ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวที่มีการพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งใน Social Media ก็คือ การลงคะแนนเลือกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.โดยสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา

กระแสตอบรับ กสทช.ของผู้คนโดยเฉพาะสื่อมวลชนในสื่อใหม่ (New Media) หลังจากที่ต้องรอคอยการเกิดขึ้นของ กสทช.มาเกือบ 14 ปีเป็นไปในทิศทางบวก แต่ก็ยังมีสื่อมวลชนในสื่อดั้งเดิมบางส่วน วิพากษ์วิจารณ์การเกิดขึ้นของ กสทช.ด้วยแว่นหรือกรอบความคิดเก่าๆ เช่น บอกว่าการที่มีทหารทั้งบกและอากาศเข้ามาเป็นกรรมการ กสทช.ถึง 5 คนถือเป็นการที่ทหารเข้ามายึด กสทช. เป็นต้น

มหากาพย์ล้ม "กสทช." จากผลประโยชน์ธุรกิจ-กองทัพสู่การเมืองแทรก


การวิพากษ์วิจารณ์เช่นนั้น อาจไม่ผิดจากข้อเท็จจริง หากปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นในปี 2543 ซึ่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 เพราะห้วงเวลานั้น ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับสัมปทานคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ซึ่งจับมือกับเจ้าของกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่ที่เป็นหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกองทัพ กับกลุ่มนักวิชาการ ภาคประชาชนและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่อการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติหรือ กสช. กำลังเป็นไปอย่างเข้มข้น

นั่นเพราะฝ่ายทุนและกองทัพต้องการรักษาสถานะเดิมในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ขณะที่ฝ่ายนักวิชาการ ภาคประชาชนและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต้องการเห็นการเปิดเสรีให้สื่อมีเสรีภาพและความหลากหลายของเนื้อหา การยกเลิกการผูกขาดในกิจการวิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีสิทธิในการสื่อสารผ่านการมีสื่อชุมชนด้วย

การต่อสู้หรือความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ กสช.ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องตามกระบวนการเพราะฝ่ายทุนและกองทัพพยายามเข้ามาควบคุมกลไกการสรรหา กสช. ส่วนฝ่ายนักวิชาการและภาคประชาชนฯ ก็เดินหน้าคัดค้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างกรรมการสรรหากับผู้ได้รับการสรรหา

ขณะที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. สามารถตั้งขึ้นมาสำเร็จในปี 2547 แต่ก็ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ได้เพราะต้องดำเนินการร่วมกับ กสช. จนกระทั่งมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่จัดสรรและกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมเพียงองค์กรเดียว จึงจำเป็นต้องยกร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ใหม่ ซึ่งเป็นที่มาของการเลือก กสทช.ดังกล่าว

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ทางด้านเทคโนโลยี สภาพของธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การหลอมรวมระหว่างเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทคโนโลยี 3G ที่เชื่อกันว่าจะเข้ามาพลิกโฉมระบบการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

...

มหากาพย์ล้ม "กสทช." จากผลประโยชน์ธุรกิจ-กองทัพสู่การเมืองแทรก


นอกจากนี้ ยังมีการเกิดขึ้นของโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กันทางการเมือง วิทยุชุมชนที่ควรจะดำเนินการโดยชุมชนและไม่แสวงหากำไร ถูกบิดเบือนเจตนารมณ์เพราะวิทยุธุรกิจท้องถิ่นและวิทยุที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองแอบแฝงเข้ามาในชื่อวิทยุชุมชน

กลุ่มธุรกิจสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่มีการปรับตัวด้วยการต่อสัญญาสัมปทานไปในระยะเวลายาวนานพอที่จะรับมือกับการเปิดเสรีกิจการวิทยุและโทรทัศน์ได้ ขณะที่กองทัพและหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของคลื่นความถี่เดิมก็มีหลักประกันในการรักษาคลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2551 จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมาให้ความสำคัญกับการเกิดขึ้นของ กสทช.มากนัก

สภาพความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เองที่ทำให้ภาพความขัดแย้งเดิมๆที่ว่า กองทัพจะต้องเข้ามาควบคุมกลไกในการเกิดขึ้นของ กสทช.จึงไม่ได้เป็นไปอย่างที่สื่อดั้งเดิมได้วิพากษ์วิจารณ์กัน แต่ในทางกลับกัน กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งแต่เดิมให้ความสนใจเพียงกิจการโทรคมนาคมและสามารถเข้ามาควบคุมกลไกของ กทช.ได้ในระดับหนึ่ง ได้เบี่ยงเบนความสนใจที่จะเข้ามาแทรกแซงกระบวนการได้มาซึ่ง กสทช.

