ระพิรุณเทพเจ้าแห่งฝนที่คนไทยรู้จัก คัมภีร์ไตรเภทของอินเดีย เรียกว่าพระวรุณ ส.พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือเทว- นิยาย พระวรุณเป็นโอรสองค์โตของนางอทิติ และพระกัสยป มีนามเต็มว่าพระวรุณาทิตย์ มีพระอนุชา 7 พระองค์
พระมิตราทิตย์ พระอริยมนาทิตย์ ภคาทิตย์ องศาทิตย์ อินทราทิตย์ ธาตราทิตย์ และองค์สุดท้อง สุริยาทิตย์ องค์นี้คือพระอาทิตย์ ที่ดูเหมือนจะรู้จักมากกว่า อาทิตย์พระองค์อื่น
ส.พลายน้อย บอกว่า เทพที่เกิดแต่นางอทิติ มีคำว่าอาทิตย์ต่อท้าย ซึ่งหมายความว่าเป็นลูกนางอทิติ
แต่พระวรุณ องค์ในคัมภีร์มหาภารตะ เป็นโอรสฤาษีกรรทมพรหมบุตร ทำหน้าที่เป็นท้าวโลกบาล ครองทิศตะวันตก เป็นเจ้าแห่งฝน น้ำ และทะเล
เมืองพระวรุณ ชื่อ วสุธา หรือสุขา บางคัมภีร์ว่า พระวรุณมีวังอยู่บนยอดเขาบุษปคีรี (ภูเขาดอกไม้) ซึ่งอยู่ใต้น้ำ สีกายเป็นสีขาว บางแห่งว่าเป็นสีเมฆ ทรงพัสตราภรณ์สีเหลือง ประดับด้วยไข่มุก
ตามรูปมีทั้งสองกรและสี่กร ถ้าเป็นสองกร กรหนึ่งถือวรท (ยังหาคำแปลไม่ได้) อีกกรถือเชือกบาศสองบ่วง บ่วงหนึ่งใช้ทำโทษ ผู้ที่ผิดคำมั่นสัญญา จะถูกบ่วงบาศนี้คล้องเอาตัวไปทำโทษ อีกบ่วงใช้ในทางกรุณา
ถ้าเป็นรูปสี่กร นอกจากถือสองอย่างข้างต้น ยังถืองู และหม้อน้ำ
พาหนะพระวรุณ กล่าวกันหลายอย่าง ตามรูปที่สร้าง ถ้าเป็นศิลปะขอม ประทับนั่งเหนือฐาน ประกอบด้วยหงส์สี่ตัว บางรูปพระวรุณอยู่เหนือนาค 3 เศียร บางตำนานว่ามีพาหนะเป็นปลามกร เช่นเดียวกับแม่พระคงคา บางตำนานว่าเป็นจระเข้
ในกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระวรุณทรงนาค ส.พลายน้อยว่า ก็ดูถูกเรื่องกันอยู่ เพราะนาคมีหน้าที่รักษาแม่น้ำลำธารและให้ฝน
ในสมัยพระเวท พวกพราหมณ์นับถือพระวรุณมาก เพราะนอกจากเป็นองค์ประทานน้ำแก่มนุษย์ ยังเป็นผู้ปกครองดูแลความเป็นไป รักษาความสุขสวัสดีแห่งมนุษย์และสัตว์ทั้งปวง เป็นธุระในการตัดสินโทษสัตว์นรก ใครทำผิดคิดร้ายที่ไหนอย่างไร พระวรุณรู้หมด
คนนิสัยเสียชอบกล่าวเท็จ พระวรุณจะลงโทษให้เป็นโรคท้องมาน เหมือนพระเจ้าหริศจันทร์ ที่ขอบุตรต่อพระวรุณ โดยให้สัญญา ถ้าได้บุตรแล้วจะเอาบุตรบูชายัญถวาย
ครั้นได้บุตรสมใจ พระเจ้าหริศจันทร์ ก็บ่ายเบี่ยง จนพระโรหิตกุมาร บุตรได้เติบโตก็ยังไม่ทำตามสัญญา
พระวรุณลงโทษพระเจ้าหริศจันทร์ ให้ประชวรเป็นโรคท้องมาน ผู้คนในสมัยนั้นกลัวพระวรุณกันมาก เวลาจะทำคำมั่นสัญญาใดๆ จะต้องดื่มน้ำอ้างพระวรุณว่า พวกเขาจะคบกันโดยสุจริต ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดทรยศ ขอให้พระวรุณลงโทษ
