คำว่า “ฝรั่งหัวใจไทย” คงไม่ลึกซึ้งพอจะบรรยายถึงตัวตนแท้จริงของ “บรูซ แกสตัน” นักดนตรีชาวอเมริกัน วัย 65 ปี ผู้สร้างปรากฏการณ์ดนตรีไทยร่วมสมัยให้เป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วโลก โดยตลอดเวลากว่า 4 ทศวรรษ ที่เขาปักหลักใช้ชีวิตอยู่เมืองไทย ครูดนตรีหัวใจไทยเกินร้อยคนนี้ ไม่เพียงจะสร้างสรรค์บทเพลงและปรัชญาทางดนตรีมากมาย แต่ยังสร้างนักดนตรีรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักษ์ไทยอีกนับไม่ถ้วน เพื่อสืบทอดมรดกล้ำค่าของชาติ

“ผมเกิดที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โตมาในครอบครัวที่รักเสียงดนตรี และเริ่มรู้จักความงามของดนตรีตั้งแต่อายุ 3 ขวบ โดยสามารถ เล่นเครื่องดนตรีตะวันตกได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเปียโน, ออร์แกน และ เพลงขับร้องประสานเสียง ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย ผมก็เลือกเรียนสาขาวิชาที่ถนัดคือ ทฤษฎีดนตรี การประพันธ์เพลง และปรัชญา จบปริญญาโทในปี 1969 ช่วงเวลานั้นเกิดสงครามเวียดนามขึ้นพอดี หนุ่มสาวชาวอเมริกันจำนวนมากถูกส่งตัวมาประจำการใน ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการทำร้ายชีวิต เพราะเป็นมังสวิรัติ ไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม จึงเลือกรับใช้ชาติด้วยการทำงานอื่นตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอเมริกันจึงส่งผมมายังประเทศไทย เพื่อเป็นครูดนตรี ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือสังคม ตอนนั้นผมอายุแค่ 22 ปี”...ครูดนตรีผู้ปฏิวัติดนตรีไทยร่วมสมัย ย้อนรำลึกถึงความหลังตอนเดินทางมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ด้วยภาษา ไทยชัดถ้อยชัดคำไม่มีตกหล่น ระหว่างงานเสวนาทางดนตรี “Bangkok Music Forum ครั้งที่ 1” ภายใต้แนวคิด “เคาะกะโหลก โขกกะลา ประสาบรูซ แกสตัน” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

เดินทางมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ชีวิตสมบุกสมบันขนาดไหน

...

(ยิ้มกว้าง) ผมจำได้ว่าเดินทางมาถึงเมืองไทยตอนปี 1971 ทำงานเป็นครูสอนดนตรีที่พิษณุโลก ซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆที่ยังห่างไกลความเจริญ งานของผมคือเป็นครูอาสาสมัครสอนดนตรีให้เด็กประถมศึกษาที่โรงเรียนผดุงราษฎร์  ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนจนๆในความดูแลของคริสตจักร ไม่มีงบประมาณมากพอจะซื้อเครื่องดนตรี ผมจึงจำเป็นต้องคิดหาวิธีสอนเด็กนักเรียน โดยดัดแปลงไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นกับขลุ่ย เพื่อมาสร้างวงโยธวาทิต สอนเด็กนักเรียนเดินพาเหรดเท้าเปล่า และสอนให้รู้จักการเล่นดนตรีอย่างสร้างสรรค์ ตอนที่ประกวดวงโยธวาทิต วงของ เราเล่นเท้าเปล่า และแพ้ย่อยยับ เพราะเราไม่มีเงิน แต่ความจริงแล้วเราฝีมือดีกว่ามาก ผมสอนอยู่ประมาณ 6 เดือน แล้วย้ายไปเชียงใหม่ เพราะทางวิทยาลัยพายัพเปิดหลักสูตรดนตรีระดับปริญญาตรี ผมจึงกลายเป็นอาจารย์สอนดนตรีรุ่นแรก หลังจากสอนได้ 2 ปี ผมเดินทางกลับบ้านเกิด พอไปถึงอเมริกาก็รู้เลยว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านเราแล้ว ต้องกลับประเทศไทย

