อาชีวศึกษาได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น เมื่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ได้รับการส่งเสริมและมีอัตราการขยายตัว แรงงานที่ต้องการในระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เรียกร้องให้อาชีวศึกษาต้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อพัฒนาแรงงานให้มีความรู้ ความสามารถตามที่ระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต้องการ อัตราการเลือกเรียนอาชีวศึกษาจึงสอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2550-2555) อัตราการเลือกเรียนอาชีวศึกษาจึงไม่สูงขึ้นทั้งนี้เนื่องจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจ
ถึงแม้อาชีวศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายการศึกษา แต่หลักการอาชีวศึกษาที่จะคงอยู่ต่อไป ได้แก่ การทำให้อาชีวศึกษาเป็น “สิทธิของทุกคนที่ต้องการและสามารถจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์” หลักการนี้ทำให้ขอบเขตของหลักสูตรกว้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียน ที่ประสงค์จะมีวิชาชีพหลังจากจบการศึกษา หรือใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาขั้นสูงต่อไปได้
อาชีวศึกษาในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการประเมินประสิทธิภาพ โดยใช้เศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของการพิจารณา โดยที่อาชีวศึกษาควรจะต้องเตรียมคนให้เหมาะกับงานที่สังคมต้องการ และควรจะให้หลักประกันภาวการณ์ของการขาดแคลนแรงงานในสาขาต่างๆ ได้ นอกจากนั้นผู้จบการศึกษาควรจะได้งานทำตามสาขาวิชาที่ได้รับการฝึกอาชีพมา
ในสหรัฐอเมริกามีการตั้งข้อสังเกตว่า อาชีวศึกษาในระดับโรงเรียน เป็นการเรียนที่เน้นกิจกรรมให้ลงมือปฏิบัติมาก ทำให้เปิดโอกาสแก่ผู้ซึ่งมีความสามารถน้อยทางการเรียนภาคทฤษฎี มีโอกาสได้เรียน และคุณค่าของอาชีวศึกษานั้นมีประโยชน์ต่อ “กระบวนการจัดการเรียนการสอน” มากกว่าการฝึกทักษะวิชาชีพ แต่เมื่อศึกษาถึงสมรรถนะและการได้รับการจ้างงานของผู้สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาที่มีการสอนทั้งวิชาสามัญและวิชาชีพแล้ว พบว่า ผู้ที่จบการศึกษาจากสถานศึกษาที่มีทั้งการเรียนวิชาชีพและวิชาสามัญมีสมรรถนะของการมีชีวิตอยู่ในสังคมได้ดีกว่า และได้รับการจ้างงานมากกว่าผู้ที่จบการศึกษาจากสถานศึกษาที่สอนแต่วิชาชีพ อย่างเดียว หรือสอนแต่วิชาสามัญอย่างเดียว
การดำเนินการด้านการ อาชีวศึกษาของชาตินั้นนอกจากนโยบายของรัฐแล้ว ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษามีมากทั้งที่ควบคุมได้และไม่อาจควบคุมได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษาในต่างประเทศที่ ผ่านขั้นตอนกระบวนการพัฒนาแล้วจะช่วยให้สามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนและปรับ ทิศทางการปฏิบัติให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยที่อยู่ระหว่าง กระบวนการพัฒนาได้ แนวคิดของปัจจัยต่าง ๆ มีดังนี้
ปัจจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีต่ออาชีวศึกษา
