การประเมิน (Evaluation) เป็นการตัดสินคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจเป็นทั้งหมด หรือบางส่วน จึงไม่ใช่เป็น การประเมินผล ซึ่งจะประเมินเฉพาะ “ผลลัพธ์” แต่อาจเป็นส่วนของ “กระบวนการ” หรือ ส่วนของ "ปัจจัยนำเข้า" ก็ได้ ถ้าเป็นการประเมินระบบใดระบบหนึ่งแล้วนำความคิดเชิงระบบ ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า (Inputs) กระบวนการ (Processes) และผลลัพธ์ (Outputs) เป็นแนวทางของการประเมิน
ปรัชญาของการประเมินคือ การตัดสินคุณค่าของสิ่งที่ประเมินอย่างถูกต้อง เที่ยงตรง และเชื่อถือได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดประเสริฐสุดสำหรับการใช้เป็นแนวทางหรือทิศทางของการประเมิน การได้มาซึ่งกระบวนการและกลวิธีต่างๆ ให้สามารถตัดสินคุณค่าได้อย่างถูกต้อง เที่ยงตรงและเชื่อถือได้ จึงต้องใช้ความสามารถและความพยายามของผู้ประเมินเป็นอย่างมาก การประเมินเป็นการตัดสินคุณค่าโดยมีเกณฑ์ซึ่งส่วนมากเป็นระดับของคะแนนที่เป็นตัวเลขหรือที่เรียกว่าข้อมูลเชิงปริมาณ และระดับของความความดีงาม ที่เรียกว่าเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ
ในกระบวนการของการประเมินจะมีผู้ประเมิน และผู้ถูกประเมิน ความไม่พอใจในกระบวนการประเมินอาจเกิดขึ้นได้ทั้งฝ่ายผู้ประเมินและฝ่ายผู้ถูกประเมิน และอาจนำไปสู่ความไม่น่าเชื่อถือในผลการประเมิน
ปัจจุบัน การประเมินถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการหรือการปฏิบัติเพื่อจุดประสงค์ที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากการตกลงยินยอมหรือยอมรับเงื่อนไขของผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินที่ยินยอมให้ใช้ผลการประเมินเป็นแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งอาจเป็น ระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา สัญญาและอื่นๆ จึงเป็นสิ่งชอบธรรมที่ฝ่ายผู้เกี่ยวข้องยากจะโต้แย้งได้ แต่อย่างไรก็ตามการประเมินอาจจะสร้างความไม่พอใจกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขึ้นได้เสมอ
ในชั้นเรียน ครู/อาจารย์หรือผู้สอนเป็นผู้ประเมินและตัดสินผลการเรียนของผู้เรียน คำถามที่ผู้เรียนมักจะถามผู้สอนบ่อยๆ คือ ทำไมถึงหักคะแนนพวกเขา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้สอนอาจสร้างความเข้าใจเบื้องต้นว่าผู้เรียนทุกคนมีคะแนนเต็มเท่ากันอยู่ และเมื่อการเรียนการสอนผ่านไป คะแนนก็จะถูกหักออกไปเรื่อยๆ หรืออาจสร้างความรู้สึกให้ผู้เรียนว่าคะแนนที่ทำได้นั้นเป็นการแสดงถึงสมรรถนะแห่งตนของผู้เรียน การที่ได้คะแนนไม่มากหมายถึงการมีสมรรถนะแห่งตนไม่มากเช่นเดียวกับคะแนน การหักคะแนนจึงทำให้รู้สึกเหมือนเป็นการแสดงสมรรถนะที่ขาดหายไป
เมื่อการประเมินถูกนำมาใช้กับหน่วยงานและใช้กับผู้ทำงานทั้งในภาครัฐและในภาคเอกชน มีการเปรียบเทียบอย่างไม่พอใจว่าเป็นการทำให้หน่วยงานหรือผู้ปฏิบัติงานเป็นเหมือนโรงเรียนหรือนักเรียน โดยที่พวกเขาทำงานเพื่อให้ได้คะแนนสำหรับการประเมิน และผู้ประเมินเปรียบเหมือนครู/อาจารย์ หรือผู้สอนที่คอยมาตรวจงาน หรือการบ้านพวกเขาและให้คะแนน ถ้าผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ถูกประเมินมีความไม่พอใจในระบบการประเมินมาจากโรงเรียนเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียน ความไม่พอใจนั้นอาจมีมากขึ้นเมื่อต้องมาพบกับการประเมินอีกเมื่อเข้าสู่โลกของงาน
การประเมินอาจสร้างความไม่พอใจ (Discontents) ให้กับผู้ประเมินได้เช่นกัน เมื่อการประเมินนั้นเป็นถูกคุกคามอิสรภาพของการประเมิน และการประเมินนั้นนำไปสู่ความขัดแย้งทั้งในเรื่องของผลประโยชน์และความสงบเรียบร้อยขององค์กร และถ้าเป็นการประเมินที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก อาจหมายถึงความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของประเทศชาติได้