ทั้งนี้ เพราะฝ่ายการเมืองมองเห็นว่า ในอนาคต กสทช.อาจจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตของกลไกการสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่กำลังจะหลุดออกจากการควบคุมของรัฐบาลไปสู่ กสทช.ดังจะเห็นได้จากความพยายามของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะเข้ามาตรวจสอบกระบวนการสรรหา กสทช.อย่างแข็งขันจนผิดสังเกต ทั้งๆที่น่าจะรู้อยู่ว่ากลไกที่จะชี้ถูกชี้ผิดว่ากระบวนการสรรหาโปร่งใสหรือขัดต่อกฎหมายหรือไม่อยู่ที่ศาลปกครอง เพราะเป็นคดีทางปกครอง ไม่ใช่คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ภาพความขัดแย้งที่เปลี่ยนแปลงไปจึงสะท้อนออกมาในการเลือก กสทช.ทั้ง 11 คนของวุฒิสภาที่แม้จะมีทหารทั้งในและนอกราชการถึง 5 คน (ใน 11 คน) เข้ามาในสาขาที่แตกต่างกัน ซึ่งบางคนได้คะแนนแบบทิ้งห่างคู่แข่ง ในขณะที่อีกหลายคนเฉือนชนะคู่แข่งเข้ามาอย่างหวุดหวิด แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไม่ได้มีการแทรกแซงจากกองทัพโดยตรง

แต่ที่เป็นข้อน่าจับตาอย่างยิ่งคือ บทบาทของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อคะแนนเสียงชี้ขาดว่า ใครควรจะได้รับเลือกเป็น กสทช.หรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่า ส.ว.เลือกตั้งบางส่วนมีความเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

กล่าวโดยสรุป องค์กระกอบของ กสทช.ทั้ง 11 คนที่มีทหาร 5 คน ตำรวจนอกราชการที่เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง 1 คน นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ 2 คนและนักกิจกรรมสังคมอีก 2 คน (โดยไม่มีผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์โดยตรงเลยแม้แต่คนเดียว) นับว่ามีความเหมาะสมในระดับหนึ่ง ยกเว้นในส่วนของคนในเครื่องแบบอย่างน้อย 2-3 คนที่น่าจะมีข้อห่วงใย เพราะยังไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในสาขาที่ตัวเองได้รับเลือกเข้ามา โดยเฉพาะในสาขากิจการโทรทัศน์ กฎหมายและการศึกษา วัฒนธรรมและการพัฒนาสังคม

มหากาพย์ล้ม "กสทช." จากผลประโยชน์ธุรกิจ-กองทัพสู่การเมืองแทรก


อย่างไรก็ตาม ด้วยกลไกของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ที่ถูกออกแบบไว้ให้มีการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.ไว้อย่างรัดกุม โดยเฉพาะการกำหนดให้มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช.ที่วุฒิสภาจะต้องแต่งตั้งขึ้น อีกทั้งยังมีกลไกกำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.ทุกเรื่องต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องมีการเปิดเผยผลการปฏิบัติงานต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

จากกลไกต่างๆ เหล่านี้ พอจะทำให้เชื่อมั่นได้ว่า กสทช.ที่กำลังจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแลกิจการวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมแทนคนไทยทั้งประเทศ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใสและพร้อมจะยอมรับการตรวจสอบจากสาธารณชนอยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่ากรรมการ กสทช.คนนั้น จะมีที่มาหรือฝ่าฟันเข้ามาเป็น กสทช.อย่างไรและด้วยกระบวนการใดก็ตาม...


ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong
chavarong@thairath.co.th

...