เผยเมนู เคยปลาหมอคางดำ ตามสูตร “ป้าจิตร บ้านหน้าโกฏิ อ.ปากพนัง เมืองคอน ยอดเมนูราคาสูงถึง กก.ละ 150 บาท โดยใช้วิธีดำน้ำจับแบบ “โล้ปลา” กลางคืน พร้อมสาธิตทำ “ขนมจีนน้ำแกงปลาหมอคางดำ” ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “วันจับตายปลาหมอคางดำ” 14 ก.ค.นี้ได้กิน

กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ที่ในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างหนักในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรี ได้จัดงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฏิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 ก.ค. 2567 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ในขณะที่ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ประชาสัมพันธ์โครงการโดยการประกาศจับตาย คดีแดงที่ 14/06/2567, ปราบวายร้ายแห่งลุ่มน้ำ กำจัดให้สิ้นซาก ซึ่งสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง สร้างความสนใจจากนักตกปลา นักล่าปลาทั่วจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง ตามที่เสนอข่าวไปต่อเนื่องแล้วนั้น

ความคืบหน้าในวันนี้ นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร อ.ปากพนัง ได้นำสื่อมวลชนเดินทางไปยังบ้านของนางสมจิตร ดีชู หรือ “ป้าจิตร” อายุ 74 ปี ชาวบ้านหมู่ 7 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งในปัจจุบันนางสมจิตร หรือ “ป้าจิตร” และครอบครัวได้หันมายึดอาชีพจับปลาหมอคางดำขายสดๆ และยังแปรรูปปลาหมอคางดำในรูปแบบต่างๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างงดงาม

...

นางสมจิตร ดีชู หรือ “ป้าจิตร” กล่าวว่า หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการประกอบอาชีพอื่นๆ ไม่ประสบความสำเร็จ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพไม่น้อย จนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาตนและสมาชิกในครอบครัวจึงหันมาจับปลาในบ่อบำบัดน้ำเสียบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฏิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และสามารถจับปลาหมอคางดำได้ครั้งละมากๆ แต่ในตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นปลาหมอคางดำคิดว่าเป็นปลานิล หรือปลาหมอเทศพันธุ์ใหม่ และไม่ทราบเลยว่าปลาชนิดนี้เป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” จากต่างแดนที่กินไข่หรือลูกปลาและสัตว์น้ำในท้องถิ่นชนิดอื่นๆ จนส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรงและขยายพื้นที่แพร่ระบาดกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ

ผู้จับปลาหมอคางดำ กล่าวต่อว่า ตอนแรกที่ทราบข่าวว่าทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรี และประมงจังหวัดรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกำจัดปลาหมอคางดำทั้งหมด โดยจะมีการใช้กากชาและสารเคมีโรยฆ่าปลาหมอคางดำให้ตายยกบ่อ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ตนและครอบครัวรวมทั้งเพื่อนบ้านที่ประกอบอาชีพจับปลาหมอคางดำ ตกใจมากๆ ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว โดยคิดว่าตนและครอบครัวจะหมดหนทางการประกอบอาชีพทำกิน ส่งผลกระทบต่อรายได้ ความเป็นอยู่ของครอบครัวตนเดือดร้อนอย่างแน่นอน

"จนกระทั่ง นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรและสื่อมวลชน เข้ามาอธิบายชี้แจงให้ทราบถึงมหันตภัยร้ายแรงของปลาหมอคางดำที่กระทบต่อระบบนิเวศ รวมทั้งปลาและสัตว์น้ำท้องถิ่นอย่างรุนแรง หากปล่อยไว้ต่อไปจะไม่เหลือปลาหรือสัตว์น้ำในท้องถิ่นหลงเหลืออีกเลย และยังชี้แจงถึงโทษตามกฎหมายหากใครลักลอบหรือแอบเลี้ยงปลาหมอคางดำมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับสูงถึง 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อนายไพโรจน์ และสื่อมวลชนยืนยันว่าจะไม่มีการใช้กากชา หรือสารเคมีโรยฆ่าปลาหมอคางดำแบบให้ตายยกบ่อ แต่จะใช้วิธีการจับโดยใช้เครื่องมือประมงรูปแบบต่างๆ เช่น ทอดแห ยกยอ ดักอวน ล้อมอวน ลากอวน ตนและชาวบ้านเห็นด้วยและดีใจเป็นอย่างมาก" นางสมจิตร กล่าว

