พิตบูลเทอร์เรียร์
“สภาพศพมีรอยเขี้ยวสุนัขกัดและ ขย้ำเป็นแผลฉกรรจ์ทั้งตัว ซี่โครงหัก 3 ซี่ พบรอยลากศพผ่านใบยางพาราแห้งระยะทางราว 4–5 เมตร เสียชีวิตมาประมาณ 8–12 ชั่วโมง”
ข้อความบรรยายสภาพศพพ่อเฒ่าวัย 74 ปี ที่ถูกเจ้าพิตบูลเทอร์เรียร์และบางแก้วทั้งตัวผู้และตัวเมีย รุมกัดขย้ำจนจมเขี้ยว เหตุเกิดเมื่อ 10 ก.พ.2555
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก...ที่เกิดเหตุสยดสยองเช่นนี้ ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน เกิดเหตุสลดที่สุนัขซึ่งเคยเคล้าคลออยู่ร่วมบ้าน ประสาทาสที่ซื่อสัตย์
ก่อเหตุกัดคนทั้งที่เป็นเจ้าของและไม่ใช่เจ้าของ ปรากฏเป็นข่าวถึง 5 ราย ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวอาจจะมีอีกนับไม่ถ้วน
ไล่เรียงเวลาเกิดเหตุแล้ว เป็นระยะเวลากระชั้นชิดติดกัน รายแรก 15 ธ.ค. 54 “ไข่ตุ๋น” สุนัขพันธุ์พิตบูลเทอร์เรียร์ วัย 2 ขวบ กระโจนกัดหัว คอ งับแขนลากออกมาขย้ำ จนหญิงชราวัย 71 ปี ที่เลี้ยงดูให้ข้าว ให้น้ำ แถมไม่เคยทุบตี ล้มลง ขาดใจตาย...10 ม.ค. 55 “เบนเทน” ร็อตไวเลอร์ ไม่ระบุอายุ ขย้ำ “น้องนิ่ม” วัย 7 ขวบ มีแผลเหวอะหวะที่หัว ลำตัว โชคดีที่มีคนเข้ามาช่วยไว้ทัน น้องนิ่มรอดตาย แต่อาการก็สาหัส
30 ม.ค. 55 สุนัขพันธุ์อเมริกันพิตบูลเทอร์เรียร์ ไม่ระบุชื่อ ขย้ำเมียฝรั่งทั้งที่คอ หัวไหล่ขวา และตามตัวจนเป็นแผลฉกรรจ์ ขณะที่ผัวฝรั่งเดินทางกลับต่างประเทศ...9 ก.พ.55 สุนัขไทย ไม่ทราบสายพันธุ์ 2 ตัว หลุดออกมาจากบ้านเจ้าของรุมขย้ำเด็กหญิงวัย 7 ขวบ ทั้งที่ขา ข้อศอก ลำตัว โชคดีไม่เสียชีวิต
สัตวแพทย์หญิงปราณี พาณิชย์พงษ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ประกาศเตือนภัยผ่านเว็บไซต์สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ระบุรายละเอียดของสุนัขพันธุ์ดุร้ายที่มีประวัติทำร้ายคน หรือพยายามทำร้ายคน 5+1 สายพันธุ์
5 หมายถึง 5 สายพันธุ์ที่จัดอยู่ในข่ายสุนัขควบคุมพิเศษตามข้อบัญญัติการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร
หมายความว่า ใครที่คิดจะเลี้ยงเจ้าสี่ขา 5 สายพันธุ์นี้ จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เช่น เจ้าของต้องเลี้ยงสุนัขเฉพาะในบ้าน ควบคุมสุนัขมิให้ออกนอกสถานที่เลี้ยงโดยปราศจากการควบคุม, การนำสุนัขควบคุมพิเศษเหล่านี้ออกนอกสถานที่เลี้ยง ต้องใส่อุปกรณ์ครอบปาก ต้องผูกสายลากจูงที่แข็งแรง ต้องจับสายลากจูงห่างจากตัวสุนัขไม่เกิน 50 ซม. ตลอดเวลา
ห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือเกินกว่า 65 ปี นำสุนัขควบคุมพิเศษออกนอกสถานที่เลี้ยงโดยปราศจากเครื่องควบคุมที่มั่นคงแข็งแรงพอที่จะป้องกันมิให้เข้าถึงบุคคลภายนอก
ส่วนอีก 1 คือสายพันธุ์ที่ไม่ได้อยู่ในกฎเกณฑ์ที่ว่า แต่มีประวัติความดุร้าย เคยทำร้ายคนจนได้รับบาดเจ็บ
เริ่มนับหนึ่งสุนัขพันธุ์ดุ ตัวจริง เสียงจริง กัดจริง “ตายจริง” สายพันธุ์แรก ฟิล่า บราเซิลเรียโร (Fila Brasileiro) เป็นสุนัขพันธุ์ดุที่สุดในโลกสายพันธุ์ดั้งเดิมเป็นสุนัขพื้นเมืองของบราซิล ที่เลี้ยงในไร่ขนาดใหญ่ เพื่อขับไล่เสือหรือหมี ต่อมามันถูกพัฒนาให้เป็นสุนัขใช้งานขนาดใหญ่และแข็งแรง เพื่อตอบสนองความต้องการของฝรั่งนักล่าอาณานิคม
