ์อื่นก็จะต้องส่งไปให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ ดูแลต่อไป
นายธีรภัทร กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่าจะไม่มีการฆ่าจระเข้โดยเด็ดขาด แต่จะใช้วิธีการที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อจระเข้เป็นหลัก ทั้งนี้ในการศึกษาเบื้องต้นมีหลักฐานทางวิชาการยืนยันชัดเจน ว่าอุทยานฯเขาใหญ่ไม่ได้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของจระเข้สายพันธุ์ใดๆ ทั้งสิ้น
ด้านนายกฤษฎา กล่าวว่า ได้มอบหมาย ให้ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานฯ เป็นหัวหน้าทีมในการจับตัวจระเข้ โดยอุทยานฯ เขาใหญ่จะสนับสนุนงบประมาณไม่จำกัด เพื่อนำตัวจระเข้ออกจากนอกพื้นที่ให้ได้ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้
ที่ผ่านมามีรายงานว่ามีการพบเห็นจระเข้กินงูหลาม ลิง บางครั้งพบซากลิงครึ่งตัวอยู่ใกล้บริเวณที่อยู่อาศัยของจระเข้ และล่าสุดเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เขาใหญ่ต้องไปช่วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเก็บกล้องถ่ายรูปที่บริเวณน้ำตกผากล้วยไม้ เพราะนักท่องเที่ยวเกิดอาการตกใจจากการปรากฏตัวของจระเข้ ถึงแม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีรายงานการบาดเจ็บของนักท่องเที่ยว จากการทำร้ายของจระเข้ แต่อุทยานฯ ต้องป้องกันไว้ก่อน
หัวหน้าอุทยานฯเขาใหญ่ กล่าวอีกว่า จากการสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่พบว่าจระเข้ที่พบบนเขาใหญ่ทั้ง 2 ตัว เป็นเพศผู้ ความยาวลำตัวประมาณ 2 เมตร ซึ่งใหญ่โตกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ตาม หากมีนักวิชาการหรือภาคประชาชนบางฝ่ายแสดงความไม่เห็นด้วย ที่จะ ย้ายจระเข้ออกจากเขาใหญ่ อุทยานฯ ยืนยันจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส โดยจะมีการประกาศอย่างชัดเจนว่าจับได้หรือไม่ และผลการตรวจสอบดีเอ็นเอเป็นอย่างไร รวมทั้งข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
"ส่วนตัวแล้วมองว่าการจับจระเข้ครั้งนี้ ในทางกลับกันจะเป็นการช่วยเหลือจระเข้ ซึ่งเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ในพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ และยังจะช่วยลดความเครียดของจระเข้ในการไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ในธรรมชาติได้" นายกฤษฎา กล่าว
ด้าน น.สพ.ภัทรพล กล่าวว่า จระเข้บนเขาใหญ่ทั้ง 2 ตัว มีการพบตั้งแต่ช่วงปี 2547 และมีคำสั่งให้ศึกษาพฤติกรรมอย่างละเอียดตั้งแต่ช่วงปี 2552 พบว่าขณะนี้จระเข้ ทั้ง 2 ตัวมีความใหญ่ยาว 2 เมตรกว่า มีตำหนิครีบหางหัก ส่วนตัวเล็กกว่ายาวเกือบประมาณ 2 เมตร เป็นจระเข้ที่ถูกเอามาปล่อย เป็นสัตว์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีส์ของเขาใหญ่ เพราะไม่เคยมีจระเข้อาศัยอยู่บริเวณนี้มาก่อน ทำให้เกิดผลกระทบกับระบบนิเวศอย่างมาก ก่อนหน้านี้บริเวณเส้นทางน้ำตกผากล้วยไม้ไปยังน้ำตกเหวสุวัตระยะทางเกือบ 1 กม. ที่จระเข้ 2 ตัวอาศัยอยู่นั้น มีนากซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เวลาผ่านมา 9 ปี นากหายเกือบหมด รวมทั้งพวกปลา ตะกวด งู ลิง และกวาง ถูกจระเข้กินหมด เป็นการทำลายระบบนิเวศและสัตว์ประจำถิ่นเดิม
นอกจากนั้นยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มักไปแหย่จระเข้ ทำให้จระเข้ไล่งับ ซึ่งจะเป็นอันตรายได้ และจากคำบอกเล่าว่าจระเข้เริ่มไล่นักท่องเที่ยว ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะปกติจระเข้จะไม่ขึ้นไม่ไล่นักท่องเที่ยว ถ้าไม่โดนแหย่ก่อน หากปล่อยไว้จระเข้ก็จะมีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่จะจับตัว
น.สพ.ภัทรพล กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องจับตัวจระเข้ให้ได้โดยทีมงานต้องการสมาธิ เพราะเป็นการดำเนินการกับสัตว์ที่ดุร้าย ถ้าจับตัวได้ก็จะนำมาตรวจเลือด ตรวจดีเอ็นเอ ดูเพศและสายพันธุ์ให้ชัดเจน ก่อนดำเนินการต่อไป ส่วนการจับตัวจระเข้นั้น เบื้องต้นได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในฟาร์มจระเข้ยืนยันว่าต้องจับเป็น โดยจะใช้วิธีการวางข่าย หรือแหในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากหากดำเนินการพลาดไปในครั้งแรกแล้ว สัตว์พวกนี้จะจดจำ และทำให้การจับตัวยากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะไม่ใช้ยาสลบยิง เพราะจะเป็นอันตรายกับจระเข้ที่อาจจมน้ำตายได้
"ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เขาใหญ่ ยังพบมีการนำจระเข้ขนาดเล็ก 2 ตัว มาปล่อยในบริเวณอ่างเก็บน้ำสายศร ขอร้องคนที่เอาจระเข้หรือสัตว์ต่างถิ่นมาปล่อยด้วยวัตถุประสงค์ใดๆ ก็ตาม เป็นการรบกวนระบบนิเวศ และเป็นอันตรายทั้งกับคนและสัตว์ที่อยู่ในถิ่นอาศัยเดิม ขอให้ปรับเปลี่ยนความคิดเหล่านี้ เพราะไม่เกิดผลดีทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาว สัตว์ที่นำมาปล่อยก็ไม่มีความสุข เพราะผสมพันธุ์ไม่ได้ โดยสวัสดิภาพของสัตว์ป่าต้องได้รับการคุ้มครองในเรื่องนี้ วันนี้เราต้องหาคำตอบว่าจระเข้ทั้ง 2 ตัวเป็นสายพันธุ์แท้หรือลูกผสม ถ้าสายพันธุ์ไทยแท้ก็เป็นเรื่องดี จะได้หาทางจัดการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และยืนยันว่าเราต้องจับเป็นและต้องให้เกิดความปลอดภัยทั้งคนและสัตว์" น.สพ.ประจำกรมอุทยานฯ กล่าว.
...