icon member

สนับสนุนโดย

ตามหาพื้นที่สาธารณะ ที่ไม่ใช่แค่การวิ่งในสวนสาธารณะ

สภาพการอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ทุกคนมีบ้านที่มีพื้นที่กว้าง หรือมีสนามหญ้าเขียวไว้วิ่งเล่น หรือมีมุมส่วนตัว หรือบางคนมีพร้อม แต่ก็อยากออกจากบ้านบ้าง แต่นึกไม่ออกว่าจะไปที่ไหนดี ทั้งที่พื้นที่สาธารณะในเมืองมหานครนั้นมีความสำคัญ เพราะเป็นได้ ทั้งเพื่อการพักผ่อน ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมร่วมกัน เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในสังคม และสร้างแรงบันดาลใจ และอื่นๆ ได้อีกมากมาย

พื้นที่สาธารณะจึงควรเป็นพื้นที่ที่ใช้ทำกิจกรรมได้หลากหลาย เข้าถึงง่าย ซึ่งหมายถึงการเดินทางสะดวก หรืออยู่ใกล้ชุมชน แต่ท่ามกลางทำเลทองที่ทุกตารางวามีค่านั้น ทำให้ที่ดินว่างหลายแห่งไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะ ส่วนที่เป็นความหวังอยู่บ้าง คือพื้นที่ของหน่วยงานราชการต่างๆ แต่ก็มีเงื่อนไขการเข้าถึง และส่วนใหญ่เจ้าของพื้นที่มีแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใต้ทางด่วน ที่ดินริมทางรถไฟ ที่ดินของหน่วยงานราชการต่างๆ

แม้ว่าพื้นที่สาธารณะโดยหลักแล้วไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ใหญ่มาก ก็สามารถพัฒนาให้เหมาะกับชุมชนนั้นๆ ได้ แต่หากมีพื้นที่ใหญ่ ก็สามารถสร้างกิจกรรมได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น หลายคนจึงมองไปที่สวนสาธารณะที่คุ้นเคย โดยเฉพาะสวนขนาดใหญ่ ที่ยังมีพื้นที่ว่าง

เรามาดูกันว่าพื้นที่สวนสาธารณะสำหรับคนกรุงเทพมหานครที่มีขนาดเกิน 25 ไร่นั้น มีมากน้อยแค่ไหน

จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ที่สรุปจำนวนพื้นที่สวนสาธารณะไว้ทั้ง 50 เขต ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่ามีสวนสาธารณะที่มีพื้นที่ 25 ไร่ขึ้นไป จำนวน 138 แห่ง ซึ่งมีทั้งของที่ กทม. หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน รับผิดชอบ โดยสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกนั้นอยู่ใน 8 เขต จากทั้งหมด 50 เขต กระจายอยู่ในเขตประเวศ 3 แห่ง บางขุนเทียน 2 แห่ง คันนายาว ตลิ่งชัน ดุสิต จตุจักร ปทุมวัน เขตละ 1 แห่ง โดยสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในเขตบางขุนเทียน คือสวนป่าชายเลนชิงอนุรักษ์ชายทะเลบางขุนเทียน ขนาดประมาณ 807 ไร่

สิ่งที่ปรากฏคือ การปรับตัวของชาวกรุงเทพมหานคร ในการใช้พื้นที่สวนสาธารณะ ให้เป็นมากกว่าการวิ่งออกกำลังกาย หรือนั่งเล่นใต้ต้นไม้ คือหลายคนพยายามนำกิจกรรมเข้าไปทำในสวนสาธารณะ เช่น การพบปะสังสรรค์ ตั้งวงดื่มชา รับประทานอาหารเช้า หรือการไปฟังแสดงดนตรีในสวนปีละครั้งถ้ามีหน่วยงานรัฐจัด แต่ไม่ใช่ใครๆ ก็เข้าไปเล่นดนตรีได้

ขณะที่พื้นที่สาธารณะที่ควรจะเป็น คือ ต้องเข้าถึงหรือเดินทางถึงง่าย ปลอดภัย ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงใช้งานอย่างเท่าเทียมกัน ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ของผู้คน รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนได้