ในที่นี้จะกล่าวถึงเศรษฐศาสตร์ในฐานะที่อาชีวศึกษามีส่วนสำคัญในการพัฒนาซึ่ง กันและกัน และเศรษฐศาสตร์ของอาชีวศึกษาในตัวเอง โดยที่แรงงานเป็นปัจจัยพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจประมาณ 2 ใน 3 ของผู้มีรายได้มาจากแรงงานที่รับเป็นค่าจ้างและเงินเดือน เงินที่จ่ายเป็นค่าแรงงานนั้นเป็นแรงงานที่ทำให้เกิดผลผลิต และแรงงานทางด้านบริการ ค่าแรงจริง ๆ คือ ผลผลิตที่ได้เป็นสินค้าและบริการโดยจ่ายเป็นค่าจ้าง จำนวนรายได้ทั้งหมดที่ผู้ใช้แรงงานได้รับไม่ใช่จำนวนเดียวกันกับที่ผู้ใช้ แรงงานจ่ายออกไป
ทฤษฎีหนึ่งที่ใช้อธิบายเรื่องค่าจ้างและอัตราจ้าง คือ Demand และ Supply โดยที่ Demand ของแรงงานหมายถึง จำนวนของแรงงานชนิดต่าง ๆ ที่ต้องการในการผลิตในรูปของอัตราจ้างต่าง ๆ Demand ของแรงงานเกิดจากความต้องการที่แรงงานสามารถผลิตได้ Supply ของแรงงานเกิดจากปริมาณของแรงงานที่จะทำการผลิตในอัตราค่าจ้างต่าง ๆ เหมือนกับ Demand เมื่อ Supply ของแรงงานจะมีลักษณะเป็นเฉพาะเจาะจงเสมอดังนั้นแรงงานนั้นสูญสิ้นได้เพราะ แรงงานกับคนเป็นสิ่งเดียวกันแยกกันไม่ออก Supply ของแรงงานนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงมากและไม่เคลื่อนย้ายมาก มาตรฐานการดำรงชีวิตมีผลต่อ Supply ของแรงงาน นอกจากนั้นกฎหมายแรงงานด้านคุ้มครองสวัสดิภาพและอัตราจ้างมีส่วนใน Supply ของแรงงาน
อาจจะกล่าวได้ว่า ค่าจ้างและอัตราจ้างต่าง ๆ มีผลมาจาก Supply ของแรงงานด้วยส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีประเพณีนิยมการผูกขาด อำนาจการต่อรองของนายจ้างกับลูกจ้าง ในอดีตการพัฒนาการของอาชีวศึกษาในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตแรงงานเติบโตควบคู่มา กับเศรษฐกิจในประเทศที่มีอัตราการเจริญทางเศรษฐกิจสูงความต้องการแรงงาน ระดับฝีมือมีมาก และแรงงานที่ได้รับการฝึกให้สนองความต้องการของระบบการผลิตมักไม่สมดุลกัน ตลอดมา จึงทำให้มีค่าแรงสูง
ดังนั้นเมื่อใดที่มี Supply ของแรงงานมากค่าแรงจะต่ำ อาชีวศึกษาต้องสร้างความสมดุลของ Demand และ Supply ให้ได้เพื่อประโยชน์ทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง จึงจะสามารถสร้างความเจริญให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ การกำหนดให้ค่าแรงสูงด้วยนโยบายและการใช้กฎหมายเป็นช่องทางหนึ่งในการผลัก ดันการพัฒนาฝีมือแรงงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อาจเกิดภาวะขาดความสมดุล ของ Demand และ Supply อาชีวศึกษาต้องรีบลดสภาพการขาดสมดุลนี้อย่างรวดเร็ว
ปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่มีต่ออาชีวศึกษา
ขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าทำให้แรงงานไร้ฝีมือต้องตกงานเป็นจำนวนมากในระยะเริ่ม ต้น การนำเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาใช้ทำให้เห็นว่าอนาคตจะมีการจ้างงานทดแทน แรงงานที่ถูกแทนที่ไป แต่สภาพงานและลักษณะของงานย่อมไม่เหมือนการใช้แรงงานไร้ฝีมือแบบเดิม แรงงานแบบใหม่ต้องได้รับการพัฒนาให้มีฝีมือหรือความรู้ความชำนาญในด้านต่าง ๆ มากขึ้น โดยมีแนวความคิดให้รู้ลึกอย่างเดียว (Specialist) หรือรู้กว้างหลาย ๆ อย่าง (Generalist) เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับหลักสูตรและการสอนอาชีวศึกษา
มีนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าการที่จะทำภาวการณ์ของการว่างงานลดลงได้จะต้อง ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีสูง ภาวการณ์ของการจ้างงานก็จะตามมา แต่ในความเป็นจริงในปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าจะมีการเติบโตเศรษฐกิจก็ไม่ทำให้ อัตราการว่างงานลดลง เพราะคนว่างงานเหล่านั้นไม่มีสมรรถนะที่จะได้รับการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ แบบใหม่
