คติโบราณเชื่อกันว่านาค หรือพญานาค เป็นผู้บันดาลให้ฝนตกเหตุ ที่ต้องมีหน้าที่ให้ฝนตก เพราะพญานาคเป็นพาหนะพระวรุณ เทพแห่งฝน

ส.พลายน้อย อธิบายไว้สารานุกรมวัฒนธรรมไทย นาคที่มีหน้าที่ให้น้ำในแต่ละปี มีจำนวนไม่เท่ากัน แต่จำนวนตัวนาคที่ให้น้ำมากน้อย ก็ไม่สัมพันธ์กับปริมาณฝน

ตำราบางเล่ม กำหนดจำนวนนาคให้น้ำประจำปีนักษัตร ไว้ชัดเจน ดังต่อไปนี้

ปีชวด นาคให้น้ำ 3 ตัว ฝนแรกน้อย กลางปีงาม ปลายปีมาก ปีฉลูนาคให้น้ำ 5 ตัว ฝนต้น กลาง ปลาย เสมอกัน ปีขาล นาคให้น้ำ 3 ตัว ฝนแรกงาม กลางปีน้อย ปลายปีมาก

ปีเถาะ (ก็ปีนี้แหละครับ) นาคให้น้ำ 2 ตัว ฝนแรกงาม กลางปีงาม ปลายปีงาม

ปีมะโรง นาคให้น้ำ 3 ตัว ฝนแรกงาม กลางปีงาม ปลายปีน้อย ปีมะเส็ง นาคให้น้ำ 1 ตัว ฝนแรกงาม กลางปีงาม ปลายปีน้อย ปีมะเมีย นาคให้น้ำ 5 ตัว ฝนแรกงาม กลางปีงาม ปลายปีงาม ปีมะแม นาคให้น้ำ 3 ตัว ฝนต้นกลาง ปลาย เสมอกัน

ปีวอก นาคให้น้ำ 2 ตัว ฝนแรกน้อย กลางปีงาม ปลายปีมาก ปีระกา นาคให้น้ำ 4 ตัว ฝนแรกน้อย กลางปีงาม ปลายปีมาก ปีจอ นาคให้น้ำ 7 ตัว ฝนแรกน้อย กลางปีงาม ปลายปีมาก ปีกุน นาคให้น้ำ 5 ตัว ฝนแรกงาม กลางปีน้อย ปลายปีมาก

ตำราเล่มนี้ ส.พลายน้อย ออกตัวว่า อาจไม่ตรงกับตำราเล่มอื่น ยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อให้ทราบคติความเชื่อเท่านั้น

ดูตามตำรานาคให้น้ำเล่มนี้ จำนวนนาคน้อยที่สุดเริ่มต้นที่ 1 ตัว และมากที่สุด 7 ตัว และปีที่นาคให้น้ำ 7 ตัว ก็ให้น้ำไม่เต็มที่ เช่น ปีจอ ฝนแรกน้อย กลางปีงาม ปลายปีมาก

หรือปีมะเส็ง นาคให้น้ำ 1 ตัว ฝนแรกงาม กลางปีงาม ปลายปีน้อย...ก็ให้น้ำไม่ได้น้อยเกินไปนัก

เช่นปีเถาะปีนี้ ความจริงที่คนไทยเพิ่งเจอ ก็คือน้ำมากหลากมา ทั้งต้นปี กลางปี ปลายปี แต่ตามคำทำนาย นาคให้น้ำ 2 ตัว ฝนแรกงาม กลางปีงาม ปลายปีก็งาม

...

ความหมาย...งาม...ในตำรา หมายถึง ปานกลาง

จึงพอสรุปได้ว่า ไม่ว่าปีไหน จำนวนนาคจะให้น้ำมากหรือน้อย ก็อยู่ที่ความขยันของนาคด้วย ปีที่มีนาคตั้ง 7 ตัว ใช่ว่าจะให้น้ำมากนักหนา มากตัวไปน่าจะเกี่ยงกันให้น้ำเอาด้วยซ้ำ

สมัยโบราณ สมัยที่วิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้า คนไทยโดยเฉพาะชาวนา สนใจเรื่องนาคให้น้ำมาก รัฐบาลท่านก็รู้ ในประกาศสงกรานต์ จึงต้องแจ้งจำนวนนาคและจำนวนน้ำให้รู้ไว้

แผนการทำนามากน้อย ทำในที่ลุ่มที่ดอนแค่ไหน มาจากความเชื่อเรื่องนาคให้น้ำนี่แหละ

สมัยนี้ ดูเหมือนเรื่องนาคให้น้ำ ไม่มีใครเชื่อกันอีกแล้ว ปริมาณในการทำนาของชาวนา มาจากหลักอุปสงค์ อุปทาน ถ้าข้าวราคาดี รัฐบาล ประกาศล่วงหน้า ปีนี้แล้ง น้ำน้อย ชาวนาก็ไม่ฟัง ดิ้นรนปลูกกันไป

น้ำไม่พอ ก็แย่งกันสูบน้ำเข้านา คนใต้น้ำก็เดือดร้อน ทะเลาะกัน

อย่าว่าแต่ชาวบ้านจะแก้ปัญหากันเอง มือชั้นรัฐบาลท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ลงมือเอง

บางระกำโมเดล นั่นปะไร ฟังข่าวตอนแรกก็แข็งขัน เอาอยู่ แต่พอแผนถูกตีแผ่ ก็เข้าอีหรอบเดียวกับชาวบ้าน แก้ปัญหาน้ำท่วมบางระกำ ให้ชาวนาหายระกำได้ แต่ก็ไปก่อความระกำให้อำเภอข้างเคียง

เท่าที่รัฐบาลเก่ารัฐบาลใหม่ พอทำกันไปได้ ก็คือช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หยูกยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เงินช่วยเหลืออีกนิดหน่อยพอเป็นกระสาย

ขนาดช่วยไม่เต็มไม้เต็มมืออย่างนี้ คลังก็รีบบอก เงินทองกำลังจะหมดท้องพระคลัง ช่วยต่อไปได้อีกนิดเดียว

แค่เรื่องน้ำท่วม เรื่องเดียว รัฐบาลก็ออกอาการป้อแป้ เสนอหน้าไปดูโน่นดูนี่ เอาตัวรอดทางการเมืองไปวันๆ ยังไม่รวมนโยบายเร่งด่วนที่หาเสียงกันไว้ จะไปได้แค่ไหน ฝ่ายที่รักชอบกัน ก็ยังลุ้นเอาใจช่วยกันอยู่

ผมเพิ่งได้ยินทางทีวี คนระดับอาจารย์ วิจารณ์นโยบายจำนำข้าว ว่ารัฐจะเสียหายเป็นเงินกว่าแสนล้าน แล้วก็ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลนี้ดีแต่โม้

แต่ก็ว่ากันไป การโม้แบบให้ความหวังกับคนจนเป็นเรื่องดี ช่วยได้แค่ไหน ถ้าแสดงว่าได้ช่วยเต็มที่ ชาวบ้านก็ยังชื่นใจ พูดแบบ
เอาใจ เป็นการโม้เพื่อชาติ การโม้เพื่อชาติ ฟังๆไป กลิ่นอายมันน่าจะดีกว่าดีแต่พูดนะครับ.

กิเลน ประลองเชิง