กรณีศึกษาที่องค์กรต่างประเทศผลักดันการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ที่ชื่อว่า Project for Public Spaces หรือ PPS ได้หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง เช่น สวนริมน้ำ (River Garden) ริมอ่าวเมมฟิส สหรัฐอเมริกา ที่มีการปรับปรุงจากสวนสาธารณะธรรมดา เมื่อปี 2018 มาเป็นสวนริมน้ำที่มีกิจกรรมให้คนหลากหลายมาร่วมใช้พื้นที่ได้ ตั้งแต่จิบกาแฟ ซุ้มรับประทานอาหารเย็น เช่าเรือคายัค และผู้ดูแลพื้นที่ยังจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างการสอนโยคะ เต้นรำ ฟิตเนส ดนตรี จนสามารถดึงคนมาใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เกิดการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ และเม็ดเงินที่หมุนเวียนในชุมชนอีกด้วย

อีกพื้นที่สาธารณะที่น่าสนใจคือ สถานีรถไฟเท็นริ (Tenri Station) ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่เชื่อมต่อรถไฟสองสาย มีผู้คนสัญจรประมาณ 10,000 คนต่อวัน ที่เมื่อก่อนจุดนี้เป็นแค่ทางผ่าน ในปี 2017 ได้เปิดพื้นที่สาธารณะ ชื่อว่า Tenri Station Plaza CoFuFun บนพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร โดยมีการออกแบบโดย Nendo ที่เน้นให้เข้ากับจุดเด่นของชุมชน และเมืองโตเกียวที่ล้อมรอบด้วยภูเขาน้อยใหญ่ โดยชื่อเรียกยังสื่อถึง ความสุข มีบรรยากาศที่สามารถดึงให้คนที่มาใช้พื้นที่แสดงออกถึงการมีความสุข เช่น ฮัมเพลงออกมาอย่างสบายอารมณ์

นอกจากมีจุดเช่าจักรยาน ร้านกาแฟ จุดให้บริการข้อมูลแล้ว ยังมีพื้นที่เวทีกลางแจ้ง พื้นที่พบปะพูดคุย เปิดให้คนในชุมชนที่อาศัยบริเวณทำกิจกรรมประจำวัน เป็นต้น

ตัดภาพมาที่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพื้นที่ว่างหลายแห่ง บางพื้นที่ว่าง รกร้าง ไม่สามารถเปิดให้เข้าถึงทุกคนได้ บางแห่งเป็นแหล่งมั่วสุมไม่ปลอดภัย จนแทบจะนึกไม่ออกว่า จะมีพื้นที่สาธารณะในฝันได้บ้างหรือไม่ เช่น

- พื้นที่ลานวัดใกล้บ้าน พอจะมีพื้นที่ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อะไรอีกบ้าง นอกจากกิจกรรมทางศาสนา หรือให้เช่าขายเครื่องรางของขลัง

- พื้นที่ใต้ทางด่วน เส้นทางด่วนที่พาดผ่านพื้นที่ใน กทม.ทั้ง กทม.ชั้นในและรอบนอก คดเคี้ยวไปมายาวกว่า 100 กิโลเมตร พื้นที่รวมประมาณ 600 ไร่ โดยมีพื้นที่ว่างใต้ทางด่วนเฉียดประชิดผ่านชุมชนต่างๆ แต่ส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้างว่างเปล่า เก็บรถจอดเสียนานนับปี และมีไม่กี่จุดที่เปิดให้ชุมชนเข้าใช้ทำกิจกรรมได้บ้าง

- พื้นที่เล็กๆ สวนหย่อมในชุมชน หรือตามซอกอาคารใหญ่ ที่พอจัดแสดงดนตรีเล็กๆ หรืองานศิลปะ ชมฟรี เพื่อความบันเทิง ผ่อนคลาย และเป็นจุดเชื่อมโยงให้ผู้คนได้มาพบปะพูดคุยกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นที่ดินของเอกชนที่เก็บไว้เพื่อให้เช่า

- พื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้า ที่มีพื้นที่ว่าง แต่เป็นที่จอดรถ ซึ่งก็จำเป็นเพราะช่วยให้รถไม่หนาแน่นในใจกลางเมือง แต่วันหยุดหลายพื้นที่จอดรถก็พอจะมีที่ว่าง

นี่คือพื้นที่ที่ชาวมหานครตามหา ที่หากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีความเข้าใจเรื่องพื้นที่สาธารณะ จริงจังในการหาพื้นที่ว่างมาพัฒนา เปิดใช้ประโยชน์ได้หลากหลายสำหรับคนทุกกลุ่ม ก็จะเติมเต็มความสุขให้ผู้คนที่อยู่ในมหานครแห่งนี้ได้

อ่านต่อบทความเรื่อง
“พื้นที่สาธารณะ” ความสุขที่ยังหาไม่เจอของคน กทม.