ในยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศรัฐนิยม เปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็นประเทศไทย เปลี่ยนวันปีใหม่ เป็น 1 มกราคม และเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไร ไปมากมาย

ประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 5 (1 พ.ย.2482) เรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภค ที่กำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย โรม บุนนาค เขียนไว้ในหนังสือ เรื่องเก่าเล่าปัจจุบัน (สำนักพิมพ์สยามบันทึก) ว่า ต่อมาไม่นาน คนไทยก็รู้จักอาหารชื่อผัดไทย

นอกจากเรื่องอาหารการกิน เรื่องอื่นๆ คนไทยสมัยนั้นฟังประกาศแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจอะไรนัก เพราะชีวิตประจำวันก็กินอย่างไทย อยู่อย่างไทย ไม่ค่อยมีสตางค์ไปซื้อของฝรั่งมังค่า มาให้กินให้ใช้อยู่แล้ว

เรื่องที่สะดุดใจและทำให้เกิดความยุ่งยากอยู่บ้าง กับผู้เฒ่าผู้แก่ คือเรื่องห้ามกินหมาก ส่วนเรื่องห้ามนุ่งโจงกระเบน ก็ไม่มีปัญหา ก็แค่ไม่ไปทำธุระกับทางการ นุ่งอยู่กับบ้าน ไปวัดบ้าง ทางการท่านก็ไม่ว่า ประกาศรัฐนิยม เรื่องการกิน การอาชีพไปแล้ว รัฐบาลก็ประกาศรัฐนิยมไปเรื่อยๆ ถึงฉบับที่ 11 (8 ก.ย. พ.ศ.2484)

1. ชนชาติไทยพึงแบ่งเวลาวันหนึ่งออกเป็น 3 ส่วน คือปฏิบัติงานที่เป็นอาชีพส่วนหนึ่ง ปฏิบัติกิจส่วนตัวส่วนหนึ่ง และพักผ่อนหลับนอนอีกส่วนหนึ่ง ให้เป็นระเบียบ และมีกำหนดเวลาอันเหมาะสม จนเกิดเป็นนิสัย

2. ชนชาติไทยพึงปฏิบัติกิจประจำวันตามปกติ ดังต่อไปนี้

ก.บริโภคอาหารให้ตรงตามเวลาไม่เกิน 4 มื้อ ข.นอนประมาณ 6—8 ชั่วโมง

3. ชนชาติไทยพึงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ประกอบกิจการงานของตน โดยไม่ท้อถอยและหลีกเลี่ยง กับควรหยุดเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน

ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เมื่อพ้นกำหนดเวลาทำงานเวลาเย็น ควรออกกำลังกายโดยเล่นกีฬากลางแจ้งวันหนึ่งอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือประกอบงานอื่น เช่นทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น

เมื่อชำระร่างกายแล้วรับประทานอาหาร

4. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาว่างเวลากลางคืน ทำการงานอันจำเป็นที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ หรือสนทนาปราศรัยกับคนในครอบครัวมิตรสหาย ศึกษาหาความรู้ ฟังวิทยุกระจายเสียง อ่านหนังสือ หรือในการมหรสพหรือศิลปกรรม แล้วแต่โอกาส

5. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาในวันหยุดงานให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตใจ เช่น ประกอบกิจในทางศาสนา ฟังเทศน์ ทำบุญ ศึกษาหาความรู้ ท่องเที่ยว เล่นกีฬา หรือพักผ่อน เป็นต้น

ผมอ่านประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 11 แล้ว รู้สึกได้ว่ารัฐบาลท่านผู้นำรักราษฎรของท่านเหลือเกิน เป็นห่วงเป็นใยตั้งใจทะนุถนอมกล่อมเลี้ยงเหมือนลูกในท้อง

หนึ่งปีต่อมา เดือนตุลาคม พ.ศ.2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำท่วมไปทั้งบ้านทั้งเมือง ท่วมไปถึงทำเนียบสามัคคีชัย ทั้งท่านผู้นำและท่านผู้ตาม ต้องนั่งเรือไปประชุม ครม. มีคนทำก๋วยเตี๋ยวเรือพายไปเลี้ยงถึงทำเนียบ

ท่านผู้นำได้ดวงตาเห็นธรรม ย้ำรัฐนิยมฉบับที่ 5 รณรงค์ให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยว

แต่งเพลงเชียร์ให้คนกินก๋วยเตี๋ยว กรมประชาสงเคราะห์ เปิดคอร์สสอนวิชาทำก๋วยเตี๋ยว ทำเป็นแล้วท่านผู้นำก็แจกรถเข็นให้ไปทำก๋วยเตี๋ยวรถเข็นขาย ส่วนใครที่นิยมเรือก็ทำก๋วยเตี๋ยวเรือ แต่เข้าใจว่าตอนนั้นน้ำแห้งแล้ว จึงไม่มีข่าวแจกเรือ

อานิสงส์น้ำท่วมปีนั้น คนไทยก็ได้กินก๋วยเตี๋ยว เป็นอาหารประจำชาติ มาจนถึงบัดนี้

จะว่ากันไป จอมพล ป. ก็ตายไปนาน แต่วันนี้ก็ยังมีสิ่งที่ให้ต้องระลึกนึกถึงท่านอยู่มาก ชื่อประเทศไทย เพลงชาติไทย วันขึ้นปีใหม่ ฯลฯ และสุดท้าย คือก๋วยเตี๋ยว

ผู้นำสมัยใหม่ ลงจากเก้าอี้ไปแล้วหลายคน เหลืออะไรให้คิดถึง เหมือนจอมพล ป. บ้างดูจะยังไม่มี หรือมีก็น้อยเต็มที

ดูท่วงท่าผู้นำคนใหม่ ก็รักประชาชนของท่านไม่น้อย แต่จะทำอะไรเหลือให้คิดถึงบ้าง เห็นจะต้องดูกันวันหลังน้ำลด.

...

กิเลน ประลองเชิง