หึ่งเครือข่ายกองทัพ คนอกหักนัด‘เปิดใจ’
11 กสทช.คลอดแล้ว “พล.อ.อ.ธเรศ ปุณณศรี- พ.อ.นที ศุกลรัตน์-พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิ-สุวรรณ-สุทธิพล ทวีชัยการ-พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า-พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ-ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์-ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์-สุภิญญา กลางณรงค์-ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา-พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร” ที่ประชุมวุฒิสภาลงคะแนนลับผ่านฉลุย รายชื่อส่วนใหญ่เข้าป้ายตามโพยบล็อกโหวต ลือหึ่งเป็นเครือข่ายคนในกองทัพ ขณะที่คนอกหักนัดแถลงข่าวเปิดใจ เผยอำนาจหน้าที่ กสทช. ครอบคลุมเบ็ดเสร็จเกี่ยวกับคลื่นความถี่มูลค่ามหาศาล
หลังจากที่ยื้อกันมานาน ในที่สุดกระบวนการเลือกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยที่ประชุมวุฒิสภาได้เลือก กสทช. 11 คน มีอำนาจในการบริหารจัดการคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมอันมีมูลค่ามหาศาล ทั้งนี้เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 5 ส.ค. ที่รัฐสภามีการประชุมวุฒิสภา โดย พล.อ. ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระด่วนการเลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่ง น.ส.ทัศนา บุญทอง ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช. ได้นำเสนอรายงานผลการศึกษา โดยแยกส่วนเป็นเอกสารที่สามารถเปิดเผยได้ และในส่วนที่เป็นรายงานลับ เนื่องจากมีข้อมูลการร้องเรียนผู้ได้รับการเสนอชื่อจากบุคคลภายนอก
อย่างไรก็ตาม เมื่อ น.ส.ทัศนารายงานจบ บรรยากาศตึงเครียดขึ้นมาทันที เนื่องจากนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ อภิปรายถึงข้อมูลความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหาว่า มีผู้ร้องเรียนมายังคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ที่ตนเป็นประธาน โดยเฉพาะมีการกระทำขัดต่อ พ.ร.บ. กสทช. มาตรา 15 วรรคหก จึงรู้สึกกังวลว่าจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวุฒิสภา เพราะสถานะองค์กรที่ทำหน้าที่สรรหากับผู้ถูกเสนอชื่อบางคนเกี่ยวพันกัน ขณะที่บางองค์กรจัดตั้งขึ้นมาโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา ประท้วงว่า นายจิตติพจน์พูดเท็จเกี่ยวกับองค์กรคนพิการ ใครๆก็รู้ว่าสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กับสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรเดียวกัน ทำให้นายจิตติพจน์ใช้สิทธิพาดพิงโดยยืนยันว่า จากข้อมูลที่ได้รับมีความไม่ปกติเกิดขึ้นแน่นอน ตนไม่ได้ดูหมิ่น ความเป็นเพื่อนเป็นพวกไม่สามารถหยุดความจริงได้ ทำให้บรรยากาศวุ่นวายหนักขึ้นเมื่อ ส.ว.แต่ละฝ่ายผลัดกันลุกขึ้นประท้วง โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา กรรมาธิการสามัญฯ ยืนยันว่า กระบวนการตรวจสอบเหล่านี้ได้ผ่านขั้นตอนของวุฒิสภาไปแล้ว เรามีหน้าที่ต้องเดินหน้าลงมติเลือก ส่วนเรื่องถูกต้องหรือไม่ใช่เรื่องของวุฒิสภา เป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ขณะนี้มีเรื่องอยู่ในศาลปกครอง 5 สำนวน ส่วนใครได้รับความเสียหายก็ไปยื่นฟ้องศาลได้ ที่สุด พล.อ.ธีรเดชต้องตัดบทให้เข้าสู่การประชุมลับเมื่อเวลา 11.35 น.
