ย้อนรอยน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.2526 ซึ่งเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพฯ เป็นเวลาถึง 4 เดือน เสียหายกว่า 6 พันล้านบาท และเมื่อครั้ง พ.ศ.2538 ที่น้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สูงตั้งแต่ 50 ซม.-1 ม...

ท่ามกลางภาวะที่ทุกฝ่ายกำลังระดมสรรพกำลังป้องกันไม่ให้น้ำปริมาณมหาศาลทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ แต่เชื่อว่ามีคนกรุงอีกจำนวนไม่น้อยอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทั้งเมือง เหมือนในพระนครศรีอยุธยา หรือครอบคลุมศูนย์กลางทั้งด้านเศรษฐกิจและศูนย์ราชการดังเช่นที่นครสวรรค์ ซึ่งถือว่าน้ำท่วมเข้าขั้นวิกฤติ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนจำนวนมากแล้ว สภาพจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ เท่าที่ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์สืบค้นข้อมูลได้ปรากฏว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จนถึงปัจจุบัน เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2526 ซึ่งในครั้งนั้นนับว่าน้ำท่วมกรุงเทพฯ รุนแรงมาก สาเหตุมาจากมีพายุพัดผ่านพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค. ทำให้น้ำปริมาณมหาศาลมุ่งตรงเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อจะไปออกทะเล ประกอบกับปลายเดือน ต.ค. มีพายุพัดผ่านกรุงเทพฯ โดยตรง ส่งผลให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ นานถึง 4 เดือน และมีการประเมินกันว่า ได้สร้างมูลค่าความเสียหายในขณะนั้นสูงถึงกว่า 6 พันล้านบาท

...

...

...

...



ส่วนน้ำท่วมรุนแรงในกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 โดยน้ำท่วมเริ่มจากพื้นที่ติดต่อเขตกรุงเทพฯ ทั้งใน จ.พระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี ซึ่งในขณะนั้นยังทำให้หมู่บ้าน "ไวท์เฮาส์" เป็นที่รู้จักทั่วไป หลังจากถูกน้ำท่วมเป็นเวลาถึง 2 เดือน ก่อนขยายวงเข้าสู่กรุงเทพฯ

สำหรับสาเหตุสำคัญของน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2538 เกิดจากมีฝนตกในเกือบทั่วทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ เนื่องจากมีพายุพัดผ่านตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. และมีฝนตกหนัก โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.-ต.ค. จากอิทธิพลของพายุ "โอลิส" ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา วัดที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า สูงถึง 2.27 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งขณะนั้นนับว่าสูงสุดตั้งแต่มีการตรวจวัดมา

จากนั้นน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำสูงถึง 50 เซนติเมตรถึง 1 เมตร พื้นที่เขตบางพลัด บางกอกน้อย และคลองสาน ถูกน้ำท่วมเป็นระยะเวลาถึง 2 เดือน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมหาศาล

ก็ได้หวังว่า ในเดือน ต.ค.นี้ ความพยายามของทุกฝ่ายที่ระดมสรรพกำลังป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ จะประสบความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกัน ขอแนะนำให้ทุกคนตั้งสติ และปรับใจเตรียมตัวรับทุกสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ เพราะถ้าเกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นจริงจะได้ผ่อนหนักเป็นเบา.