โหยหาอยากกลับเมืองไทยอีกครั้งเพราะมีอะไรสะกิดใจ

คงเป็นเพราะติดใจเสียงดนตรีปี่พาทย์นางหงส์ที่ได้ยินได้ฟังทุกวัน สมัยเป็นอาจารย์อยู่วิทยาลัยพายัพ หอพักของผมอยู่ติดกับป่าช้า เวลามีเผาศพในป่าช้า เพลงปี่พาทย์นางหงส์ก็จะบรรเลงขึ้นมาทุกที ผมเกิดความสนใจมาก จนวันหนึ่งตัดสินใจเดินลงไปดู เห็นเด็ก 10 ขวบกำลังนั่งบรรเลงอยู่ ผมเลยคิดว่า ถ้าเด็กสามารถเล่นได้ขนาดนี้ ผมต้องลองบ้าง ด้วยความเป็นนักดนตรีเหมือนกัน จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์นักดนตรีชาวบ้านละแวกนั้น ทำให้ได้รู้จักคุณค่าของเสียงดนตรีที่แตกต่างไปจากดนตรีตะวันตกอันคุ้นเคย นอกจากนี้ ผมยังสนใจในเรื่องพุทธศาสนาด้วย การใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ ทำให้ผมได้สัมผัสความงามของดนตรีท้องถิ่น ดนตรีล้านนาโบราณ ดนตรีชาติพันธุ์ต่างๆที่ปะปนกันอยู่ในเขตภาคเหนือของไทย และที่สำคัญคือได้พัฒนาความรู้เรื่องดนตรีไทยที่เข้มข้นขึ้น เนื่องจากช่วงนั้นกรมศิลปากรได้เปิดสาขาวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่เชียงใหม่ ทำให้ผมมีโอกาสเรียนดนตรีไทยจริงจัง โดยหัดระนาดเอกกับ “ครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ” และได้หัดปี่พาทย์รอบวงจาก “ครูโสภณ ซื่อต่อชาติ” อดีตศิษย์เอกครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งเดินทางไปพำนักกับครอบครัวที่เชียงใหม่ วิชาความรู้จากการเรียนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านในยุคนี้ ทำให้เกิดการทดลองประยุกต์การเรียนการสอนที่วิทยาลัยพายัพ โดยผสมผสานดนตรีสากลและดนตรีไทยเข้าด้วยกัน ผลงานเริ่มต้นที่สร้างชื่อเสียงคือการทำอุปรากรเรื่อง “ชูชก” พัฒนาจากวรรณคดีชาดกทศชาติตอนพระเวสสันดร ใช้วิธีการขับร้องประสานเสียงวงดนตรีปี่พาทย์ กังสดาล และการออกแบบประติมากรรมขนาดใหญ่รูปชูชกกินจนท้องแตก

อะไรคือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ทำให้กระโจนสู่เส้นทางสายดนตรีไทยเต็มตัว

ในงานมหกรรมดนตรีไทยอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวงดนตรีไทยวงหนึ่งนำเพลงชื่อ “ชเวดากอง” มาบรรเลง ทำนองเพลง กับจังหวะกระทบใจผมอย่างแรง พอถามจนรู้ว่าผู้แต่งคือ “ครูบุญยงค์ เกตุคง” เป็นนักระนาดฝีมือเยี่ยมและทำงานที่วงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพ ผมจึงไม่รอช้า รีบเดินทางจากเชียงใหม่ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์

