icon member

สนับสนุนโดย

ชาวมหานคร กับชีวิตคือการเดินทาง ที่ค่ารถแพง และเสียเวลา

หากเลือกได้ หลายคนอยากทำงานที่บ้าน หรือใกล้บ้าน แต่ความจริงแล้ว ชาวกรุงเทพมหานครที่มีอยู่กว่า 5 ล้านคน ส่วนใหญ่ต้องเดินทางไปทำงานไกลบ้าน บางคนถึงขั้นมีที่ทำงาน ที่อยู่กันคนละทิศจากที่ตั้งของบ้าน

แต่ชีวิตคือการเดินทางสำหรับชาวมหานคร คือค่ารถแพง และเสียเวลากับรถติดมากมาย อย่างที่ทุกคนได้ส่งเสียงตอบผ่านโพลไทยรัฐออนไลน์ แม้ในยุคโควิด-19 ที่หลายคนทำงานที่บ้าน ทำให้รถตามท้องถนนติดขัดลดลงในบางช่วงเวลา แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ ต้นทุนการเดินทางที่ทุกวันนี้หลายคนต้องจ่ายค่าเดินทางแพงกว่าค่าข้าวในแต่ละมื้อ

ลองมาย้อนดูในภาวะปกติของชาวกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ระบาดในปี 2563 ว่าในแต่ละวันชาวกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลใช้รถสาธารณะประเภทหลักๆ อย่างรถเมล์ทั้งร้อน และแอร์ รถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน และเรือกันมากแค่ไหน

รถเมล์ ซึ่งรวมรถเมล์ร้อน และรถเมล์ปรับอากาศ รวมแล้วยังเป็นรถสาธารณะที่มีผู้ใช้มากที่สุดในแต่ละวัน คือกว่า 1 ล้านเที่ยวต่อวัน (คนหนึ่งอาจใช้บริการมากกว่า 1 เที่ยว) แน่นอนว่า เพราะมีเส้นทางกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และมีค่าบริการที่ถูกกว่ารถประเภทอื่น คือเริ่มต้นที่ 8 บาท

สำหรับเขตที่มีจำนวนสายรถเมล์มากที่สุด 5 เขตแรกนั้น มีข้อมูลจาก Rocket Media Lab ได้สำรวจพบดังนี้
อันดับ 1 ราชเทวี มี 64 สาย
อันดับ 2 พระนคร 58 สาย
อันดับ 3 จตุจักร 57 สาย
อันดับ 4 พญาไท 47 สาย
อันดับ 5 ปทุมวัน 46 สาย

ส่วน 5 อันดับที่มีสายรถเมล์น้อยที่สุด คือ
อันดับ 1 คลองสามวา มี 2 สาย
อันดับ 2 หนองจอก 3 สาย
อันดับ 3 ลาดพร้าว 3 สาย
อันดับ 4 ลาดกระบัง 3 สาย
อันดับ 5 ทุ่งครุ 3 สาย

รถสาธารณะประเภทต่อมาที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก คือ รถไฟฟ้า ที่มีทั้งลอยฟ้า และใต้ดิน มีผู้ใช้บริการวันหนึ่งรวมประมาณ 1 ล้านเที่ยว เพราะมีความสะดวก มีสถานีรถไฟฟ้าอยู่ในย่านธุรกิจ รวมถึงชานเมืองที่เริ่มมีที่อยู่อาศัยมากขึ้น มีค่าโดยสารแพงกว่ารถเมล์เท่าตัว

ส่วนขนส่งสาธารณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากยังมีเรือ เช่น คลองแสนแสบ ที่มากกว่า 6 หมื่นเที่ยวต่อวัน โดยสภาพหลายคนต้องเดินทางโดยต้องใช้บริการทั้งรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้า หรือบางคนยังต้องต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้าซอยบ้างอีกด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เผยแพร่ตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนของชาวกรุงเทพมหานครในปี 2562 ที่มีจำนวน 30,778 บาทต่อเดือนนั้น อันดับ 3 คือค่าใช้จ่ายในการเดินทางและยานพาหนะ คิดเป็นจำนวนถึง 17.3 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 5,325 บาท รองจากค่าอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ และที่อยู่อาศัย และเครื่องใช้ในบ้าน

ชาวกรุงเทพมหานครในแต่ละเขตจะใช้เวลา และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่างกัน ขึ้นอยู่จำนวนและประเภทรถสาธารณะที่ผ่าน และสภาพการจราจร ที่หากรถติดหนักมากก็จะใช้เวลาเดินทางนานกว่าเดิมถึงอาจมากถึงนานกว่าเป็นชั่วโมง ยังไม่นับรวมถึงอุบัติเหตุจากการจราจร ที่หากมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ชีวิตของชาวเมืองมหานครมีการเดินทางที่มีความหมายถึงความสุขอย่างปลอดภัย

อ่านต่อบทความเรื่อง
ปัญหาจราจร รถติดหนัก ถนนปลอดภัย ไม่ซ้ำรอยหมอกระต่าย โจทย์ใหญ่ผู้ว่าฯ กทม.