ผู้จับปลาหมอคางดำ กล่าวอีกว่า ตนยืนยันว่าตน สมาชิกในครอบครัวและชาวบ้านพร้อมจะให้ความร่วมมือและร่วมโครงการจับปลาหมอคางดำ ในวันที่ 14 ก.ค. นี้อย่างเต็มที่ โดยจะร่วมในการไล่ล่าจับปลาหมอคางดำด้วย และตนจะทำเมนูปลาหมอคางดำหลายเมนูให้เจ้าหน้าที่และคนที่มาร่วมกิจกรรมได้รับประทานกัน เช่น ขนมจีนน้ำแกงปลาหมอคางดำ ปลาหมอคางดำแดดเดียว ปลาเปรี้ยว และที่สำคัญคือการนำ “เคย” หรือ ”กะปิ” จากปลาหมอคางดำ สูตรลับเฉพาะของ “ป้าจิตร บ้านหน้าโกฐ” มาประกอบอาหารเมนูต่างๆ ได้เหมือนกับเคยหรือกะปิทั่วๆ ไป แต่เคยปลาหมอคางดำสูตรของตนจะมีความเอร็ดอร่อยเป็นพิเศษ

...

ป้าสมจิตร กล่าวถึงการทำ “เคยปลาหมอคางดำ ตามสูตร “ป้าจิตร บ้านหน้าโกฏิ” เริ่มจากการไปจับปลาหมอคางดำมาจากแหล่งน้ำ นำมาขูดเกล็ด ตัดครีบ หางออก ตัดหัวและควักเครื่องในออก และแช่น้ำไว้ 5-6 ชม. เพื่อให้ปลาพอง จากนั้นจึงแกะหนังที่เป็นๆ สีดำๆ ออกให้หมด และนำเกลือมาคลุกซาวให้ทั่ว นำไปใส่ในภาชนะทำการหมักหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “อับ” ทิ้งไว้ 1-2 วัน จากนั้นนำไปแผ่ตากแดดให้พอแห้งหมาดๆ ก่อนจะนำเกลือมาโรยซ้ำและใส่ครกตำ หรือชาวบ้านเรียกว่า “เช” ให้เกลือและเนื้อปลามีความเค็มทั่วถึงกัน และนำไปบรรจุในไห หรือชาวบ้านเรียกว่า “เนียง”

ผู้จับปลาหมอคางดำ กล่าวอีกว่า หมักปลาหรืออับไว้ 15-20 วัน ก่อนจะนำออกมาแผ่ตากแดดอีกครั้งให้พอแห้งหมาดๆ นำมาตำหรือเชอีกครั้ง จากนั้นนำไปหมักหรืออับไว้ในไหหรือเนียงนาน 1 เดือน และนำออกมาตำหรือเชอีกเป็นครั้งสุดท้ายแล้วนำไปหมักในไหหรือเนียง นำผ้าสะอาดมาปิดฝาไหให้แน่น เรียกว่าการ “ขัดน้ำ” รอจนน้ำที่เหลือในเคยหรือกะปิซึมขึ้นมาอยู่ด้านบนผ้าปิดปากไหจนหมด จึงเทน้ำจากปากไหออก ก่อนจะแกะผ้าเปิดไหตักเคยหรือกะปิออกมา จะพบว่าเคยหรือกะปิจะมีสีขาวเทา สะอาด และมีกลิ่นหอมมากๆ ทำการใส่ถุงชั่งกิโลขายในราคากิโลกรัมละ 150 บาท ตนรับประกันความอร่อยของ "เคยปลาหมอคางดำ สูตร หรือ ป้าจิตร บ้านหน้าโกฏิ” สนใจสั่งซื้อโทร. 095-5821592

...


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวิธีการจับปลาของนางสมจิตร หรือ “ป้าจิตร บ้านหน้าโกฏิ” นอกเหนือจากการทอดแห ดักอวน ลากอวน ล้อมอวน แล้ว ยังมีวิธีแปลกพิสดารกว่าชาวบ้านทั่วๆ ไป คือการ “โล้ปลา” ในเวลากลางคืนซึ่งจะใช้หน้ากากติดไฟฉายดำน้ำลงไปค้นหาแหล่งที่ซ่อน หรืออยู่อาศัยของปลาหมอคางดำ ความลึกไม่เกิน 2 เมตร เมื่อพบปลาตัวที่ต้องการก็จะใช้ลูกศรทำด้วยเหล็กยาวประมาณ 1 ศอกเหนี่ยวด้วยหนังยางสติ๊กยิงใส่ปลาตัวดังกล่าว วิธีการนี้จะเลือกจับเฉพาะปลาหมอคางดำขนาดใหญ่เท่านั้น ไม่เกิน 4-5 ตัว/กก. ซึ่งจะอธิบายและสาธิตให้ชมในโอกาสต่อไป.