ฟิล่า กลุ่มแรกที่ถูกบันทึกไว้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ปี ค.ศ.1671 ยังไม่มีใครรู้ต้นตอที่แท้จริงของฟิล่าเหล่านี้ แต่จากเอกสารที่มีการบันทึกไว้ สรุปได้ว่า เจ้าฟิล่าเป็นสุนัขที่เกิดจากการผสม 3 สายพันธุ์ คือ โอลด์อิงลิช บูลด็อก (Ancient Bulldog) มาสทีฟ (Mastifsfs) และบลัดฮาวด์ (Bloodhounds)
ฟิล่าเป็นสุนัขตัวโต มีพละกำลังมาก ปราดเปรียวว่องไว มันเป็นสุนัขล่าเนื้อจากต่างประเทศที่มีการนำเข้ามาเลี้ยงตามบ้าน ทั้งๆที่ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะมันไม่ใช่สุนัขสำหรับคนทั่วไป เจ้าของที่จะสามารถดูแลฟิล่าได้ต้องมีความพร้อมจริงๆ ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย เวลาว่าง
คนที่จะเลี้ยงเจ้าฟิล่าต้องเป็นคนแข็งแรงพอสมควร เพื่อที่จะสามารถคุมมัน เวลาที่จูงมันออกไปเดินเล่น โดยเฉพาะฟิล่าตัวผู้ต้องระวังมาก ไม่ควรปล่อย
ให้คนแก่หรือเด็กดูแลมันโดยลำพังเป็นอันขาด เพราะเมื่อมันเห็นคนแปลกหน้ามันอาจจะดึงเชือกแล้วห้อกระโจนออกไป จนไม่สามารถที่จะควบคุมมันได้
อีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ ตัวก่อเรื่องสำคัญ แต่เป็นพระรองในกลุ่มของสุนัขพันธุ์ดุร้าย แน่นอนที่สุด เป็นใครไปไม่ได้ นอกจากเจ้า “อเมริกัน พิตบูลเทอร์เรียร์” พวกมันเป็นสุนัขที่สืบเชื้อสายมาจากสุนัขล่าสัตว์โดยตรง มันจึงเป็นสุนัขที่มีรูปร่างสันทัด เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ และสายตาที่จ้องเขม็งไม่กลัวใคร มีสัญชาตญาณและนิสัยดุร้าย
การเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ แน่นอน คนเลี้ยงคงไม่ได้อยากเลี้ยงเพื่อให้มันมาเคล้าคลอเหมือนเจ้าพวกพูเดิ้ล บีเกิ้ล หรือแม้แต่โกลเด้นรีทีฟเวอร์ทั้งหลายเป็นแน่ ให้รู้เอาไว้อีกว่า สุนัขพันธุ์นี้ตายยาก! ไม่ว่าจากโรคภัยหรือการบาดเจ็บ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกมันถูกปรับปรุงสายพันธุ์ ให้เป็นนักต่อสู้ ล่าสัตว์ และเฝ้ายาม
ถัดมา...ร็อตไวเลอร์ ความดุร้ายของมันเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยๆ พอๆกับเจ้าพิตบูล พวกมันเคยถูกเลี้ยงไว้ใช้งานในการคุ้มกันกองคาราวานสินค้า ในประเทศแถบยุโรป
ประวัติของมันน่าสนใจ บันทึกเล่าว่า ครั้งหนึ่ง เจ้าของกองคาราวานสินค้าได้นำสุนัขเข้ามาพักผ่อนในเมือง ชายขี้เมาคนหนึ่งพยายามเข้ามาทำร้ายเจ้าของ เจ้า “ร็อตไวเลอร์” จึงเข้าปกป้อง ต่อมาเมื่อคนเห็นว่าสุนัขพันธุ์นี้มีทั้งพละกำลังและความดุร้าย หวงแหนเจ้าของ จึงนำมาเลี้ยงและใช้งานพวกมันในฐานะสุนัขอารักขาที่น่าเกรงขาม
สุนัขพันธุ์นี้มีความพิเศษ มันเป็นผู้กำหนดลักษณะนิสัยของเจ้านาย ไม่ใช่ให้เจ้านายเป็นผู้กำหนด ดังนั้น คนที่คิดจะเลี้ยงเจ้าร็อตไวเลอร์ ต้องถามตัวเองก่อนว่า เป็นคนมีวินัยเพียงพอที่จะทำให้มันเคารพและเชื่อถือหรือไม่
