เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบ 29 ปีเต็ม ย่างเข้าสู่ปีที่ 30 ของรายการโทรทัศน์ ที่เก่าแก่มาก และอยู่ยงคงกระพันมากรายการหนึ่ง
เอ่ยชื่อออกมาท่านผู้อ่านส่วนใหญ่จะร้องอ๋อทันที และจะได้ยินเสียงทุ้มๆของผู้บรรยายประจำ รายการนี้ เจื้อยแจ้วมาเข้าหูในฉับพลันทันทีเช่นกัน
รายการ “กระจกหกด้าน” ทางช่อง 7 สีนั่นแหละครับ ได้ดูได้ชมและได้ยินเสียงคุ้นๆเกือบทุกวัน เผลอแผล็บเดียว ย่างเข้าสู่วัย 30 เสียแล้ว
อย่ากระนั้นเลยเรามาทำความรู้จักกับรายการนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า...ว่าเพราะเหตุใดจึงอยู่ได้นานถึงขนาดนี้ และเป็นที่เชื่อกันว่าจะอยู่ต่อไปอีกนานแสนนานในอนาคตข้างหน้า
ผู้ให้กำเนิดรายการโทรทัศน์ประเภท สารคดีแต่มีเรตติ้งสูงประทับใจรายการนี้ก็คือ
คุณ สุชาดี มณีวงศ์ เจ้าของเสียงเอกลักษณ์ที่อยู่เคียงคู่รายการมาตั้งแต่แรกนั่นเอง
แม้จะไม่เคยร่ำเรียนด้านสื่อสารมวลชนมาโดยตรง แต่จากการที่เคยทำงานด้านสื่อมานานพอสมควร ตั้งแต่อยู่ฝ่ายโฆษณาไปจนถึงกองบรรณาธิการมีหน้าที่เขียนข่าว เขียนสารคดีเป็นงานหลัก
โดยเฉพาะเรื่องการเขียนสารคดี เธอเคยส่งเข้าประกวดและได้รางวัลมาหลายหมื่นบาททำให้มีความมั่นใจว่า หากมีโอกาสได้ทำสารคดีทางโทรทัศน์บ้าง ก็คงจะทำได้โดยไม่เหลือบ่ากว่าแรง
แล้ววันหนึ่งเธอก็เสนอความคิด ขอทำสารคดีสั้นๆก่อนเข้ารายการข่าวไปยัง “คุณแดง” หรือคุณ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ แห่งช่อง 7 ในยุคโน้นซึ่งเธอก็โชคดีได้รับโอกาส
ทำให้รายการ “กระจกหกด้าน” ซึ่งมีความยาวเพียงนาทีเดียว ได้ออกอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2526 และอยู่ยงคงกระพัน มาจนถึงวันนี้ออกอากาศไปแล้วกว่า 10,000 ตอน
อาจจะเปลี่ยนเวลาไปจากเดิมบ้าง และบางครั้งก็ยาวขึ้นบ้าง หรือกลับสั้นลงไปอีกบ้าง แต่ก็ยังคงออกอากาศเป็นประจำ ที่ช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณมาโดยตลอด
กลายเป็นฐานหลักของบริษัททริลเลี่ยนส์ฯ ที่เธอจัดตั้งขึ้น และเริ่มขยายงานออกไปทำสารคดี และกิจกรรมอื่นๆทางวิทยุและโทรทัศน์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้จากวันเริ่มต้นที่มีผู้ก่อตั้งช่วยกันทำงาน แค่ 3 คน กลายเป็นบริษัทขนาดย่อมๆ มีพนักงานกว่า 60 คนในปัจจุบัน
แต่ไม่ว่าจะยาวขึ้นหรือสั้นลง หรือเปลี่ยนเวลาออกอากาศไปบ้างตามความเหมาะสม สิ่งหนึ่งที่ “กระจกหกด้าน” ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือสุ้มเสียงการอ่าน หรือการบรรยายสารคดีที่หนักแน่น แต่ก็ทุ้มน่วมของคุณสุชาดี
“คงเป็นเพราะว่าค่าอ่านหรือค่าบรรยายนั้นแพงมาก...ตอนเริ่มจัดทำรายการใหม่ๆตั้งใจจะลดต้นทุน เลยตัดสินใจอ่านเอง...เพราะเห็นว่าเราก็เคยเป็นนักจัดรายการวิทยุมาก่อน มีแฟนๆเยอะเหมือนกันนะ ตอนช่วงสาวๆก็เลยเหมา อ่านมาเรื่อย” เธอเคยให้สัม-ภาษณ์ ไว้เมื่อสัก 7-8 ปีที่แล้ว
“แต่มาถึงเดี๋ยวนี้ การอ่านเองมันก็เหมือนว่าเราได้ ดูแลรับผิดชอบผลงานของเราด้วยตนเอง เป็นคนควบคุมผลผลิตขั้นสุดท้าย ก่อนออกตลาด...ประกอบกับว่าเรามีส่วนในสารคดี แต่ละเรื่องตั้งแต่คิดพลอตเขียนบท เมื่อได้มาอ่านหรือลงเสียงเองในช่วงท้ายเข้าอีกก็จะทำให้สมบูรณ์มากขึ้น”
