การบินไทย จำกัด นำร่องใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ทำการบินเป็นสายการบินแรกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย ภายใต้แนวคิดTravel Green โดยหวังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนอย่างยั่งยืน ประเดิมไฟลท์แรก ทีจี 8421 กับโบอิ้ง 777-200...
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ในฐานะสายการบินแห่งชาติ และในฐานะสายการบินรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Travel Green เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักรู้ถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โดยหวังกระตุ้นให้สายการบินในภูมิภาคนี้ได้พิจารณาการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ เพื่อลดการใช้น้ำมันอากาศยาน ที่ผลิตมาจากจากฟอสซิลให้ได้ในอนาคต ซึ่งการบินไทยต้องการให้เกิดการผลักดัน และมีพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมการบินให้มีความยั่งยืน และเกิดขึ้นภายในประเทศไทย และภูมิภาคนี้

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บ.การบินไทย กล่าวต่อว่า การบินไทยได้กำหนดเป็นแผนความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น บริษัทผู้ผลิตน้ำมัน สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินในต่างประเทศให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยภายใต้ “ โครงการพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพในการบินอย่างยั่งยืน” โดยหวังให้ภาครัฐให้การสนับสนุนและทำให้เกิดความสำเร็จในอนาคต
ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในเรื่องเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพในประเทศไทย การบินไทยจึงจัดเที่ยวบินพิเศษที่ ทีจี 8421 ในวันนี้ (วันที่ 21 ธันวาคม 2554) ที่ทำการบินด้วยเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพและเป็นเที่ยวแรกในประเทศไทย “THAI First Flight With Biofuels” โดยออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 14.00 น.ด้วยเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777 – 200 โดยได้เชิญสื่อมวลชนและหน่วยงานต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนโครงการร่วมเดินทางในเที่ยวบินพิเศษนี้ด้วย อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท โรล์สรอยซ์ และบริษัท โบอิ้ง จำกัด เป็นต้น
...

"นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้โดยสารมีส่วนร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสนับสนุนให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดภาวะโลกร้อน บริษัทฯ จึงได้ทำการบินด้วยเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพในเที่ยวบินพาณิชย์เป็นสายการบินแรกในภูมิภาคเอเชีย “The First Passenger Biofuels Flight In Asia” ในวันที่ 22 ธ.ค.2554 เที่ยวบินที่ ทีจี 104 เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยบริษัทฯ จะนำรายได้จากค่าโดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวไปมอบให้แก่องค์กรด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศไทย และเพื่อให้เยาวชนได้รู้รักษ์สิ่งแวดล้อม การบินไทยยังได้นำคณะนักเรียนและอาจารย์ จำนวน 98 คน ร่วมเดินทางในโครงการ “พาน้องท่องฟ้า” ร่วมเดินทางในเที่ยวบิน ทีจี 104 ดังกล่าวด้วย ” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ด้าน นายสรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ในฐานะผู้บุกเบิกการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทยและส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้สนับสนุนจัดหาเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ เพื่อใช้ในการปฏิบัติการบินครั้งนี้ประมาณ 8 ตัน มูลค่ารวมประมาณ 2.5 ล้านบาท โดยได้นำเข้ามาจากบริษัท Sky NRG แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพรายใหญ่ของโลก และเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงชนิดเดียวกันนี้ให้กับสายการบินแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ หรือ KLM ตลอดจนสายการบินอื่นๆ เช่น Finnair ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงบินในน่านฟ้ายุโรป ในปัจจุบันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพดังกล่าวเป็นส่วนผสมระหว่างน้ำมัน Bio-Jet และน้ำมัน Jet A-1 ชนิดปกติ ในอัตราส่วน 50 ต่อ 50 ซึ่ง ปตท. ได้ตรวจสอบคุณภาพเรียบร้อยแล้ว โดยมีมาตรฐานถูกต้องตามมาตรฐานสากล ASTM D1655 หรือ American Society for Testing and Materials เพื่อความมั่นใจสำหรับการบินในทุกเที่ยวบิน

รอง กจญ.หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เพื่อให้เที่ยวบินพิเศษนี้เป็นไปแนวคิดการบินสีเขียว หรือ Travel Green ของการบินไทย อย่างสมบูรณ์แบบ กลุ่ม ปตท. โดยบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม และ บริษัท พีทีที โพลิเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง ยังได้ร่วมกับพันธมิตรผู้ผลิตพลาสติก จัดทำถ้วยกระดาษเคลือบด้วยพลาสติกย่อยสลายได้ 100% มาแนะนำให้ใช้ในภาคธุรกิจเป็นครั้งแรกของประเทศไทยอีกด้วย ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมโลก และแสดงถึงความพร้อม ก้าวไปสู่ความเป็น Bio Hub แห่งเอเชีย สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และภารกิจของ ปตท. ในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นายราล์ฟ แอล.บอยซ์ ประธานโบอิ้ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โบอิ้ง อินเตอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นหนึ่งในการริเริ่มของการบินไทยภายใต้แนวคิด "โครงการพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพในการบินอย่างยั่งยืน" ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน นักวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิง สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางอากาศและพลังงานทดแทน รวมถึงเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพนับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้งสายการบินและโบอิ้ง ในฐานะผู้ผลิตเครื่องบิน
...