เอาเข้าจริงๆแล้ว การเล่นดนตรีไทยยากกว่าดนตรีตะวันตกไหมคะ

ถ้าจะเรียนแบบไทย...ไม่ยาก ที่ยากเพราะจะเรียนดนตรีไทยแบบฝรั่ง คือ อ่านโน้ตเพลง เรียนทฤษฎี การเรียนดนตรีแบบไทย...ต้องนั่งกับครู แล้วครูต่อเพลงให้ทีละวรรค ทีละโน้ต ทีละเพลง มีอยู่วิธีเดียวเท่านั้น ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับวัฒนธรรมดนตรีไทย ก็เพราะเหตุนี้จึงต้องมีพิธีไหว้ครู สมัยนี้มีอินเตอร์เน็ต เราเรียนรู้ได้เอง แต่ว่าดนตรีไทย ผมว่ามันลึกซึ้งมาก ต้องมีครู และมีความศรัทธาจริงๆ

ตอนนั้นต้องฝึกหนักขนาดไหนกว่าจะได้วิชาจาก “ครูบุญยงค์”

...

“ครูบุญยงค์” ดุเหลือเกิน แต่ผมก็ตั้งใจว่าจะต้องขอวิชาให้ได้!! ผมทุ่มเททุกอย่างเพื่อฝึกฝนดนตรีไทยกับ “ครูบุญยงค์” ด้วยความเมตตาของครู ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ศิษย์ต่างชาติต่างวัฒนธรรมคนนี้อย่างไม่ปิดบัง ไม่ว่าจะเพลงหน้าพาทย์พิธีกรรม เพลงประโคม เพลงหมู่ เพลงเดี่ยว โดยเฉพาะปี่พาทย์และระนาดเอก ผมได้รับการถ่ายทอดวิชาด้านนี้ไว้มาก เพราะครูเป็นยอดนักระนาด ขนาดอดีตนายกรัฐมนตรีจีน “โจวเอินไหล” ยังยกย่องว่ามีเสียงระนาดไพเราะดุจ “ไข่มุกหล่นบนจานหยก” ซึ่งวิชาเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญให้ผมนำไปพัฒนางานดนตรีไทยร่วมสมัย

จู่ๆมีฝรั่งลุกขึ้นมาตีระนาด สังคมไทยยุคนั้นรับได้มากน้อยแค่ไหน

ทำไมผมจะรักดนตรีไทยเหมือนกับที่ผมรักโมสาร์ทไม่ได้!! ตรงกันข้าม ทำไมคุณชอบโมสาร์ท แต่ไม่ชอบดนตรีไทยล่ะ ทั้งๆที่เป็นคนไทย อันนี้ใครมีปัญหาทางจิตใจมากกว่ากัน...ระหว่างคุณกับผม!!

“วงฟองน้ำ” เป็นผลิตผลจากการพบกันของครูกับศิษย์ต่างชาติต่างภาษา?

ผมกับ “ครูบุญยงค์” ร่วมกันก่อตั้งวงฟองน้ำขึ้นในราวปี 1981 มีสมาชิกร่วมก่อตั้งคือ จิรพรรณ อังศวานนท์ ซึ่งต่อมาได้มีนักดนตรีไทยและนักดนตรีสากล ที่มีพื้นฐานทางดนตรีหลากหลายแขนง มารวมกันอยู่จำนวนมาก เป้าหมายแรกของเรา คือ การทด- ลองดนตรีประยุกต์ ที่ผสมผสานระหว่างดนตรีไทยกับสากล โดยใช้ทำนองเดิมของดนตรีไทย แล้วนำมา เรียบเรียงใหม่ ก็สร้างสรรค์เป็นผลงานมาเรื่อยๆ มีทั้งงานแสดงดนตรีสด, เพลงประกอบภาพยนตร์, เพลงประกอบละคร และงานสร้าง- สรรค์ร่วมกับศิลปินระดับโลกเยอะแยะ

...