จริยธรรมของการประเมิน
เนื่องจากการประเมินเป็นการตัดสินคุณค่าของสิ่งที่ประเมินเพื่อมุ่งเป้าหมายของการพัฒนา สร้างเสริมคุณค่าเพื่อนำไปสู่การยอมรับและความเชื่อถือ รวมถึงการมีอำนาจขององค์การหรือผู้ทำการประเมิน การประเมินจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการประเมินส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งเป็นมนุษย์ปุถุชน ลักษณะธรรมชาติของมนุษย์มีการต่อต้านการประเมินอยู่บ้างไม่มากก็น้อยอาจจะเป็นได้ทั้งรายบุคคลและกลุ่มบุคคล การตัดสินคุณค่าที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ผลประโยชน์ ความสามารถ และประสิทธิภาพการทำงานของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ผลกระทบนี้อาจจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มที่นิยมการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เป็นกลุ่มหัวก้าวหน้า ชอบท้าทายและเห็นคุณค่าของการประเมินเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า กลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการประเมิน
2. กลุ่มที่ไม่นิยมการเปลี่ยนแปลง เป็นกลุ่มที่ขาดความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ยังต้องการคงสภาพเดิม หรือเพื่อรักษาผลประโยชน์ที่กำลังได้รับอยู่ กลุ่มนี้จะต่อต้านและกระทำทุกวิธีการไม่ให้การประเมินส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลง
3. กลุ่มระหว่างกลาง มีลักษณะทั้ง 2 อย่างและอาจจะเป็นกลุ่มใหญ่หรือเล็ก ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และสถานการณ์ และความเป็นสาธารณะของสิ่งที่ประเมิน กลุ่มนี้อาจจะให้การสนับสนุนหรือคัดค้านได้ตามผลประโยชน์ที่จะกระทบถึง
การพิจารณาแรงต่อต้านจากบุคคลเหล่านี้เป็นการเริ่มต้นตระหนักในผลกระทบของการประเมินที่จะทำให้มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ การแทรกแซงด้วยอิทธิพลใดๆ ในกระบวนการประเมินทำให้กระบวนการขาดความบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นการกระทำที่นักประเมินต้องตระหนักป้องกัน ระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น หรือขจัดตัวแปรและเงื่อนไขที่จะทำให้การประเมินขาดความเป็นธรรมได้ ข้อควรระวังของนักประเมินที่ควรยึดถือเป็นจริยธรรมของผู้ทำการประเมิน พอสรุปได้ดังนี้
1. อย่าเลือกประเมินเฉพาะโครงการที่จะส่งผลประโยชน์กับผู้หนึ่งผู้ใดหรือเป็นประเด็นที่ต้องการเสนอผลงานของความสำเร็จ เพื่อนำไปเป็นข้ออ้างหรือเงื่อนไขของผลประโยชน์
2. อย่าปกปิดเรื่องที่ประเมินเมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งล้มเหลว โดยการออกแบบแผนการประเมินให้ขาดความเป็นปรนัย มีการใช้ข้อมูลที่ผิวเผินหรือเลือกแบบแผนการประเมินที่ให้เห็นจุดอ่อนของการตัดสิน รวมทั้งเลือกนักประเมินที่ขาดประสบการณ์ในการประเมิน
3. อย่าล้มเลิกการประเมินเพื่อต้องการเอาใจผู้มีอำนาจ เมื่อเห็นว่าสิ่งที่จะประเมินจะสร้างความเสื่อมเสียให้กับหน่วยงานหรือผู้บริหาร การเปิดเผยคุณค่าการประเมินในทางลบเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาและปรับปรุง มิใช่เพื่อการทำลายชื่อเสียงหรือแสดงความด้อยประสิทธิภาพของผู้บริหาร
4. อย่าบิดเบือนข้อมูลและวิธีการรวบรวมข้อมูลในการประเมินหรือสร้างเสริมข้อมูลขึ้นเองเพื่อต้องการให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ หรือจัดสภาพหลอกให้ดูเหมือนการดำเนินการประเมินเป็นการกระทำด้วยวิธีการตามแบบแผนอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่การกระทำจริงไม่ได้ทำตามวิธีการที่ได้กล่าวไว้
5. อย่าถ่วงเวลา สร้างเงื่อนไขให้เห็นว่าการประเมินล่าช้าไม่เป็นที่น่าสนใจไม่ทันสมัย ทำให้ไม่น่าเชื่อถือผลการประเมิน
...