สแตฟเฟิร์ดไชร์ บูล เทอร์เรียร์ เห็นหน้าตาของสุนัขพันธุ์นี้แล้ว รับรองว่า คงไม่มีใครอยากเข้าใกล้ เพราะหน้าตาของมันดุร้ายตั้งแต่แรกเห็น เป็นสุนัขพันธุ์ผสมระหว่าง บูลด็อก และ โอลด์ อิงลิช เทอร์เรียร์ ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว
สแตฟเฟิร์ดไชร์ บูล เทอร์เรียร์ ถูกฝึกฝนให้มีความฉลาด ซื่อสัตย์ เพื่อเพิ่มความดุเดือดในเกมแข่งขัน “พนันกัดสุนัข” โดยพวกคนงานขุดเหมืองแร่และช่างตีเหล็กในยุโรป และเพราะมันเป็นสุนัขที่ต้องกัดเพื่ออยู่
สุนัขดุพันธุ์สุดท้าย คือ บูลเทอร์เรียร์ เป็นสุนัขในกลุ่ม (Terrier Group) คือ หนึ่งในสุนัขประเภทเทอร์เรียร์ 4 สายพันธุ์ ที่ใช้ในการกัดสุนัข เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างบูลด็อก, ไวท์ อิงลิช เทอร์เรียร์ และสแปนิช พอยต์เตอร์
บูลเทอร์เรียร์ เป็นสุนัขที่มีหน้าตาแปลกๆ มันเป็นสุนัขในกลุ่มเดียวกับสแตฟเฟิร์ดไชร์ บูล เทอร์เรียร์ เพราะใช้ในกีฬาพนันกัดสุนัขเหมือนกัน
เป็นสุนัขที่แข็งแรงมากๆพันธุ์หนึ่ง เป็นนักสู้ที่ใจถึง เป็นสุนัขอารักขาที่กระฉับกระเฉง ที่สำคัญคือ มันเป็นสุนัขที่รักครอบครัวและอาณาเขตของตัวเองโดยสัญชาตญาณ
ข้อแตกต่างของสุนัขพันธุ์ดุตัวอื่นก็คือ แม้จะดุร้าย แต่บูลเทอร์เรียร์ กลับเป็นสุนัขที่เข้ากับเด็กๆได้ดี ถ้ามีการฝึกฝนมาตั้งแต่ต้น มันจะก้าวร้าวก็เฉพาะกับสุนัขที่ทำตัวเป็นเจ้าถิ่นเท่านั้น
สุดท้าย สุนัขพันธุ์บวกหนึ่ง ที่ถึงจะไม่ติดกลุ่มสุนัขดุร้ายในโลก แต่ก็เป็นสุนัขดุที่เคยก่อเหตุมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แถมมันยังเป็นสุนัขเลือดไทยแท้อีกด้วย นั่นก็คือ “สุนัขบางแก้ว” นั่นเอง
บางแก้ว แม้จะตัวเล็กกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่ก็เป็นสุนัขดุ ต้นกำเนิดของสุนัขสายพันธุ์นี้ อยู่ที่วัดบางแก้ว ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ในอดีตเป็นป่าที่มีสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งสุนัขจิ้งจอกและสุนัขใน สันนิษฐานว่า สุนัขบางแก้ว เกิดจากสุนัขจิ้งจอกและสุนัขในตัวผู้ ลอบเข้ามาผสมพันธุ์กับสุนัขไทยตัวเมีย
เคยมีนักวิชาการไปพิสูจน์ต้นตอของสุนัขพันธุ์นี้และพบว่า สุนัขบางแก้วมีโครโมโซมของสุนัขจิ้งจอกปะปนอยู่ เป็นการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่า พวกมันสืบเชื้อสายจากสุนัขลูกผสมระหว่างสุนัขบ้านกับสุนัขจิ้งจอกแน่นอน
จากความดุร้ายของสุนัขพันธุ์ทั้งหมดนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีคำสั่งระงับการนำเข้าสุนัขพันธุ์พิตบูลเทอร์เรียร์ ไว้เป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.2534 และยังมีคำสั่งชะลอการนำเข้าสุนัขพันธุ์อเมริกัน สแตฟเฟิร์ดไชร์ เทอร์เรียร์ และ สแตฟเฟิร์ดไชร์ บูลเทอร์เรียร์ ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2545
ส่วนสุนัขพันธุ์ดุที่ยังมีข่าวว่ากัดและขย้ำคนจนตาย เป็นสุนัขที่เกิดภายในประเทศ และไม่ได้รับการจดทะเบียนจากสมาคมใดๆ ในประเทศไทย เห็นทีต้องทบทวนสำนวนฝรั่งที่ว่า เลิฟ มี เลิฟ มาย ด็อก เสียใหม่ เป็น เลิฟ ด็อก แคร์ ด็อก
แปลว่า รักสุนัขก็ควรเอาใจใส่สุนัขอย่าปล่อยให้มา “กัดคน”!
...