ซึ่งนักเทคโนโลยีได้ให้ความหมายว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตต้องเป็นผลหรือเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และผลพวงก็จะเกิดขึ้นโดยมีการใช้แรงงานที่มีฝีมือเข้าทำงานกับเทคโนโลยีที่ พัฒนาขึ้น เช่น การขาดแคลนทรัพยากรที่ให้พลังงาน เทคโนโลยีเท่านั้นที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ไม่ว่าจะมีระบบการผลิตดีเท่าใด ก็ตาม ถ้าไม่ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าความเจริญเติบโตจะไม่เกิดขึ้น
ความคิดของการเป็นผู้ผลิตที่ทรงอิทธิพลของโลกไม่ใช่การมีระบบการผลิตสูง ๆ แต่จะเป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการดำเนินการปัจจัยพื้นฐานทั้งหมด ทั้งระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ข่าวสาร และการป้องกันประเทศ “ประเทศใดมีเทคโนโลยีนำหน้า ประเทศนั้นจะเป็นผู้นำของโลก” อาชีวศึกษาต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องระหว่างเทคโนโลยีกับแรงงานระดับฝีมือ โดยให้การพัฒนาทั้งสองด้านควบคู่กัน
ปัจจัยทางสังคมวิทยาที่มีต่ออาชีวศึกษา
เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติของงานก็เปลี่ยนไปด้วย เมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมาคุณสมบัติที่สำคัญของคนผู้ที่ต้องการทำงาน ได้แก่ความต้องการในการทำงาน มีพละกำลังและแผ่นหลังที่เข้มแข็ง มีความรู้ไม่มากแต่เมื่อเวลาผ่านไป สังคมเปลี่ยนไป สังคมได้ก้าวจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และผลที่ได้รับ ได้แก่ แรงงานที่มีประสิทธิภาพนั้นได้ก่อให้เกิดแรงผลักดันขึ้นในหมู่ประชาชนทั่วไป โดยไม่เลือกชนชั้น
งานส่วนมากในปัจจุบันและในอนาคตต้องใช้การฝึก อาชีพที่เป็นรูปแบบที่แน่นนอน (Formal Training) และการเตรียมผู้เรียนให้มีงานรองรับเป็นความรับผิดชอบของระบบการศึกษาที่ รัฐบาลดูแลประชาชนโดยตรงเพื่อยังชีพได้ในสังคม แต่ผลระยะยาวจะเกิดขึ้นถ้ามีการส่งเสริมการฝึกอาชีพและการศึกษาแก่ประชาชน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาที่สังคมประสบอยู่ได้
แต่อย่างไรก็ตามผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาต้องเตรียมตัวกับ “ความเสี่ยงของผลลัพธ์” ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ผู้รับผิดชอบทางด้านอาชีวศึกษาต้องรู้จักการบริหารจัดการกับ “ความเสี่ยง” ที่เกิดขึ้น
พลังของสังคมที่มีต่ออาชีวศึกษา
ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา อาชีวศึกษาได้รับการส่งเสริมและให้มีการตรวจสอบอย่างละเอียด การกระทำต่าง ๆ อันเกี่ยวกับอาชีวศึกษามีอิทธิพลต่อทิศทางและการเจริญเติบโตของอาชีวศึกษา เอง และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และ ประเทศโดยมีข้อสังเกตดังนี้
เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอาชีวศึกษา สถาบันการศึกษาที่ดำเนินงานโดยเอกชน และสมาคมของเอกชนหันมาสนใจโปรแกรมการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพ มากขึ้น การฝึกอาชีพ ถูกจับตามองจากสังคมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ปัญหาของสังคม คนในสังคมจับตามองดูว่าอาชีวศึกษาจะแก้ปัญหาการว่างงานที่ประสบอยู่และการ ขาดแรงงานฝีมือของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างไร
การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเครื่องกลในภาคเกษตรกรรม ทำให้มีผลต่อภาวการณ์จ้างงาน และลักษณะของงานในสังคมโดยรวม งานใหม่ ๆ ต้องการคนที่มีความรู้เฉพาะได้เกิดขึ้นมาก การฝึกอาชีพเพื่อรองรับงานใหม่ ๆ เหล่านี้เป็นพลังผลักดัน อีกอันหนึ่งและส่งผลเลยไปถึงการศึกษาในระดับวิชาชีพชั้นสูง หรือระดับปริญญาอีกด้วย
ความคิดด้านชั้นของสังคม (Social Class) ที่มีต่ออาชีวศึกษา
แรกเริ่มของการมีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและอีกหลาย ๆ แห่งในโลกมีความคิดที่ต้องการผลิตผู้จบการศึกษาไปเป็นผู้นำของสังคม (Society’s Leaders) ในขณะที่การศึกษาระดับมัธยมปลายมีโปรแกรมการเรียนวิชาชีพในสถานศึกษาประเภท อาชีวศึกษาเป็นทางเลือกให้แก่บุคคลทั่วไป ถ้าโปรแกรมวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายให้เลือกเรียนหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)ได้กลายเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งนอกจากการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม. 4-ม.6) แล้วเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย การศึกษา 2 แบบอาจจะเกิดขึ้น อย่างหนึ่งเพื่อเป็นผู้นำและอีกอย่างหนึ่งเพื่อเป็นแรงงาน
นักการศึกษาทั้งหลายได้รับรู้และตระหนักว่าเป็นอันตรายอย่างมากในการปล่อยให้การ ศึกษามีสภาพดังกล่าว เพราะจะทำให้การศึกษานั้นแบ่งแยกชนชั้น ปิดโอกาสการได้รับปริญญาและความก้าวหน้าของผู้เรียนและผู้สอนสายวิชาชีพ ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สงบสุขในสังคม ด้วยเหตุนี้จึงได้กำหนดให้สถาบันอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพสามารถจัดการศึกษา ถึงระดับปริญญาได้ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการได้รับปริญญา ถึงแม้จะไม่เป็นไปตามหลักการพื้นฐานของอาชีวศึกษาของประเทศตะวันตกที่เน้น การศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีก็ตาม
สรุป
อาชีวศึกษา มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และมีอิทธิพลต่อความมั่นคงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การกำหนดนโยบายของประเทศในด้านต่าง ๆ มีผลกระทบต่ออาชีวศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายควรทำความเข้าใจในกระบวนการของการจัดการ อาชีวศึกษา และในขณะเดียวกันนักอาชีวศึกษาต้องสามารถให้ข้อมูลแก่ผู้กำหนดนโยบายโดยแจ้ง ให้ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอาชีวศึกษา เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นต้น
นอกจากนั้นนักอาชีวศึกษายังต้องพยายามหาทางปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้สามารถตอบ สนองนโยบายเชิงรุกของรัฐบาลได้อย่างทันกาล โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่ออาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพ เช่น ปัจจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมเป็นต้น นักอาชีวศึกษาต้องเตรียมพร้อมและรู้จักการบริหารจัดการกับ “ความเสี่ยง” ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและต้องสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ตลอดเวลา
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
...