6. อย่าเบี่ยงเบนจุดประสงค์ของการประเมินหลักที่อาจจะล้มเหลวไปสู่จุดอื่นที่ให้ผลการประเมินในสภาพที่พอใจหรือแสดงความสำเร็จ
ข้อควรปฏิบัติสำหรับนักประเมิน
นอกจากจะละเว้นและป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงให้เกิดผลทั้ง 6 ประการแล้ว นักประเมินควรยึดหลักต่อไปนี้
1. ทำความเข้าใจถึงสภาพงานที่จะประเมินว่าใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์และอะไรอยู่ในใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินครั้งนี้
2. สร้างความมั่นใจว่าผลการประเมินจะเกิดประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าผลจะออกมาทางลบหรือทางบวกก็ตาม จุดประสงค์หลักของการประเมินเพื่อต้องการปรับปรุงและความสำเร็จ
3. ศึกษาเกณฑ์การตัดสินใจของผู้มีอำนาจรวบรวมข้อมูลแล้วพิจารณาดูความสอดคล้องของเกณฑ์การตัดสินใจของผู้มีอำนาจสูงสุดกับเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมิน
4. วางแผนการประเมินอย่างรอบคอบเป็นหลักฐาน โดยคณะกรรมการและผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจดำเนินการตามผลการประเมิน เพื่อให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการประเมิน รวมทั้งต้องกำหนดกระบวนการที่เหมาะสมในการรับหรือไม่รับผลการประเมินด้วย
5. เขียนรายงานการประเมินอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในส่วนที่แสดงถึงความล้มเหลว บกพร่อง ควรระบุถึงสาเหตุและเหตุการณ์ของข้อเสียเหล่านั้นพร้อมทั้งเตรียมหลักฐานและเหตุผลประกอบให้พร้อม ส่งให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจตรวจรายงานการประเมินก่อนที่จะนำตีพิมพ์ และเผยแพร่
ปัจจัยการเมืองที่มีผลต่อการประเมิน
ศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี ได้ให้แนวคิดและตั้งสมมติฐานจากแนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยการเมืองที่มีผลต่อการประเมินไว้ ดังนี้
1. กระแสการต่อต้านการประเมินเกิดขึ้นอยู่เสมอ และจะรุนแรงขึ้นถ้าการประเมินนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อบุคคลมากกว่าส่วนรวม
2. แม้นักประเมินพยายามที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยด้านการเมือง แรงกดดันทางการเมืองย่อมเข้ามามีอิทธิพลทางการเมือง มีแนวโน้มที่จะเข้ามาแทรกแซงการประเมินที่รุนแรงขึ้น
3. ถ้าผลการประเมินได้รับการคาดการณ์ว่าจะส่งผลถึงการเสียสมดุลของอำนาจทางการเมือง อิทธิพลทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะเข้ามาแทรกแซงการประเมินที่รุนแรงขึ้น
4. อิทธิพลทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการประเมินแบบ Summative มากกว่าการประเมินแบบ Formative
5. ถ้านักประเมินมีความเข้าใจการเมืองมากเท่าใด น่าจะทำให้การประเมินส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่พึงปรารถนามากขึ้นเท่านั้น
6. ผลสรุปจากการประเมินเป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้นอย่างหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจทางการบริหารและการเมือง
7. ข้อเสนอแนะจากการประเมินจะส่งผลในเชิงปฏิบัติเมื่อข้อเสนอแนะนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในทางการเมือง
8. นักประเมินควรผลักดันการประเมินให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมด้วยบทบาท ของการผสมผสาน ผลประโยชน์ระหว่างผู้สนับสนุนการประเมิน ผู้ให้ข้อมูล ผู้ใช้ข้อมูลอิทธิพลทางการเมืองและคุณธรรมของการประเมิน
สรุป
ผู้ประเมินจำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจปรัชญาของการประเมิน และใช้แบบแผนการประเมินอย่างดี นอกจากนั้นการดำเนินการประเมินและรายงานผลการประเมินจะต้องกระทำอย่างรอบคอบ มีจริยธรรม และคุณธรรมของนักประเมิน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการพัฒนา มิใช่เพื่อการทำลาย
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์