“ช้างไทย ตำนานยิ่งใหญ่แห่งแผ่นดิน”...เป็นงานยิ่งใหญ่ที่...องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้...แต่สถานการณ์ปัจจุบัน...ช้างในประเทศไทยได้ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ช้างเลี้ยง มีจำนวนลดลงจาก 10,000 กว่าเชือก...เหลือเพียง 2,500 เชือก โดยมี อัตราลดลงเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี...สาเหตุที่ทำให้จำนวนลดลง เนื่องจาก ช้างอยู่อย่างหลบซ่อน และ ต้องทำงานหนักตลอดเวลา เช่น การนำมาเร่ร่อนในเมือง การใช้ในปางช้างเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ นั่งช้างชมป่า ซึ่งใช้แต่ ช้างเพศเมีย โดยมี ช้างเพศผู้เพียงไม่กี่เชือก ที่ถูกใช้เป็นพ่อพันธุ์ และพบว่า...มีคุณภาพน้ำเชื้อต่ำ ส่งผลให้ เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม...

นายวรวิทย์ โรจนไพฑูรย์ ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ บอกว่า อ.อ.ป. ได้จัดตั้ง...“โครงการจัดทำฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมช้าง หรือ DNA” ขึ้น โดยมีนายชัยภัฎ สมบูรณ์ดำรงกุล ผู้อำนวยการ อ.อ.ป.เป็นที่ปรึกษาคณะวิจัย ซึ่งคณะวิจัยประกอบด้วย น.สพ.ดร.สิทธิเดช มหาสาวังกุล และอีกหลายหน่วยงานมาเข้าร่วมทำงานในครั้งนี้ โดยเริ่มจาก การเก็บตัวอย่างเลือดช้างเลี้ยงทั่วประเทศ นำมาสกัดดีเอ็นเอ และ ถอดรหัสทางพันธุกรรม...!!
ผอ.สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ บอกอีกว่า นอกจากนี้ยัง เก็บตัวอย่างอุจจาระช้างป่า ที่อาศัยอยู่ทั่วประเทศมาบันทึกข้อมูลอีกด้วย ใน การวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรม และโครงสร้างประชากรช้างเลี้ยง ได้ทำการ เก็บตัวอย่างเลือดจำนวน 5 มิลลิลิตร จากเส้นเลือดที่ใบหูของช้างเลี้ยงทั่วประเทศ ประมาณ 2,500 ตัวอย่าง ก่อนทำการ บันทึกหมายเลขไมโครชิพ และ ตรวจสอบตั๋วพิมพ์รูปพรรณ พร้อมบันทึก ประวัติเพื่อให้ได้ข้อมูลตัวช้างมากที่สุด
...

จากนั้นเก็บตัวอย่างเลือด ในสารกันเลือดแข็งตัว EDTA หรือ Hepa-rin ไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ในกรณีที่สามารถส่งตัวอย่างมายัง ห้องปฏิบัติการภายใน 1 สัปดาห์ และทำการแช่แข็งตัวอย่าง ส่วนใน กรณีที่ต้องเก็บไว้นานกว่า 1 สัปดาห์ ทำการ สกัดดีเอ็นเอจากเลือดทุกตัวอย่าง ด้วยชุดสกัดดีเอ็นเอสำเร็จรูป และตรวจสอบคุณภาพดีเอ็นเอที่สกัดได้ด้วยการให้เคลื่อนที่ บน 1% agarose gel electrophoresis และทำปฏิกิริยา polymerase chain reaction เพื่อทดสอบความสามารถในการ เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอเป้าหมายด้วยไพรเมอร์ และ ทำการตรวจสอบในตัวอย่างดีเอ็นเอตัวแทนอย่างน้อย 300 ตัวอย่าง
สำหรับ การวิเคราะห์ ความหลากหลายทางพันธุกรรมและโครงสร้าง ประชากรช้างป่า ทำการเก็บตัวอย่างก้อน อุจจาระสดอายุไม่เกินหนึ่งวันให้ได้ปริมาณอย่างน้อย 5 กรัม จากช้างป่าไม่ซ้ำกันในแต่ละ ผืนป่าอย่างน้อย 30 ตัวต่อผืนป่า ก่อน เก็บทำการวัดขนาดของอุจจาระ เพื่อนำไปเทียบกับขนาดของอุจจาระช้างเลี้ยงเพื่อประเมินอายุของช้าง ก่อนจะเก็บรักษาตัวอย่างอุจจาระใน สารละลายเก็บรักษาคุณภาพดีเอ็นเอ ที่ประกอบด้วย สารละลาย เกลือแกงอิ่มตัว และ ทำการสกัดดีเอ็นเอจากอุจจาระด้วยชุดสกัดดีเอ็นเอสำเร็จรูป...

...ขั้นตอนสุดท้าย ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ด้วยโปรแกรม DNA star จากนั้นนำมา ประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรม...ความเชื่อมโยงกันของช้างในแต่ละพื้นที่ และ โครงสร้างประชากร ก่อนจะนำไปเก็บบันทึกไว้ที่ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ...
ผลการดำเนินงานโครงการฯนี้ จะเป็นประโยชน์ด้านการวาง แนวทางการอนุรักษ์ช้างเลี้ยง และ ช้างป่าในอนาคต สามารถป้องกันการนำ ลูกช้างป่ามาสวมเป็นช้างเลี้ยงได้ รวมถึงการ สวมตั๋วรูปพรรณในช้างเลี้ยง และ พิสูจน์ความสัมพันธ์การเป็นพ่อแม่ลูก ได้จากฐานข้อมูล “ดีเอ็นเอ”.
ไชยรัตน์ ส้มฉุน