เป็ดไข่ลูกผสมที่โตเต็มวัย.
ปัจจุบันการเลี้ยง “เป็ด” ในบ้านเรามีทั้งเพื่อสวยงามซึ่งมีไม่มากนัก และเป็นแหล่งอาหาร จากการศึกษาข้อมูลพบว่าจำนวน ประชากรเป็ดมากที่สุดในแถบเอเชียคือประเทศจีน รองลงมาคือ อินโดนีเซีย เวียดนาม ประเทศไทย ส่วน ตลาดไข่ปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลาง แถบจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ ที่นิยมบริโภคไข่เป็ดที่มีน้ำหนักไม่ใหญ่เกินไป
สำหรับ “จอมไซ้” เขมือบ อาหารไม่เลือก มีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ทั้งกากีแคมเบลล์ (Khaki Campbell) อินเดียน รันเนอร์ (Indian Runner) โซมาเลีย พันธุ์พื้นเมืองต่างๆ อาทิ พันธุ์นครปฐม พันธุ์กบินทร์บุรี พันธุ์ปากน้ำ และเพื่อให้ได้ พันธุ์ดี ทนโรค ให้ไข่อย่างต่อเนื่อง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) จึงพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ขึ้นใหม่กระทั่งได้ เป็ดไข่ “ซีพี ซุปเปอร์”
นายวัชรินทร์ คำมุงคุณ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บอกกับ “หลายชีวิต” ว่า เป็ดไข่ ซีพี ซุปเปอร์ เกิดจากการวางแผนการพัฒนาสายพันธุ์จากเป็ด 3 สายพันธุ์ ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป คือ ไข่ฟองใหญ่ ไข่ดก รูปร่างปราดเปรียว หากินเก่ง กินอาหารน้อย ทนต่อสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนได้เป็นอย่างดี เลี้ยงง่าย ทนโรค
...สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี สุขภาพแข็งแรง ให้ไข่เร็วและดก โตเต็มที่จะมีลักษณะเปรียว ขนสีน้ำตาล เริ่มให้ผลผลิตได้ตั้งแต่อายุ 17-18 สัปดาห์ ไข่ที่ได้จะมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ คือ เปลือกไข่หนา มีสีขาวและสีเขียวอ่อน ขนาดฟองใหญ่ น้ำหนักไข่เฉลี่ย 72 กรัม มีเนื้อไข่แดงที่มีลักษณะโดดเด่นมากกว่าไข่ปกติถึง 3% ในฟองที่เท่ากัน ส่วนปริมาณให้ไข่ดก 280-300 ฟองต่อปี ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์กากีไล่ทุ่งถึง 30 ฟองต่อปี...
แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู สามารถเลี้ยงได้ทั้งไล่ทุ่ง หรือบนพื้นสแลทของโรงเรือนเช่นเดียวกับโรงเรือนไก่ ขึ้นอยู่กับงบประมาณของเกษตรกร ซึ่งหลังจากรับเป็ด สิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติคือฝึกเป็ดกินน้ำ โดยจุ่มปากเป็ดลงไปในอุปกรณ์ให้น้ำ เพื่อให้เป็ดกินน้ำเป็น น้ำต้องสะอาดและมีให้กินตลอดเวลาและให้กินอาหารอย่างเต็มที่ พื้นที่การกกกับจำนวนเป็ดต้องมีความสัมพันธ์กัน ต้องไม่หนาแน่นจนเกินไป
และ...สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือน้ำจะต้องมีให้เป็ดได้เล่น ซึ่งจากผลงานทดลองพบว่าเป็ดจะสามารถให้ไข่ได้ดีกว่า 2-3% เปรียบเทียบกับการเลี้ยงแบบปล่อยพื้นแห้ง...
สำหรับเกษตรกรที่สนใจรายละเอียด หรือเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0–2680–4500, 0–2680–4532, 0–2680–4557 ในวันและเวลาราชการ.
...
เพ็ญพิชญา เตียว