นอกจาก “ครูบุญยงค์” แล้ว ยังมีครูดนตรีท่านไหนเป็นต้นแบบอีกบ้าง

ครูที่เป็นแม่แบบความรู้ในเชิงทฤษฎีดนตรีไทย ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย คือ “ครูมนตรี ตราโมท” ขณะที่ครูดนตรีสมัยที่อยู่อเมริกา “ชาร์ล ไอวฟ์” กับ “จอห์น เคจ” นักประพันธ์เพลงหัวก้าวหน้า ก็เป็นครูที่ผมเคารพนับถือมาก

อะไรคือเสน่ห์ของดนตรีไทยที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนชาติใดในโลก

คนไทยเวลาเล่นเพลงจะไม่เหมือนกันสักครั้ง ที่ผมรักเพลงไทยมากๆ ก็เพราะเพลงไทยมีโครงสร้างที่เปิด และมีการอิม-โพรไวส์บรรเลงกันแบบสดๆเป็นแก่นสำคัญ เหตุผลที่ผมประทับใจในดนตรีไทย เพราะมี 2 อย่างที่เป็นการท้าทายในชีวิต คือ ผมอยากรู้เพลงโบราณที่กำลังจะสูญหายไป ก็โชคดีได้เจอครูบาอาจารย์หลายท่านที่มีวิชาเหล่านี้ โดยเฉพาะเพลงยาวๆ เพลงไทยโบราณนั้นมีค่ามาก แสดงถึงความคิดที่ลึกซึ้ง และละเอียดอ่อน ขณะเดียวกันการจะนำเพลงไทยมาทำเป็นศิลปะร่วมสมัยก็ถือเป็นความท้าทายใหญ่มาก ส่วนใหญ่สร้างเพลงอยู่ภายใต้วิถีแนวคิดของคนโบราณแท้ๆ เพราะอยากปฏิวัติดนตรีไทยให้เป็นดนตรีร่วมสมัย ทำไปทำมาจึงกลายเป็นว่าผมเป็นนักแต่งเพลงไทยเต็มตัวไปแล้ว เดี๋ยวนี้แต่งเพลงฝรั่งไม่เป็นซะแล้ว ผมไม่ชอบเวิลด์ มิวสิก เพราะเป็นเพลงฝรั่งที่เอาสำเนียงเอเชียหรือแอฟริกาเข้าไป เหมือนผักชีโรยหน้า ผมไม่ได้แต่งแบบนั้น ผมแต่งเพลงไทยเว้ย แล้วเอาสำเนียงฝรั่งเป็นผักชีโรยหน้า

...

อนาคตของดนตรีไทยยังมีความหวังไหม

เรากำลังตกอยู่ในระบบที่ว่ากระดาษสำคัญกว่าความสามารถ โรงเรียนขายปริญญา นักเรียนซื้อปริญญา ทั้งโรงเรียนและนักเรียนก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่มีกระดาษพิสูจน์ว่ามีวุฒิ เป็นระบบแบบทุนนิยมเต็มตัว เน้นแลกเปลี่ยนเงินทองมากกว่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ โบราณพูดว่า “เมื่อลูกศิษย์พร้อม ครูจะปรากฏ” ผมโชคดีที่มีลูกศิษย์ดีๆเยอะ พร้อมที่จะสืบทอดวัฒนธรรมดนตรีไทย ส่วนที่ไม่ดี ขี้เกียจ, ไม่มีวินัย และเห็นแก่เงิน...ผมก็ทิ้งเลย!! ท่านพุทธทาสเคยสอนว่า “ศาสนาเป็นยารักษาจิตใจ” ก็เพราะคนไทยเต็มไปด้วยกิเลสและใจร้อน เลยมีศาสนาพุทธมาเป็นยารักษา สำหรับคนที่คิดสร้างสรรค์ผลงานและสืบสานวัฒนธรรมดนตรีไทย คุณต้องพร้อมเผชิญกับความมืด และต้องไม่กลัวที่จะค้นหาบางอย่างจากมัน ต้องไม่ลอกเลียนแบบหรือตัดต่อ ไม่นำผลงานคนอื่นมาปรับใหม่ ต้องมุ่งมั่นในแนวทางที่เลือกเดิน ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง.

ทีมข่าวหน้าสตรี