ข่าวเรื่องเครื่องบินต้องมาบินวนสนามบินสุวรรณภูมิเป็นเวลานานกว่าจะได้ลงจอดนั้น ทิ่มแทงหัวใจของคนที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมเหลือเกินครับ นอกจากจะเสียชื่อเสียงเรื่องการบริหารจัดการที่แย่มากแล้ว ยังเสียชื่อในเรื่องสุวรรณภูมิสนามบินของไทยไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
วันเวลานาทีที่ภาพลักษณ์ของเราเสียหายในเรื่องสิ่งแวดล้อม สายการบินและสนามบินทั่วโลกกลับแย่งกันสะสมภาพลักษณ์ท่ีดีทางด้านนี้ หลายสายการบินทุ่มทุนพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อใช้สำหรับเครื่องบิน ที่ผมชมเชยก็คือสายการบินแควนตัส ที่ใช้น้ำมันซึ่งมีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพบินขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นสายการบินแรกๆ
น้ำมันพืชสำหรับทอดอาหารที่ถูกรีไซเคิลแล้วนี่แหละครับ สายการบินแควนตัสซื้อมาแล้วนำไปผสมกับน้ำมันเครื่องบินแบบเดิม ไม่ใช่ผสมน้อยๆนะครับ แต่ครึ่งต่อครึ่ง ผมหมายถึงใช้น้ำมันแบบเดิม 50% และน้ำมันพืชปรุงอาหารรีไซเคิลบริสุทธิ์อีก 50%
เครื่องบินที่ใช้น้ำมันแบบนี้ก็ไม่ใช่เครื่องบินขนาดเล็กกระจิริดกระจ้อยร่อย แต่เป็นเครื่องบินใหญ่ แอร์บัส เอ 330 เที่ยวแรกที่เริ่มบินเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ บินจากนครซีดนีย์ไปนครเอเดเลด
ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่มนุษย์ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข การกระดิกพลิกตัวของมนุษย์ในปัจจุบันทุกวันนี้ จึงต้องมีป้ายบอกถึงเรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เราเรียกกันว่า carbon footprint ซึ่งการใช้น้ำมันพืชปรุงอาหารรีไซเคิลมาผสมกับน้ำมันเครื่องบินแบบเดิม ทำให้เครื่องบินของสายการบินแควนตัสปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยกว่าเครื่องบินของสายการบินอื่นที่ไม่ได้ใช้น้ำมันแบบนี้มากถึง 60% พอมีผลงานด้านลดภาวะโลกร้อนชัดเจนอย่างนี้ รัฐบาลออสเตรเลียก็เลยมอบเงินให้สายการบินแควนตัสก้อนใหญ่ เอาไปใช้ทำวิจัย เอาไปพัฒนา และเอาเงินนี้ไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงให้วิจัยไปไกลถึงขนาดที่นอกจากจะผลิตใช้เองแล้ว ยังเอาไว้ขายได้อีกด้วย
1 กรกฎาคม วันชาติของแคนาดาปีนี้ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ บินจากเมืองคัลการี จังหวัดอัลเบอร์ตา ของแคนาดา มายังนครลอสแอนเจลิสของสหรัฐอเมริกาอีกรอบ พ่อผมมาแคนาดาครั้งนี้ในฐานะรองประธานคนที่ 1 ของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะกรรมาธิการนี้สนใจงานด้านรักษาสิ่งแวดล้อมของแคนาดามาก พ่อเล่าให้ผมฟังว่าเดี๋ยวนี้
สายการบินแอร์แคนาดาก็เริ่มมีเที่ยวบินที่บินด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งนำน้ำมันพืชปรุงอาหารรีไซเคิลมาผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบินเจ็ตโดยใช้บินกับเครื่องบินแอร์บัส 319 บินจากสนามบินโตรอนโตของแคนาดาไปยังกรุงเม็กซิโกซิตี สหรัฐเม็กซิโก พิสูจน์แล้วครับว่าลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 40% นี่ก็ยิงปืนนัดเดียวนกตกลงมาทั้งฝูงเหมือนกัน ได้ทั้งภาพลักษณ์ของสายการบิน ภาพลักษณ์ของประเทศ เสียค่าน้ำมันในราคาถูก ฯลฯ
เนเธอร์แลนด์ประเทศที่ผมมีถิ่นพำนักพักประจำอยู่ในปัจจุบันนี่แหละครับ (ยกเว้นช่วงนี้ต้องมาฝึกงานอยู่ที่กรุงปักกิ่ง) เป็นประเทศที่สนใจด้านพลังงานมาก บริษัทน้ำมันเชลล์ นี่ก็ของเนเธอร์แลนด์ เดี๋ยวนี้มีบริษัท Sky NRG ของเนเธอร์แลนด์ วิ่งหาซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วจากทั่วโลก เอามาผสมกับน้ำมันเครื่องบินแบบเก่าในอัตราส่วน 50 ต่อ 50 และก็ขายให้กับบริษัทสายการบินต่างๆ ปรากฏว่ากิจการนี้ไปดีมาก
วกกลับมาที่เที่ยวบินของสายการบินแอร์แคนาดา ซึ่งใช้เชื้อเพลิงชีวภาพนั้น เรียกได้ว่าเป็น Perfect Flight หรือเที่ยวบินที่สมบูรณ์แบบ เพราะเป็นการรวมเอาสุดยอดด้านการจัดการและปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในโลกยุคปัจจุบันมาใช้กับการบิน แม้แต่การนำเครื่องลงจอด ที่ปัจจุบันมีการคิดค้นวิธีการบินแบบ Continuous Descent Approach หรือ CDA ภาษาไทยน่าจะแปลว่า เทคนิคการร่อนแบบเสถียร การร่อนลงจอดแบบนี้ช่วยประหยัดน้ำมันมาก แถมเสียงที่เกิดจากเครื่องบินก็มีน้อยลงด้วย
ผู้อ่านท่านที่เคารพ ความต้องการจะเอาชนะภาวะโลกร้อนของมนุษย์ ทำให้มีการค้นคว้าวิจัยกันใหญ่โต และก็พบว่าแม้แต่การทำความสะอาดภายนอกของเครื่องบินนี่ ก็ช่วยให้เครื่องบินบินได้ดีขึ้น เสียค่าน้ำมันน้อยลง
ผู้อ่านท่านผู้เจริญ ประเทศไหนไม่ go green ยังมีนักท่องเที่ยวมากินผักตายคาห้องพักเกือบทุกปี หรือมีเครื่องบินที่จะมาจอดในประเทศต้องบินวนผลาญน้ำมันเล่นกันแทบทุกเที่ยวบิน อย่างนี้ไม่มีทางได้รับความเชื่อถือจากนานาอารยประเทศด้านสิ่งแวดล้อมได้ละครับ.
...
คุณนิติ นวรัตน์