“เรื่องนี้ เห็นจะเป็นต้นประเพณี การถือน้ำ พระพิพัฒน์สัตยาของไทยเรา” ส.พลายน้อยว่า
ในสมัยต่อมา อำนาจของพระวรุณเสื่อมลง พระอินทร์เข้ามาแย่งตำแหน่งไป การที่พระวรุณสู้พระอินทร์ไม่ได้ กล่าวกันว่าเพราะพระวรุณไม่กินเหล้า เหตุเพราะได้ชายาเป็นเทวีแห่งสุรา ในขณะที่พระอินทร์ชอบเสวยสุราที่เรียกกันว่าน้ำโสม เมาขึ้นมาคราวไรก็คำรามลั่น
นิยายในอินเดีย เอาไปเขียนว่า เวลาฝนตกหนักมีพายุฝนอื้ออึงนั้น เกิดจากพระอินทร์เมาเหล้าเอะอะไล่พระวรุณ
ในสมัยพระเวท พระวรุณทำหน้าที่คู่กับพระอาทิตย์ พระวรุณปกครองกลางคืน พระอาทิตย์ปกครองกลางวัน
นามพระวรุณ เคยนำมาใช้เป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางไทย ในทำเนียบตั้งบรรดาศักดิ์ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ มีบรรดาศักดิ์ พระยาวรุณฤทธีศรีสมุทรปราการ
ผู้ได้บรรดาศักดิ์นี้เป็นคนแรก คือพระยาชัยวิชิตวิสิฐธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) ก่อนหน้านั้น เป็นที่พระสมุทรบุรานุรักษ์ เหตุที่จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้ มีเรื่องบันทึกว่า
เมื่อ พ.ศ.2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับ ณ จังหวัดสมุทรปราการ วันหนึ่งเกิดพายุพัดแรงจัด ฝนตกหนักผิดปกติ ทำให้เครื่องกันฝนที่พลับพลาชำรุด พระสมุทรบุรานุรักษ์ ออกไปกลางฝน อำนวยการซ่อมแซมเครื่องกันฝนด้วยตนเอง จนป้องกันไม่ให้พายุฝนสาดเข้าไปในพลับพลาได้
รุ่งขึ้น มีพระบรมราชโองการ ให้พระสมุทรบุรานุรักษ์ เข้าเฝ้าที่พลับพลา พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นพระยาวรุณฤทธีศรีสมุทร-ปราการ ซึ่งหมายความว่า มีอำนาจเหนือฝนอันเป็นสิริแก่จังหวัดสมุทรปราการ
ส.พลายน้อย บอกว่า นี่คือนามบรรดาศักดิ์แรกที่เกิดขึ้นเพราะฝนเป็นเหตุ และนำนามพระวรุณมาใช้ทางราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา กำหนดว่า ตำแหน่งเกษตราธิการ พระยาพลเทพ เสนาบดี มีตราใช้ 9 ดวง ดวงหนึ่งเป็นตราพระพิรุณขี่นาคทรงเครื่อง ทำเป็นรูปพระพิรุณยืนบนหลังนาคราช มือขวาถือพระขรรค์
ตราดวงนี้สำหรับใช้ไปวิดน้ำเข้านา ใช้ไปขุดบึงบางคลองไขน้ำ ใช้เป็นตราใหญ่ดำเนินพระโองการในสารตราต่างๆ
ต่อมากรมส่งเสริมสหกรณ์ นำรูปพระวรุณขี่นาคมาใช้เป็นตรากรม โดยทำเป็นรูปพระวรุณ4 กร
พระหัตถ์แรกถือเชือกบาศ หมายถึงความสามัคคีกลมเกลียว อีกพระหัตถ์ถือถุงเงิน หมายถึงกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ พระหัตถ์สามถือแว่นแก้ว หมายถึงงานสำรวจและจัดตั้ง พระหัตถ์สี่ถือดอกบัวหมายถึงงานวิเทศสัมพันธ์.
...
บาราย