วงการบันเทิงสูญเสียนักแสดงมากฝีมือ รับต้นปี ป้าจุ๊ "จุรี โอศิริ" ด้วยโรคชรา ที่ จ.เชียงราย ล่าสุด ซ้อนุช เดินทางไปรับศพแล้ว เตรียมตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เย็นนี้...
นางจุรี โอศิริ หรือในชื่อเล่นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในวงการบันเทิงว่า "ป้าจุ๊" นักแสดงอาวุโสมากฝีมือ เสียชีวิตแล้วด้วยโรคชรา หลังจากเข้านอนเมื่อคืนที่ผ่านมา ที่บ้านพักในจังหวัดเชียงราย ศิริรวมอายุ 83 ปี
โดยล่าสุด น.ส.ปรียานุช ปานประดับ ภรรยาของ นายนพพล โกมารชุน ผู้เป็นบุตรชายของป้าจุ๊ ได้เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ขึ้นไปรับศพของนางจุรี เพื่อมาเตรียมตั้งบำเพ็ญกุศลที่ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ในช่วงเย็นวันนี้แล้ว โดยในวันพรุ่งนี้ ( 26 ม.ค.) จะมีพิธีน้ำหลวงอาบศพ ที่ ศาลา 10 วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ในเวลา 17.00 น. ด้วย
สำหรับประวัติของ นางจุรี โอศิริ เกิดเมื่อ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 บิดาชื่อ นายเตียง โอศิริ สมรสสมรสกับ เสมอ โกมารชุน พี่ชายของ เสน่ห์ โกมารชุน มีบุตรชายคนเดียว คือ นพพล โกมารชุน หลังจากสามีเสียชีวิต ก็ได้ใช้ชีวิตคู่อยู่กับ สมชาย สามิภักดิ์ เป็นเวลา 50 กว่าปี จนกระทั่งสมชาย สามิภักดิ์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552
โดย นางจุรี มีความสนใจด้านการเต้นรำ เช่น บัลเล่ต์ และการร้องรำทำเพลงแบบสากลต่างๆ จึงได้เลือกเรียนเอกทางด้านนาฏศิลป์ และขับร้องเพลงสากลจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จนได้ทำงานวงการบันเทิงเต็มตัว ในหลากหลายด้าน ทั้งขับร้องเพลงโดยเป็นนักร้องหน้าม่านสลับละครของ คณะผกาวลี และคณะศิวารมย์ ต่อมาแสดงเป็นนางเอกในละครเพลงเรื่อง “นเรศวรมหาราช” และได้เข้าไปเป็นนักร้องประจำวงดุริยางค์ทหารบก วงสุนทราภรณ์ จนมาได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก รับบทเป็นนางเอกในเรื่อง สุภาพบุรุษอเวจี กำกับการแสดงโดย ครูเนรมิต ซึ่งนอกจากแสดงเป็นนางเอกแล้ว ยังพากย์เสียงนางเอกอีกด้วย ถือเป็นการเริ่มต้นพากย์ภาพยนตร์เป็นครั้งแรก
...
ทางด้านการพากย์เสียง ได้พากย์ให้กับดาราหญิง และเด็กทั้งหญิงชายในหลากหลายบทบาท ทั้งนางเอก นางรอง ตัวอิจฉา และตัวประกอบมากมายนับไม่ถ้วน และเคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพากย์เสียงภาพยนตร์ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น ในฝูงหงส์ สาวน้อย นกน้อย แม่นาคพระโขนง
ส่วนเกียรติประวัติในวิชาชีพ ได้แก่
รางวัลสำเภาทอง ในฐานะผู้พากย์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง โบตั๋น
รางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะผู้พากย์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง นกน้อย เมื่อปี พ.ศ. 2507
รางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะผู้แสดงประกอบยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง วัยตกกระ เมื่อปี พ.ศ. 2522
รางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะผู้พากย์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ไร้เสน่หา เมื่อปี พ.ศ. 2522
รางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะผู้พากย์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง เทพธิดาโรงแรม เมื่อปี พ.ศ. 2525
รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะดาราสมทบยอดเยี่ยม จากละครโทรทัศน์เรื่อง สายโลหิต ประจำปี 2529
รางวัลวิก 07 ทองคำ ในฐานะดาราผู้ชนะใจกรรมการ ประจำปี พ.ศ. 2533
รางวัลวิก 07 ในฐานะดาราผู้ชนะใจผู้ร่วมงาน ประจำปี พ.ศ. 2534
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักพากย์และนักแสดง) ประจำปีพุทธศักราช 2541.