ประธานโบอิ้ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฯ กล่าวอีกว่า เราไม่เพียงแต่ผลิตเครื่องบินใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม เช่น โบอิ้ง 787 แก่ลูกค้า ซึ่งรวมถึงการบินไทย แต่โบอิ้งยังมุ่งเน้นใช้ทรัพยากรตลอดจนการทำงานร่วมกับนักวิจัยและอุตสาหกรรมชั้นนำเพื่อเร่งพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพในการบินอย่างยั่งยืน โดยโบอิ้งมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อให้ การเดินทางราบเรียบ สะอาด และมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับสายการบินลูกค้าและผู้โดยสารของเรา
นาวาอากาศตรีประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บทบาทหลักของวิทยุการบินฯ ในการสนับสนุนการปฏิบัติการบิน ด้วยเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพของการบินไทยในครั้งนี้ คือ การควบคุมจราจรทางอากาศ การวางแผน และออกแบบวิธีปฏิบัติการบิน เพื่อให้เที่ยวบินพิเศษดังกล่าวทำการบินอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยได้นำแนวปฏิบัติที่ดีและประสบการณ์จากที่วิทยุการบินฯ เคยใช้กับเที่ยวบินสาธิต “ THAI ASPIRE Flight” ซึ่งเป็นเที่ยวบินลดโลกร้อนแบบ “Perfect Flight” เช่น การนำเทคโนโลยี ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติการบินใหม่ๆ ในการเดินอากาศที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการบินมาประยุกต์ใช้ ให้สอดคล้องกับแนวคิดการเดินทางแบบรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Travel Green ของการบินไทย
สำหรับเทคนิควิธีปฏิบัติการบินพิเศษ หรือ Special procedure ที่ได้นำมาใช้กับเที่ยวบิน “THAI First Flight With Biofuels” ได้แก่
1. การใช้ Surface Optimisation คือ การบริหารจัดการภาคพื้นที่สนามบิน เพื่อลดการ delay และลดการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงในการวิ่งขึ้น
2. การใช้เทคนิค Continuous Climb คือ ให้เครื่องบินบินไต่ระดับอย่างต่อเนื่องทดแทนการเปลี่ยนชั้นความสูงอย่างเร่งด่วน
3. การบิน Direct Route คือ การบินลัดเป็นเส้นตรงให้มีระยะทางบินใกล้ที่สุด
4.การใช้เทคนิค Continuous Descent Operation หรือ CDO คือ การร่อนลงจอดโดยลดระดับอย่างต่อเนื่องระหว่างที่บินเข้าสนามบิน ซึ่งการใช้เทคนิคสนับสนุนการจัดการบริหารจราจรทางอากาศดังกล่าวจะเอื้อให้เครื่องบินทำการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะทาง ประหยัดเวลา และใช้พลังงานเครื่องยนต์ได้เหมาะสมในทุกช่วงการบิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบิน ให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
ส่วน ว่าที่เรืออากาศโทจตุรงคพล สดมณี ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวว่า ทอท.เป็นหน่วยงานที่บริหารงานท่าอากาศยานหลักของประเทศ 6 แห่งได้ดำเนินกิจการท่าอากาศยานควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดมา โดย ทอท.ได้กำหนดนโยบาย Green Airport เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเนื่องมาจากธุรกิจการบิน ซึ่ง ทอท.เห็นว่าโครงการของบริษัทการบินไทยฯ เป็นความร่วมมือในภาคสายการบิน ที่จะช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังสนับสนุนนโยบาย Green Airport ของ ทอท. ให้ประสบความสำเร็จ
ผช.กก.ผอ.ใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในปัจจุบันท่าอากาศยานในหลายประเทศได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาก๊าซเรือนกระจก จึงพยายามดำเนินกิจการท่าอากาศยานควบคู่ไปกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังเช่น ในการประชุมประจำปีสมาคมท่าอากาศยานในกลุ่มอาเซียน หรือ AAA ครั้งที่ 30 ซึ่ง ทอท.ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่จังหวัดเชียงรายที่ผ่านมา มีหัวข้อหลักในการประชุม คือ Moving towards Green Airports