หลังประชุมลับประมาณ 40 นาที ที่ประชุมได้กลับมาประชุมตามปกติอีกครั้ง โดยนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ประธานการประชุม ได้อธิบายวิธีการลงคะแนนโดยวิธีลับ ส.ว.แต่ละคนจะได้รับใบลงคะแนนคนละ 8 ใบ 8 สี เพื่อเลือก กสทช.ทั้ง 8 ด้าน ใช้วิธีการกากบาทเท่านั้น และอนุโลมให้สามารถถือโพยรายชื่อเข้าไปในคูหาได้ เพราะรายชื่อบุคคลที่ต้องเลือกมีมาก โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดคูหาลงคะแนนชุดละ 7 คน พร้อมกับตั้งคณะกรรมการนับคะแนน 2 ชุด ชุดละ 6 คน วิธีการนับคะแนนคล้ายการเลือกตั้ง โดยให้ชูบัตรที่นับคะแนนแล้ววางบนเครื่องฉายทึบแสง เพื่อขยายภาพบนจอแสดงให้ ส.ว.ทราบว่าเป็นบัตรดีหรือบัตรเสีย และเป็นหมายเลขอะไร จากนั้นประธานได้ขอนับองค์ประชุมก่อนลงคะแนนลับ ปรากฏว่ามี ส.ว.อยู่ในห้อง 136 คน แล้วเลขาฯได้ขานเรียกชื่อ ส.ว.ชุดละ 7 คนเข้าคูหากาคะแนน โดย ส.ว.ได้เริ่มลงคะแนนเมื่อเวลา 12.45 น. โดยใช้เวลาลงคะแนนและนับคะแนนนานกว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง
สำหรับบุคคลที่วุฒิสภาลงคะแนนเลือกเป็น กสทช. 11 คน ประกอบด้วย ด้านกิจการกระจายเสียง พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ได้ 73 คะแนน เป็นเตรียมทหารรุ่น 6 (ตท.6) รุ่นเดียวกับ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก องคมนตรี และ พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง ส.ว.สรรหา ในอดีตเคยเป็น เสธ.ทอ. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร สังกัดสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ด้านกิจการโทรคมนาคม พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ได้ 112คะแนน อดีตกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)ปัจจุบันเป็นรักษาการ กสทช. อดีตรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และ พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ได้ 118 คะแนน เป็นนายทหารฝ่ายกิจการโทรคมนาคม สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กระทรวงกลาโหม ด้านกฎหมาย นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ 109 คะแนน และ พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่าอดีต ผกก.สภ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ได้ 67 คะแนน
ด้านกิจการโทรทัศน์ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ 62 คะแนน ด้านเศรษฐศาสตร์ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า อดีตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (เศรษฐศาสตร์ ประจำ กทช.) ได้ 110 คะแนน นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ผอ.ศูนย์คอมพิวเตอร์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ 58คะแนน สำหรับกลุ่มตัวแทนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในส่วนของด้านกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ได้ 95 คะแนน ด้านกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผอ.สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. ได้ 78 คะแนน และกลุ่มผู้มีผลงาน มีความเชี่ยวชาญประสบการณ์ด้านการศึกษา วัฒนธรรม หรือการพัฒนาสังคม พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ที่ปรึกษาพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทยได้ 72 คะแนน
หลังประกาศผลการนับคะแนนและผู้ได้รับเลือกเป็น กสทช.เสร็จสิ้น พล.อ.ธีรเดชได้แจ้งต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะแจ้งให้ผู้ได้รับเลือกทั้ง 11 คนเรียกประชุมเพื่อเลือกตำแหน่งประธานและรองประธาน 2คน ก่อนที่จะส่งรายชื่อให้กับนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงมติของ ส.ว.ในการเลือก กสทช.ครั้งนี้เกือบจะทั้งหมดเป็นไปตามโพยรายชื่อบล็อกโหวต ที่มีการคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ โดยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายในการวิ่งหาคะแนน ปรากฏว่ามีการแลกเปลี่ยนโพยชื่อระหว่างส.ว.กลุ่มต่างๆที่พยายามผลักดันคนที่ตัวเองสนับสนุน ถือว่าแต่ละกลุ่มทำยอดเข้าเป้ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า กสทช.ชุดนี้เกินครึ่งเป็นเครือข่ายคนในกองทัพ โดย กสทช.มีวาระการดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น6ปี
