หลายคนรู้จัก “กระโดน” เป็นอย่างดี เฉพาะที่เห็นยอดอ่อนวางขายเป็นผักพื้นบ้าน นำไปรับประทานเป็นผักสด จิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ หรือกินกับขนมจีนปักษ์ใต้ ขนมจีนน้ำยา ขนมจีนน้ำพริกทั่วไป ซึ่งยอดอ่อนของ “กระโดน” จะมีรสเปรี้ยวปนฝาด ช่วยเพิ่มรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้น แต่คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่า “กระโดน” มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นแบบไหน และมีผู้อ่านไทยรัฐจำนวนไม่น้อยสอบถามกันว่า นอกจากยอดอ่อนของ “กระโดน” จะกินเป็นอาหารได้แล้ว มีสรรพคุณทางสมุนไพรหรือไม่ ซึ่งเป็นจังหวะพอดี พบมีต้นขนาดใหญ่วางขาย จึงรีบสนองความต้องการผู้อ่านทันที
กระโดน หรือ CAREYA SPHAERICA ROXB. อยู่ในวงศ์ BARRINGTONIACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 8-20 เมตร พบขึ้นทุกภาคของประเทศไทย สมัยก่อนตามหัวไร่ปลายนาจะมีขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวนาจะไม่ตัดหรือโค่นทิ้ง จะปล่อยไว้เพื่อเก็บยอดอ่อนกินเป็นผักตามที่กล่าวข้างต้น และใช้บางส่วนจากต้นเป็นยาสมุนไพรด้วย เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบและกิ่งก้านหนาทึบให้ร่มเงาดีมาก กิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยวออกเรียงสลับถี่จนดูเหมือนเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายเป็นติ่งทู่ โคนสอบแคบเป็นรูปลิ่ม เนื้อใบหนาและเป็นลอน ขอบใบหยักแต่ตื้น สีเขียวสด
ดอก ออกเป็นช่อ 2-3 ดอก ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีกลีบเลี้ยง 4 แฉก กลีบดอกเป็นรูปช้อน กว้างประมาณ 3 ซม. ยาวประมาณ 4 ซม. กลีบดอก 4 กลีบ เป็นสีชมพูแกมขาว ร่วงง่ายและร่วงเร็ว มีเกสรตัวผู้จำนวนมากดูคล้ายพู่ เวลามีดอกจะสวยงามมาก “ผล” รูปกลมแข็ง ภายในมีเมล็ด ดอกออกช่วงระหว่างเดือนมกราคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อ เรียกตามท้องถิ่นคือ ปุย, ปุยกระโดน (ภาคใต้) ปุยขาว, ผ้าฮาด (ภาคเหนือ) พุย (ละว้า-เชียงใหม่) หูกวาง (จันทบุรี) กะนอน (เขมร) ขุย (กะเหรี่ยง-จันทบุรี) แซงจิแหน่, เส่เจ๊อะบะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ปัจจุบันมีต้นขนาดใหญ่ขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ปากทางเข้าประตู 2 บริเวณแผงขายไม้ปราจีนบุรี ราคาสอบถามกันเอง
...
สรรพคุณทางสมุนไพร และประโยชน์ ใบ ใช้เป็นยาเบื่อปลา เปลือกต้นและผล เป็นยาฝาดสมาน ดอก บำรุงร่างกาย แก้หวัด ผล ช่วยย่อยอาหาร เมล็ด เป็นยาแก้พิษ เปลือกต้น แก้พิษงู สมานแผลแก้เคล็ดเมื่อยตามร่างกาย ใบ ขยี้รักษาแผลสด ดอก บำรุงสตรีหลังคลอดบุตร เปลือก ทำเชือกอุดร่องไม้ดีมาก เนื้อไม้ สร้างบ้านเรือน เรือขุด แจว พาย ครกกระเดื่อง ตัวเกวียน และ เพลาเกวียนทนทานมากครับ.
“นายเกษตร”