กลุ่มผู้เลี้ยงวัวเนื้อโคราชเฮ รัฐดัน “โคดำลำตะคอง” เนื้อโคคุณภาพสูงเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ด้าน เอ็นไอเอ จะจัดงาน Thailand Beef Fest 2024 มุ่งถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรทั่วประเทศ ที่ มทส. ระหว่าง 1-4 ก.พ. 67 นี้
หลังจากที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้เสนอรัฐบาลให้ผลักดันเนื้อวัว “โคดำลำตะคอง” กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเตรียมที่จะร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดงาน Thailand Beef Fest 2024 ขึ้น ในวันที่ 1-4 ก.พ. 67 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรมไฮไลต์ ได้แก่ นิทรรศการแสดงพันธุ์วัวไทย เทคโนโลยีการถ่ายทอดพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูง โรงเลี้ยงจำลอง จัดแสดงสายพันธุ์วัว นิทรรศการพันธุ์วัวเนื้อต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล โชว์การทำอาหารจากเนื้อวัวเกรดพรีเมียมโดยเชฟมืออาชีพ เป็นต้น
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 นายวิศิษฐิพร สุขสมบัติ หรือ อ.แป๊ะ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ นครชัยบุรินทร์ เล่าถึงที่มาของ "โคดำลำตะคอง" ว่า การพัฒนาพันธุกรรม “โคดำลำตะคอง” นั้นได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 60 จนถึงขณะนี้สายพันธุ์เริ่มนิ่งแล้ว แต่การจะพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูงนั้นไม่ใช่แค่การพัฒนาพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว ต้องมีการควบคุมโภชนาการ หรืออาหารของโคเนื้อด้วย สำหรับโคดำลำตะคองเราไม่ได้มองเพียงเรื่องโปรตีนหรือสารอาหารเท่านั้น แต่ลงลึกไปถึงไขมันที่แทรกอยู่ในเนื้อด้วย ซึ่งไขมันที่แทรกอยู่ในเนื้อโคดำลำตะคองนั้น จะมีกรดไขมันโอเมก้า 9 อยู่จำนวนมาก ประมาณ 50%
...
ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ นครชัยบุรินทร์ กล่าวต่อว่า กรดไขมันโอเมก้า 9 นี้ มีประโยชน์ในการช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งจะให้รสชาติที่อร่อยเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นการจะทำให้ในเนื้อวัวมีกรดไขมันโอเมก้า 9 จำนวนมาก จึงต้องเสริมด้วยอาหารที่มีคุณสมบัติเพิ่มไขมันโอเมก้า 9 ให้วัวได้กินด้วย ซึ่งตนเองได้ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) นำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ที่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาต่อยอดพัฒนาผ่านเทคโนโลยีโพรใบโอติกส์ (Prebiotics) โดยทำสาโทจากข้าวโพด ข้าวหมาก ข้าวเหนียว รวมทั้งใช้จุลลินทรีย์สังเคราะห์แสง ช่วยย่อยสลายใยอาหาร เพื่อที่จะได้ประโยชน์จากอาหารให้มากที่สุด เสริมอาหารเข้าไปในอาหารวัวด้วย ซึ่งจะทำให้เนื้อวัวมีรสชาติ และกลิ่มหอมกว่าเนื้อวัวทั่วไป
นายวิศิษฐิพร กล่าวอีกว่า ขณะนี้เนื้อ “โคดำลำตะคอง” เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ในเรื่องรสชาติความอร่อย ประกอบกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) พยายามที่จะผลักดันให้ “โคดำลำตะคอง” เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย นอกจากนี้ทางหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และหอการค้ากลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จะส่งเสริมยกระดับการผลิตเนื้อโคคุณภาพให้กระจายไปทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะที่ผ่านมาเราได้ทำการพัฒนาเนื้อโคคุณภาพในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก จนผลิตเนื้อโคคุณภาพไม่ทันต่อความต้องการของตลาด ดังนั้นตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่จะขยายพื้นที่การผลิตเนื้อโคคุณภาพเพิ่มขึ้นทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมกันนี้ก็จะผลักดันไปสู่ระดับประเทศต่อไปในอนาคตด้วย
ด้าน นายอรรควัฒน์ วิริยะขจรเกียรติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้เลี้ยงโคเนื้อลำตะคอง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ที่มาของ “โคดำลำตะคอง” นั้นเกิดจากแนวคิดที่จะพัฒนาคุณภาพเนื้อวัวที่มีคุณภาพสูง เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โดยเริ่มต้นจากการหยิบเอางานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และการศึกษาเนื้อโคคุณภาพสูงทั่วโลก ซึ่งพบว่าสายพันธุ์แองกัส และวากิว เป็นเนื้อโคที่มีคุณภาพสูง และมีรสชาติที่ดีที่สุดในโลก จึงได้นำมาพัฒนาต่อยอดผสมกับสายพันธุ์วัวพื้นเมืองโคราชของไทย จนได้โคลูกผสม 3 สายเลือด และให้เนื้อที่มีคุณภาพสูง โดยพัฒนาสายพันธุ์อยู่ใน เอ็น.วี.เค. ฟาร์ม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งอยู่ใกล้กับเขื่อนลำตะคอง จึงตั้งชื่อว่า “โคดำลำตะคอง” ตามแหล่งที่มา พอได้เนื้อคุณภาพสูงมาปรากฏว่าตอบโจทย์คนชอบรับประทานเนื้อโคมาก คนที่ได้รับประทานเนื้อโคดำลำตะคองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติหอมอร่อยกว่าเนื้อโคคุณภาพที่เคยรับประทานมาทั่วโลก ซึ่งตอนนี้เราได้พัฒนาสายพันธุ์โคดำลำตะคองมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ทำให้ได้เนื้อที่มีคุณภาพนิ่ง ทั้งลายมันที่สวยงาม ได้กลิ่น และรสชาติเดียวกันหมด
...
ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้เลี้ยงโคเนื้อลำตะคอง กล่าวต่อว่า หลังจากพัฒนาจนได้เนื้อโคคุณภาพสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก ก็ทำให้เราไม่สามารถผลิตเนื้อได้ทันต่อความต้องการของตลาด จึงได้มีการร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และความรู้ต่างๆ ให้เกษตรกรได้นำไปผลิตเพิ่ม จนทุกวันนี้มีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ร่วมทำฟาร์มโคดำลำตะคองแล้ว 8 วิสาหกิจชุมชน มีเกษตรกรเป็นสมาชิกอยู่ในวิสาหกิจชุมชนกว่า 300 ครัวเรือน โดยช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อได้มาก จากเดิมที่เลี้ยงโคเนื้อทั่วไปจะขายได้กิโลกรัมละ 82-85 บาทไม่เกินนี้ แต่โคดำลำตะคองจะขายได้ราคาขั้นต่ำไม่น้อยกว่ากิโลกรัมละ 105 บาท ไปจนถึงกิโลกรัมละ 165 บาท เฉลี่ยแล้วชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 28% เลยทีเดียว และที่สำคัญคือผลิตเท่าไหร่ก็ขายได้หมด เพราะตลาดเนื้อโคคุณภาพมีความต้องการสูงมาก
...
นายอรรควัฒน์ กล่าวถึงการที่รัฐบาลจะส่งเสริม “โคดำลำตะคอง” ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยว่า ส่วนตัวเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะว่าตลาดเนื้อโคคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการมากในตลาดทั่วโลก เพียงแต่ว่าตอนนี้ปริมาณโคดำลำตะคองยังไม่สามารถผลิตได้ในปริมาณมากเพียงพอที่จะส่งขายไปทั่วโลก เฉพาะที่ผลิตอยู่ทุกวันนี้ขายแค่ในประเทศก็ไม่พอแล้ว เนื่องจากเกษตรกรยังรับรู้ได้ไม่ทั่วถึง ดังนั้นถ้าหากได้รับการผลักดันจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงป้อนสู่ตลาดโลกได้ไม่ยาก และยังสามารถช่วยลดการขาดดุลการค้าในการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศได้ด้วย เพราะปัจจุบันนี้ประเทศไทยขาดดุลการค้าในการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศประมาณปีละ 7,000 ล้านบาท
ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้เลี้ยงโคเนื้อลำตะคอง กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมั่นใจว่าเนื้อโคดำลำตะคองมีรสชาติอร่อยไม่แพ้เนื้อโคคุณภาพใดๆ ในโลกแน่นอน เพราะมีการพัฒนาสายพันธุ์และการเลี้ยงอย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน ประกอบกับความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยที่เหมาะกับการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูง จะเป็นต้นทุนในการเป็นแหล่งผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงระดับโลกได้ ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ได้จดสิทธิบัตร แต่ได้จดเครื่องหมายการค้า และจดทะเบียน GI ไว้แล้ว โดยในอนาคตก็จะจดสิทธิบัตรไว้แน่นอน
...
"ขณะเดียวกันกรณีที่รัฐบาลจะเข้ามาส่งเสริม “โคดำลำตะคอง” เพื่อให้ไปถึงจุดการเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้นั้น สิ่งที่อยากให้เข้ามาช่วยเหลือก็คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้นก็ช่วยเหลือเรื่องกองทุนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ รวมถึงกองทุน FTA ด้วย ขณะนี้เกษตรกรเข้าถึงกองทุนเหล่านี้ได้น้อยมาก เพราะกองทุนเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเกษตรกร ถ้าจะให้เกษตรกรใช้เงินทุนส่วนตัวมาทำฟาร์มโคเนื้อคุณภาพสูง เกษตรกรไม่มีทุนแน่นอน เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้มีเงินทุนน้อย ตอนนี้เราสามารถพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูงได้แล้ว แต่ไม่สามารถผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงในปริมาณมากได้ ดังนั้นรัฐบาลจะทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้นี้ไปต่อยอดผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงได้ในปริมาณมาก ให้สามารถส่งขายไปได้ทั่วโลก หากทำได้ก็จะสงผลให้เกษตรกรไทยทั่วประเทศมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น อันจะส่งผลดีต่อ GDP ของประเทศที่สูงขึ้นตามไปด้วย" นายอรรควัฒน์ กล่าว.