ด้านนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร หนึ่งในผู้สมัครกสทช. กล่าวว่า ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอความเป็นธรรมในการสรรหา กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ โดยขอให้เลื่อนอันดับคะแนนของตัวเองจากอันดับ5แทนนายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ เพราะขาดคุณสมบัติ และได้ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน เนื่องจาก ส.ว.ได้คัดเลือก กสทช.จาก 44 คนเหลือ 11 คนแล้ว ทั้งนี้ นายสุรนันท์ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อขอความเป็นธรรมในการสรรหา กสทช. กระทั่งเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เพราะการเลือกวิธีการสรรหา กสทช.ใหม่แทนการเลื่อนอันดับคะแนนนั้น เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหา
นายพนา ทองมีอาคม 1 ใน 44 ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช. กล่าวว่า วันที่ 6 ก.ย. เวลา11.30น. จะแถลงข่าวเปิดเผยความในใจ การทำหน้าที่และบทบาทกทช.ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมจะส่งมอบงานเพื่อให้ กสทช.ชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ยอมรับว่าสับสน แต่ที่นัดแถลงข่าว เพราะมีบางเรื่องที่ต้องการให้สาธารณชนทราบ
นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า หลังจากที่วุฒิสภาสรรหา กสทช.เป็นที่เรียบร้อย ในกลุ่มกิจการโทรคมนาคมนั้น ได้ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ และ พ.อ.เศษฐพงษ์ มะลิสุวรรณ ที่มีความรู้ความ สามารถด้านโทรคมนาคม เชื่อว่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย อีกทั้ง พ.อ.นทีเป็นผู้ที่ผลักดันการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ที่ผ่านมาด้วย ฉะนั้น คาดหวังว่าภายใน 6 เดือนข้างหน้าจะสามารถเปิดประมูล 3 จี ได้ตามครรลองของกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุดกำเนิดของ กสทช.ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 โดยรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มีองค์กรอิสระ 2 องค์กร เพื่อกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมได้แก่ คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) มีกรรมการแห่งละ 7 คน แต่ที่สุดเกิดขึ้นจริงได้เพียงองค์กรเดียวคือกทช. เนื่องจากกระบวนการสรรหา กสช.ถูกล้มกระดานหลายครั้งจากวุฒิสภาชุดปี 2543 ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้มีองค์กรอิสระ เพื่อดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพียงองค์กร เดียว เรียกชื่อใหม่ว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยเป็นการควบรวม “กทช.-กสช.” ด้วยเหตุผลของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และหลอมรวมสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม และเพื่อให้เป็นไปตามกรอบภายใต้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ที่กำหนดให้วุฒิสภาคัดเลือก กสทช.ให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน โดยภายในวันที่ 11 ก.ย.นี้ วุฒิสภาจะต้องนำรายชื่อ กสทช.ทั้ง 11 คน เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.กสทช.มีผลบังคับใช้เมื่อ ธ.ค.2553 ทำให้กระบวนการสรรหา กสทช.เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค.2554 กฎหมายกำหนดวิธีการคัดเลือก กสทช.แบ่งออกเป็น 2 บัญชี บัญชีที่ 1 ให้ใช้วิธีคัดเลือกกันเองจำนวน 22 คน จากสมาคมวิชาชีพต่างๆที่กำหนดไว้ ส่วนบัญชี 2 จำนวน 22 คน ใช้วิธีการสรรหาโดยคณะ กรรมการสรรหาที่มีตัวแทนจากภาคราชการและองค์กรต่างๆ เลือกจากผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตามกำหนด สำหรับกสทช.มีอำนาจหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม แผนความถี่วิทยุและแผนเลขหมายโทรคมนาคม กำหนดการจัดสรรคลื่นความถี่ พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พิจารณาอนุญาต และกำกับดูแลการใช้เลขหมายโทรคมนาคม และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมการอนุญาต พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแล การใช้เลขหมายโทรคมนาคม และกำหนดหลักเกณฑ์และ วิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมการ อนุญาต พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลผู้ใช้บริการ ผู้ให้ บริการ และผู้ลงทุน หรือระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคม
...