ส่วนหนึ่งของความสำเร็จ คุณสุชาดีเชื่อว่าเป็นเพราะความถูกต้องของข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ในการจัดทำสารคดี ซึ่งได้มาจากการค้นคว้าและการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนควบคู่ไปกับการนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ให้ผู้ชมผู้ฟังรับข้อมูลแล้วตัดสินเอง ไม่ชักจูง ไม่ชี้นำ ไม่มีแม้แต่คำว่า “ต้อง” อย่างนั้น “ต้อง” อย่างนี้
ซึ่งก็เป็นไปตามคำสั่งสอนของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่เตือนให้ศิษยานุศิษย์ส่องกระจกรอบด้าน เพื่อชี้ให้เห็นความเป็นจริงของชีวิต มาจาก “ทิศ 6” ธรรมะของพระพุทธองค์ที่เคยแสดงไว้ว่ามนุษย์จะประสบชัยชนะถ้ารู้จักไหว้ทิศทั้ง 6 อย่างถูกวิธี
รายการกระจกหกด้านจึงเป็นรายการที่คำนึงถึงทิศทั้ง 6 ส่องกระจกให้ครบทั้ง 6 ด้านด้วยภาพที่ชัดเจนถูกต้องแล้วให้ผู้ฟังผู้ชมตัดสินใจเอง
ซึ่งผู้ชมผู้ฟังก็ตัดสินใจด้วยการติดตามเป็นแฟนอย่างเหนียวแน่น ทำให้รายการของเธอยืนหยัดมาได้ตลอด พร้อมรางวัลเกียรติยศต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 20 รางวัล ด้วยประการฉะนี้
ถามว่าตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมาสารคดีประเภทใด หรือชุดไหน ที่ทีมงานกระจกหกด้านมีความประทับใจและภูมิใจมากที่สุด
คำตอบของคุณสุชาดีก็คือทุกชุดที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ นับตั้งแต่ “พระบรมมหาราชวัง”, “ปิยมหาราชานุสรณ์”, “พระมิ่งขวัญของพสกนิกร”, “ธรรมราชาปัญญาบดี”, “บรมจักรินทร์ สยามินทราธิราช”, “2 ศตวรรษรัตนโกสินทร์” มาจนถึงชุดล่าสุด “ธรรมแห่งราชัน” ฯลฯ คือความภูมิใจสูงสุดของเธอและทีมงาน
เมื่อเร็วๆนี้ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากเดินทางมา 29 ปี จะเข้าสู่ปีที่ 30 ในปีนี้...กระจกหกด้านมีแผนจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร?
คุณสุชาดีตอบว่าขอเดินตามเทรนด์หรือแนวโน้มที่เป็นไฟต์บังคับของประเทศไทย ที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558
เธอหมายความว่า เรื่องราวที่เธอและคณะจะผลิตยังคงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไทย เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย และสถาบันหลักของชาติ ไทยที่คนไทยเคารพเช่นเดิม...แต่จะเน้นในการปรุงแต่งใส่ซับไตเติ้ล หรือคำบรรยายด้วยตัวอักษรเป็น ภาษาอังกฤษ ตลอดจนการนำเทคนิคใหม่ๆ เช่น การจัดทำกราฟิกต่างๆมาสอดสลับเพื่อให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งในบ้านเราและในอาเซียน
“มันอาจจะแพงขึ้น แต่เราก็พร้อมจะลงทุนและลงทุนไปแล้วด้วยนะ” เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าวพร้อมกับทิ้งท้ายว่าให้ลองติดตามเว็บไซต์กระจกหกด้าน www.krajokhokdan.com ของเธอดูบ้าง มีอะไรดีๆอยู่เยอะเลย
คอลัมน์นี้เห็นด้วยที่กระจกหกด้านจะโกอินเตอร์มากขึ้น ด้วยการพิมพ์คำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษในสารคดีชุดต่างๆ ดังที่มีการแถลงข่าว
แต่อย่าให้ถึงขั้นลงเสียงหรือบรรยายเป็นภาษาอังกฤษเชียวนะครับ เพราะพวกเรา อยากจะฟังเสียงนุ่มๆห้าวๆของคุณสุชาดีเป็นภาษาไทยมากกว่าภาษาต่างประเทศใดๆ.
...
“ซูม”