icon member

สนับสนุนโดย

กองขยะมหานคร ที่คนกรุงเทพฯ ช่วยกันสร้าง และจ่ายด้วยราคาแพง

นี่คือส่วนหนึ่งของความคิดเห็นจากพวกเรา ในฐานะที่เป็นทั้งผู้สร้างขยะ และอยากให้ขยะถูกกำจัดให้หมดไป เรามาดูกันว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ กทม.ที่มีประชากรมากกว่า 5 ล้านคน เราได้ผลิตขยะเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างไรบ้าง

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab ที่รวบรวมตัวเลขปริมาณขยะใน กทม. พบว่าปริมาณขยะในกทม.เพิ่มหรือลดในแต่ละปี สอดคล้องกับจำนวนประชากร เช่น ในปี 2555 มีปริมาณขยะรวมกว่า 3.3 ล้านตัน โดยมีประชากรประมาณ 5.6 ล้านคน มาในปี 2564 มีประชากรเหลือประมาณ ​5.5 ล้านคน ปริมาณขยะเหลือ 3 ล้านตัน

เมื่อหาค่าเฉลี่ยว่า คน กทม.แต่ละคนสร้างขยะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็พบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในปี 2564 คน กทม.แต่ละคนสร้างขยะลดลง เหลือ 547 กิโลกรัมต่อปี หรือคนละ 1.49 กิโลกรัมต่อวัน ขณะที่ช่วงพีกในรอบ 10 ปี ที่คน กทม.แต่ละคนสร้างขยะเฉลี่ยต่อคนมากสุดคือ ปี 2561 เฉลี่ยคนละ 651 กิโลกรัมต่อปี หรือคนละ 1.78 กิโลกรัมต่อวัน

ขณะที่เงินที่ใช้กำจัดขยะ หากคิดคำนวณต่อหัวของชาว กทม.แล้ว พบว่าเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาจากงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการกำจัดขยะ (ยังไม่รวมงบการลงทุนก่อสร้างโครงการกำจัดขยะ) ในปี 2564 ที่มีปริมาณขยะน้อยสุดในรอบ 10 ปี แต่ใช้งบประมาณต่อประชากร 1 คน ถึง 1,138.93 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 3.12 บาท

ส่วนปี 2561 ที่มีปริมาณขยะสูงสุดในรอบ 10 ปี ใช้งบประมาณต่อประชากร 1 คนถึง 1,026.51 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 2.81 บาท

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณขยะนั้น นอกจากปริมาณประชากรแล้ว ยังมีปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจ และจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก เพราะโควิด-19 ระบาด จึงเป็นส่วนหนึ่งให้เศรษฐกิจซบเซา และปริมาณขยะลดลงด้วย ดังนั้นขยะที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ เกือบทั้งหมดจึงเป็นฝีมือของคนที่อยู่พื้นที่ กทม.อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ หากลองมาดูว่าคนกรุงเทพฯ ผลิตขยะที่มีคุณภาพ ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์หรือต้องกำจัดทิ้งมากน้อยแค่ไหน จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ที่รายงานสถิติล่าสุดของปี 2563 พบว่า ปริมาณขยะใน กทม.ที่มากที่สุดในประเทศ คิดเป็น 1 ใน 6 ของขยะทั่วประเทศในแต่ละวัน มี 12,281.70 ตันต่อวันนั้น มีขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 3,672.50 ตันต่อวัน และเป็นขยะที่ถูกกำจัด 8,609.20 ตันต่อวัน

ปริมาณขยะที่ต้องถูกกำจัดในแต่ละวัน ไม่เพียงทำให้สูญงบประมาณ แต่ยังทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะต้องสูญเสียพลังงานในแต่ละขั้นตอน แนวคิดของขยะเป็น 0 จึงเกิดขึ้นไปทั่วโลก รวมทั้งในไทยด้วย การรณรงค์ที่เห็นชัดคือการใช้พลาสติกลดลง จนไปถึงเป้าหมายการเลิกใช้ เพราะพลาสติกเป็นขยะที่กำจัดยากและเป็นมลพิษ ซึ่งประเทศไทยเองได้จัดเป็นนโยบายระดับชาติ มีการกำหนดแผนดำเนินการ (Roadmap) จัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 และมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ.2563-2565)

แผนดังกล่าว คือให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันลดขยะพลาสติกให้มากที่สุด มีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา เช่น เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal), เลิกใช้ไมโครบีดส์จากพลาสติก, เลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดบาง (ร่วมมือกับห้างฯ) และต่อไปจะมีการรณรงค์ถึงร้านขายของชำ, ลด เลิกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก เป็นต้น

ผ่านไปเกือบ 2 ปี ผลเป็นอย่างไรบ้าง ลองสำรวจพื้นที่รอบข้าง และโดยเฉพาะตัวเราเองว่ามีส่วนสร้างขยะ และทำให้การกำจัดขยะยาก และมีต้นทุนเพิ่มขึ้นต่อโลกมากน้อยเพียงใด

อ่านต่อบทความเรื่อง
รวมปัญหา “ขยะ” ที่ถูกหมักหมม กับเรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเร่งสาง