สำหรับ ทอท.นั้น ได้มีการดำเนินการเพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกหลายด้าน เช่น
- การสร้างอาคารประหยัดพลังงาน ( Green Building ) โดยเฉพาะอาคารผู้โดยสารของ
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่ออกแบบให้ได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติมากที่สุด รวมทั้งระบบปรับอากาศที่ใช้พลังงานจากน้ำร้อนซึ่งเป็นผลพลอยได้จากระบบผลิตไฟฟ้ามาใช้
ทำความเย็น ทำให้ลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมากและ ทอท.ยังได้กำหนดแนวคิดในเรื่องการประหยัดพลังงานไว้ในแผนพัฒนาท่าอากาศยานของ ทอท.ด้วย เช่น การพัฒนา
ท่าอากาศยานภูเก็ต ได้กำหนดการออกแบบอาคารผู้โดยสารให้เป็น Green Building
- การใช้เชื้อเพลิงสะอาด และพลังงานทดแทน ( Clean & Renewable Energy ) โดยกำหนดให้ยานพาหนะทั้งหมดที่ปฏิบัติงานในพื้นที่คัดแยกสัมภาระใต้อาคารผู้โดยสารต้องใช้พลังงานไฟฟ้า
รวมทั้งรถรับส่งสาธารณะในเขตท่าอากาศยาน ( Airport Shuttle Bus ) ทั้งหมดเป็นรถที่ใช้เชื้อเพลิงสะอาด
- ทอท.ยังได้กำหนดแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกกิจกรรมของท่าอากาศยาน โดยเฉพาะในเขตการบิน ซึ่งได้ติดตั้งระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอากาศยานขณะจอดขนถ่ายผู้โดยสารด้วยระบบ Fixed Electrical Ground Power Supply ทั้งนี้ เพื่อลดการใช้ Aircraft Auxiliary Unit ของอากาศยานในบริเวณลานจอด
ดังนั้น โครงการการพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ซึ่งหน่วยงานต่างๆได้ให้การสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องนั้น จึงเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะมีการบูรณาการการดำเนินงานในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อมิให้เกิดมลภาวะกับผู้ที่ปฏิบัติงานในท่าอากาศยาน ชุมชน และในระดับสังคม
นอกจากนี้ การบินไทยได้ให้ความสำคัญในการให้ความร่วมมือกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือไออาต้า ( IATA ) ที่ต้องการผลักดันให้สมาชิกในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมีส่วนร่วมยับยั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ในปี 2563 ไปจนถึงให้มีการชดเชยหรือเท่ากับไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2600 ทั้งนี้ หากเป้าหมายการยับยั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ในภายในปี 2563 จะทำให้สายการบินสมาชิกหันมาใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแทนพลังงานที่ผลิตจากฟอสซิลได้ในปริมาณร้อยละ 6 จะทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึงร้อยละ 5
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศได้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอัตราเพียงร้อยละ 2 ของทั้งโลก โดยยังถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น แต่หากการเติบโตของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศที่มีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ที่ยังไม่ตระหนักถึงการจำกัดหรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลงได้อีก จะส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้ในอัตราร้อยละ 3 หรือมากถึง 20 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ ในส่วนของภูมิภาคเอเชีย การบินไทยจะเป็นสายการบินแรกที่ทำการบินด้วยเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพในเที่ยวบินพาณิชย์เส้นทางภายในประเทศ ภายใต้แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมและการเดินทางแบบรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Travel Green
...