สังเกตความสุขจากการเปลี่ยนใจไม่คิดเอาเรื่อง ว่าเย็นเหมือนคนหายป่วย สังเกตความทุกข์จากการปักใจคิดเอาเรื่อง ว่าร้อนเหมือนคนกำลังเป็นไข้ ในที่สุดใจจะฉลาดเลือกความเย็น และเห็นการทำโลกให้เย็นลง คือการมีสติแบบมนุษย์
จริงๆ ข้างต้นนี้เป็นอุบายวิธีแผ่เมตตาของพระพุทธเจ้านะครับ ท่านให้เห็นความพยาบาทเป็นเหมือนโรค เหมือนกำลังป่วยไข้ ถ้าหายจากโรคและความป่วยไข้ได้ก็จะกลับสดชื่น มีกำลังวังชาขึ้น หมายความว่า ถ้าพิจารณาเห็นความพยาบาทเป็นเหมือนโรค ‘ได้บ่อยๆ’ เข้า จิตก็จะฉลาดเลือก ‘อาการทางใจดีๆ’ มากกว่าจะหลงเลือก ‘ความสะใจแย่ๆ’
เมื่อจิตฉลาดเลือกความสุข และสะสมความสุขไว้มากพอ ก็จะรู้สึกอย่างเป็นไปเองว่าอยากเผื่อแผ่ความสุขให้คนอื่น ไม่เว้นแม้แต่บุคคลผู้น่ารังเกียจ หรือกระทั่งเห็นบุคคลน่ารังเกียจเป็นผู้มีพระคุณ เป็นเหตุให้เรารู้จักความสุขจากการฝึกแผ่เมตตาได้
แต่เอาเข้าจริง สำหรับมือใหม่หัดอภัย เพิ่งเริ่มนับหนึ่งกันวันนี้ เมื่อมีอาการผูกใจเจ็บ เหมือนใจมัดแน่นเข้ากับความน่าชิงชังของใครสักคน หรือเหตุอะไรสักอย่าง และ ณ จุดเกิดเหตุนั้น คุณจะไม่รู้สึกนึกอยากอภัย หรือกระทั่งไม่เห็นว่าโลกนี้มีเหตุผลสักข้อให้ควรอภัย ไหนจะเป็นเหมือนการให้ท้ายให้คนผิดยิ่งคิดเหลิงและกำเริบเสิบสานหนักเข้าไปใหญ่ ไหนจะเป็นการปล่อยให้ตัวเองจุก เจ็บ และคันคะเยอ ยิ่งกว่าอยากเกาแขนแล้วไม่ได้เกา
ณ จุดของการนับหนึ่ง ถ้าอดใจไม่ได้ อยากแก้แค้นนักก็แก้แค้นไป แก้แค้นเสร็จค่อยถามตัวเอง เอาแบบคุยกับตัวเองอย่างเปิดอกจริงๆ สักทีว่า ‘เสร็จแล้วหายป่วยไหม?’
ใจที่ป่วยคือใจที่ฟุ้งซ่านไม่หยุด คือใจที่ถูกความมืดแห่งอารมณ์เกลียดครอบงำไม่เลิก แล้วเราหายป่วยด้วยการแก้แค้นได้ไหม?
จากนั้นเปรียบเทียบดู แค่สังเกตไปเรื่อยๆ ว่า ‘จะเอาเรื่อง’ คือต้นเหตุให้ทุกข์ ให้เหน็ดเหนื่อย ส่วนการ ‘จะเลิกเอาเรื่อง’ คือต้นเหตุให้สุข ให้หายเหนื่อย สังเกตเข้ามาที่ใจกันเป็นเดือนๆ เป็นปีๆ ไม่ใช่แกล้งทำเดี๋ยวเดียว ในที่สุดจะเย็นจริง ถึงแม้ยังโกรธได้ ยังไม่ใช่พระอนาคามี ก็ไม่ผูกใจเจ็บเยี่ยงปุถุชนทั่วไปผู้ไม่รู้จักพระสัทธรรมอันเย็นของพระศาสดาแล้ว
มักมีคำถามว่า ถ้าใครทำผิดร้ายแรงจะไม่ให้เอาเรื่องเลยหรือ? ก็ต้องดูแบบอย่างเช่นพระศาสดา แม้ภิกษุทำผิด ท่านก็กำหนดโทษไว้หลายระดับ นับแต่ให้สารภาพผิด ประจานให้อาย ตลอดจน ‘ประหารทิ้ง’ (คือจับสึกแล้วไม่ต้องกลับมาบวชอีกเลย) นี่ก็แสดงว่าแม้ผู้มีเมตตาธรรมที่สุดในโลกก็ ‘จัดการ’ กับคนผิดเช่นกัน
การให้อภัย การไม่ผูกใจเจ็บ ไม่ได้เหมารวมถึงการไม่เรียกร้องสิทธิ์ ไม่ได้เหมารวมถึงการรักษาความถูกต้อง ถ้าเราเรียกร้องสิทธิ์อันชอบธรรม ถ้าเรารักษาความถูกต้อง โดยยืนพื้นอยู่บนการไม่ผูกใจ ก็นับเป็นวิถีทางแบบพุทธได้
ข้อสังเกตคือ เมื่อเรามีเมตตาจนกระทั่งใจเย็นจริง มีความสุขมาก และอยากให้คนอื่นสุขตาม เราจะพร้อมยอมผ่อนปรน และใช้วิธี ‘จัดการ’ ที่นุ่มนวลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่คิดอาฆาตมาดร้ายอยากให้ใครเจ็บกายหรือเจ็บใจเลย สิ่งแสดงออกที่นำหน้ามาก่อนเพื่อน ก็คือสายตา น้ำเสียง กิริยาอาการภายนอก ตลอดจนความคิดในหัวทั้งหมดครับ.
...

ดังตฤณ